ร.พ.บำรุงราษฏร์ จับมือ "ไบโอเชีย" ใช้ AI ยกระดับการแพทย์

12 ต.ค. 2561 | 04:42 น.
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไบโอเชีย สตาร์อัพ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนำ AI เข้ามาร่วมวิจัยค้นคว้าและพัฒนาเพื่อยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของวิธีการตรวจหาชนิดจุลชีพ ด้วยเทคโนโลยีชนิดพกพาที่รายงานผลแบบทันทีทันใด (เรียลไทม์) โดยใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI : Artificial Intelligence) ของไบโอเชีย เพื่อระบุชนิดจุลชีพก่อโรค โดยเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว มีความก้าวล้ำเป็นอย่างมาก


S1#0011

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 35 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2050) คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน (ตามลำดับ) และคิดเป็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า แนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ (Post-Antibiotic Era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (Collapse of Modern Medicine) เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ ล้วนแต่ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และได้กำหนดให้ประเด็นเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญเร่งด่วนทางสาธารณสุข (แหล่งที่มา : รายงาน "ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย")




S1#0013

สำหรับประเทศไทย การประมาณการณ์เบื้องต้น คาดว่ามีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 ราย (ร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยา) อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท สูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ปัจจุบัน การดื้อยาของจุลชีพกำลังเป็นปัญหาคุกคามทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้เร่งรณรงค์ให้มีการคิดค้นนวัตกรรมการวินิจฉัยโรค พร้อมหาแนวทางใหม่ ๆ ในการระบุชนิดของจุลชีพและการดื้อยาให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถรักษาการติดเชื้อตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น รวมทั้งในรายที่เป็นมากแล้วได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยเฉพาะการให้การรักษาในระยะเริ่มต้นที่ถูกต้อง จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว