สแกน 23 จังหวัดเสี่ยง "ภัยแล้ง" !! รัฐคุมเข้มปล่อยน้ำ 35 เขื่อนใหญ่

26 ต.ค. 2561 | 09:24 น.
'บิ๊กฉัตร' สั่งทุกหน่วยสแกนพื้นที่แล้ง ทั้งในและนอกเขตชลประทาน คาดพื้นที่ 2.49 ล้านไร่ ใน 23 จังหวัดเสี่ยงภัย งัดมาตรการเข้มจัดสรรน้ำ 35 เขื่อนใหญ่ ตั้งเป้าปี 62 ไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เตรียมการสำหรับฤดูแล้งปี 2561/2562 ซึ่งที่ผ่านมามีความแปรปรวนของสภาพอากาศ บางพื้นที่ฝนตกมาก แต่บางพื้นที่ฝนไม่ตกเลย ทำให้เกิดภัยแล้งแล้วในบางพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องเตรียมการรับมือตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

[caption id="attachment_338303" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ[/caption]

สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2561 พบว่า เขื่อนที่มีผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการ คือ เขื่อนหลัก 35 เขื่อน ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็กรวมกันมาก ปัจจุบัน 35 เขื่อนหลัก มีน้ำ 57,343 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 81% ของความจุ ถือว่ามีน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าทุกปี แต่การกระจายตัวของน้ำเป็นไปตามลักษณะการกระจายตัวของฝน โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% มี 16 เขื่อน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา ภาคอีสาน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำตะคองและเขื่อนน้ำอูน

ส่วนภาคตะวันตกมี 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ภาคตะวันออก 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนประแสร์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา ภาคใต้ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนรัชชประภา

ขณะที่ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 50% ของความจุ มี 6 เขื่อน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงและเขื่อนแม่มอก ภาคอีสาน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำนางรอง ภาคกลาง 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนกระเสียวและเขื่อนทับเสลา ซึ่งฝนที่ตกในช่วง 20-24 ต.ค. 2561 พบว่า มีน้ำไหลเข้า 35 เขื่อนหลัก รวม 900 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการระบายออกเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร รวม 351 ล้าน ลบ.ม. สามารถบรรเทาพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานได้มาก ดังนั้น ในเขตชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ 7 เขื่อนหลัก ที่น้ำน้อยกว่า 50% พบว่า น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และเพื่อการเกษตรต่อเนื่องมีเพียงพอ


เขื่อน

ทั้งนี้ สามารถสนับสนุนพื้นที่การเกษตรต่อเนื่องได้ 138,946 ไร่ แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำนาปรังที่เคยปลูกในฤดูแล้งปี 2560/61 พื้นที่ประมาณ 4 แสน – 6 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่การเกษตรที่ได้ผลกระทบมาก ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภค มีเพียงพอ ไม่มีความเสี่ยงจากภัยแล้งเช่นกัน

ขณะที่ น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 35 จังหวัด 215 อำเภอ 653 ตำบล ทำให้ตัวเลขการคาดการณ์ ปี 2561/2562 พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2.49 ล้านไร่ ใน 23 จังหวัด 76 อำเภอ 172 ตำบล ได้แก่ จ.กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ตาก นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี


นาแล้ง

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ไม่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง โดยปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้รวม 12,420 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำแม่กลอง มีน้ำใช้การได้รวม 10,958 ล้าน ลบ.ม. สามารถจัดสรรเป็นน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรต่อเนื่อง การเกษตรฤดูแล้ง และการเริ่มต้นเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ได้ถึง ก.ค. 2562 โดยการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ต้องเป็นไปตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

e-book-1-503x62