FETCOหารือสมาคมบลจ. เล็งศึกษากองทุนใหม่แทนLTFหมดอายุปี62

10 ต.ค. 2561 | 09:08 น.
FETCO หารือสมาคมบลจ. เล็งศึกษาออกกองทุนประเภทใหม่แทนแอลทีเอฟหมดอายุปี 2562 หลังรมว.คลังย้ำไม่ต่ออายุ หวังป้องกันเงินไหลออก เหตุแต่ละปีมีการลงทุนแอลทีเอฟปีละ 70,000-80,000 ล้านบาท

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เผยว่า ได้หารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกองทุนประเภทใหม่ เพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะหมดอายุโครงการสิทธิภาษีของกระทรวงการคลังสิ้นปี 2562 หลังจากการเข้าพบนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันว่าจะไม่ต่ออายุออกไปอีก ทำให้กังวลว่าจะกระทบต่อวงเงินการลงทุนในตลาดทุนหายไป เพราะปัจจุบันมีเงินจากการลงทุนผ่านแอลทีเอฟเข้ามาในตลาดทุนเฉลี่ยปีละ 70,000-80,000 ล้านบาท ซึ่งขนาดของแอลทีเอฟมีมูลค่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 รวมสูงถึง 390,000 ล้านบาท

fet1

อย่างไรก็ตาม การออกกองทุนประเภทใหม่มาทดแทนนั้น จะศึกษาและพิจารณาการลงทุนที่เน้นการลงทุนให้กับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ถือเป็นหนึ่งในยุทธ์ศาสตร์การผลักดันประชาชนเข้ามาสู่ตลาดทุน เพื่อสนับสนุนประชาชนทุกระดับใส่ใจการลงทุนระยะยาว ช่วยให้มีเงินออมและได้ผลตอบแทนที่ดี รวมถึงยังเป็นแนวทางรองรับเงินที่จะไหลออกจากกองทุนแอลทีเอฟ ซึ่งจะช่วยป้องกันแรงตื่นตระหนกต่อภาพตลาดหุ้นไทย เหมือนกรณีสหรัฐยกเลิกมาตรการคิวอีช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเสนอให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้

“เชื่อว่าการออกกองทุนประเภทใหม่ครั้งนี้ จะได้รับความสนใจ โดยจะทำให้นักลงทุนเห็นถึงประโยชน์การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมากองทุนแอลทีเอฟเปิดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนนานถึง 10 ปี ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมและต้องควรปรับรูปแบบแล้ว เพื่อขยายฐานไปยังนักลงทุนกลุ่มผู้มีรายได้อื่น ๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเสนอให้รัฐบาลชุดนี้พิจารณา"

fet

สำหรับแผนนโยบายดำเนินงานปี 2561-2562 ได้วาง 8 แผนงานหลัก ทั้งการเสนอความคิดเห็นและให้คำปรึกษาต่อภาครัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย, จัดทำแผนยุทธศาสตร์ตลาดทุนไทย, ติดตามและปรับปรุงแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์, ขยายฐานนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาว เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนไทย, เพิ่มความหลากหลายของตราสารและผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนให้มากขึ้น, สร้างนักวิเคราะห์การลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพของตลาดทุน, สนับสนุนสมาชิกให้ความรู้ด้านการลงทุนขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทั่วไป และสนับสนุนสมาชิกในการพัฒนากลไกการทำงานและการนำนวัตกรรมมาใช้ในตลาดทุน

นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน จัดตั้งสถานศึกษานักวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มบุคลากรนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันจำนวนนักวิเคราะห์ลดลงต่อเนื่องสวนทางกับจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของบทวิเคราะห์ในระยะยาว โดยปี 2551 มีนักวิเคราะห์ 340 ราย มี บจ. 629 บริษัท ปัจจุบันเหลือนักวิเคราะห์ 280 ราย แต่มี บจ.ถึง 757 บริษัท และมีหลักทรัพย์สำหรับการลงทุนอีกหลายประเภทที่เกิดขึ้นมาใหม่ แต่ยังไม่มีนักวิเคราะห์เพียงพอ

e-book-1-503x62-7