จี้ปลดล็อกกองทุน 1.8 พันล้าน! ปรับเงื่อนไขกระจายเม็ดเงิน ผ่อนปรนเอ็นพีแอล

20 ก.ย. 2561 | 05:53 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฝากการบ้านถึงภาครัฐ หวังเข้าถึงสินเชื่อกองทุน 1.8 พันล้านบาท แนะกระจายเงินไปหลายธนาคารเพื่อความทั่วถึง พร้อมปรับเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่จำกัดวงเงินต่อราย พิจารณาสินเชื่อจากไอเดียธุรกิจ สะสมแต้มจากการอบรม และผ่อนปรนเงื่อนไข NPL

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า กองทุนฟื้นฟูกิจการผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะถูกควบรวมเข้ามาไว้ด้วยกัน โดยมีวงเงินรวมกันอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งตามมติของคณะอนุกรรมการบริหารคณะ สสว. จะมอบหมายให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี เดเวลลอปเม้นท์ แบงก์ (SME Development Bank) เป็นหน่วยงานที่ดูแลการวิเคราะห์สินเชื่อ โดยจะแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้น

ต่อเรื่องดังกล่าวนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของเอสเอ็มอีถึงเงื่อนไขในการเข้าถึงกองทุน ว่า มีความต้องการให้เป็นไปในทิศทางใด โดยนายพิริยศาสตร์ ตระการจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป.เกรียบกุ้ง อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวเกรียบกุ้งแบรนด์ ป.เกรียบกุ้ง และหมอนสุขภาพจากยางพาราแบรนด์ "พาราโต้" (PARATO) ให้ความเห็นว่า เดิมทีคณะกรรมการในการพิจารณาอาจจะมีอยู่เพียงจำกัดจาก สสว. ซึ่งก็อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการวิเคราะห์สินเชื่อเท่าใดนัก หากให้สถาบันการเงินอย่าง ธพว. มาเป็นผู้ดำเนินการ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี


SME-calculator

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ ก็คือ ต้องการให้กระจายเงินไปยังสถาบันการเงินของรัฐแห่งอื่นด้วย เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างทั่วถึงสำหรับรายย่อยหรือรายเล็ก ส่วนเรื่องของวงเงินที่จะให้ ก็ไม่ควรที่จะจำกัดต่อรายแบบตายตัว เพราะธุรกิจมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ความต้องการใช้เงินก็ย่อมแตกต่างกัน หากให้วงเงินเท่ากันทุกธุรกิจคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก โดยการพิจารณาสินเชื่อนั้น ต้องการให้มองไปถึงจำนวนลูกจ้างและปริมาณการจ้างงานของธุรกิจประกอบด้วย เพราะเอสเอ็มอีบางรายผลประกอบการอาจจะไม่ได้มีผลกำไรมากนัก แต่ก็มีการจ้างงานในชุมชน และทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน

ขณะที่ การอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ก็ไม่ควรจะมากครั้งจนเกินไป ควรอยู่ที่ประมาณปีละ 4-5 ครั้ง และใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งวันเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานที่จัดอบรมและมีการเกณฑ์ผู้เข้ามาฟังให้เต็มจำนวน ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจจะรวมทุกหน่วยงานเข้ามาเพื่อหาเจ้าภาพในการจัดอบรมเพียงหน่วยงานเดียว และอาจให้เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมอบรมได้รับการสะสมคะแนน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อด้วย

"ประเด็นเรื่องของเครดิตบูโรที่เป็นปัญหาสำคัญของการเข้าไม่ถึงกองทุน จนทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ภาครัฐอาจจะใช้วิธีการดูจากคะแนนสะสมที่ได้จากการอบรมพัฒนามาเป็นส่วนประกอบ เพราะเรามีการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาอบรมอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการหว่านแห โดยตนเชื่อว่า ไม่มีผู้ทำธุรกิจรายใดที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้นครั้งแรก จะต้องมีการล้มลุกคลุกคลานกันบ้าง หากได้รับโอกาสก็น่าจะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้"

นายจักรี ทะสี ประธานกรรมการ บริษัท ทริปเปิ้ล-เอส โออีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดแข่งจักรยานแบรนด์ "ทริปเปิ้ล-เอส" (TRIPLE-S) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ระบบการพิจารณาสินเชื่อให้แตกต่างจากธนาคารทั่วไป และให้สอดรับกับความเป็นเอสเอ็มอี ไม่ใช่ว่าจะต้องยึดติดกับกฎเกณฑ์ที่ว่าจะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทมาอย่างน้อย 2 ปี หรือจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากเอสเอ็มอีสามารถทำได้ตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เพราะสามารถนำไปขอสินเชื่อที่สถาบันการเงินของเอกชนได้

"อยากให้มองถึงแนวคิดในการทำธุรกิจมากกว่าว่ามีวิสัยทัศน์อย่างไร เพราะเอสเอ็มอีบางรายมีไอเดียที่ดี และมีผลิตภัณฑ์ที่น่าจะสนับสนุน เพียงแค่ไม่เข้าตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้เพื่อขอสินเชื่อ"


TP13-3402-A

ขณะที่ จากเพจเฟซบุ๊กของ Mr.Banker ซึ่งเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวนั้น ต่างก็มีความต้องการที่หลากหลาย เช่น ต้องการให้ปลดล็อกเงื่อนไข NPL, ต้องการให้ไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ย จ่ายคืนเงินช้าอย่างน้อยภายใน 7 ปี แบบไม่มีข้อแม้เรื่องประวัติ NPL และไม่ต้องมีคนค้ำประกัน รวมถึงไม่ต้องมีที่ดินค้ำประกัน ไม่จำกัดอายุ ให้พิจารณาจากแผนธุรกิจ, เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และให้กู้ตามขั้นตอนการพัฒนา เช่น เริ่มต้น 30% ช่วงที่ 2 การสร้างความมั่นคง 30% ช่วงสุดท้ายการสร้างความเข้มแข็ง 40%

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า เท่าที่รับทราบข้อมูล คือ กลุ่มเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่ได้รับสินเชื่อ เกิดจากปัญหาเรื่องของการติดเครดิตบูโรและอยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง ซึ่งตามหลักแล้ว กลุ่มดังกล่าวนี้จะต้องมีการปรับตัว โดยมีส่วนที่ยังค้างการพิจารณาอีกกว่า 3.5 พันราย วงเงิน 1.8 พันล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี จะต้องรอดูทิศทางและนโยบายว่าจะมอบหมายอย่างไรในการดำเนินการ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

"สิ่งที่มองว่าควรจะต้องดำเนินการ ก็คือ การให้ความรู้ควบคู่ไปกับการให้ทุน จะให้เงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรก็ต้องมีการศึกษาเพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด โดยอาจจะเป็นการให้ความรู้ควบคู่ไปกับการให้บริการ"


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3402 วันที่ 20-22 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว