SMEแนะปรับค่าแรงตามฝีมือ ไม่ค้านแต่ต้องไม่หว่านแห-ครวญโดนค่าเงินอีกเด้ง

21 ม.ค. 2561 | 06:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเห็นด้วยหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องไม่เป็นการปรับแบบหว่านแหทั่วประเทศ ด้านอุปนายกสมาคมรับช่วงการผลิตไทยแนะให้ค่าแรงตามฝีมือแรงงานมากกว่ากำหนดเป็นค่าแรงขั้นต่ำ

กำลังเป็นประเด็นร้อนสำหรับการขออนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ส่งสัญญาณว่า จะออกมาเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน เดิมทีจะมีการประชุมเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2560 แต่ก็ถูกเลื่อนออกมาเป็นวันที่ 17 ธันวาคม 2560 และสุดท้ายก็ยังไม่สามารถเคาะออกมาได้ทันก่อนปีใหม่

[caption id="attachment_250739" align="aligncenter" width="503"] จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน[/caption]

ล่าสุดนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ออกมาระบุว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้เลื่อนการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศออกไปเป็นวันที่ 17 มกราคม 2561 เนื่องจากต้องการให้จัดทำตัวเลขค่าจ้างแต่ละกลุ่มจังหวัดใหม่ เพื่อให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะบางจังหวัดที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่กลับพบว่ามีการขอปรับขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสังคม คณะกรรมการจึงต้องการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ และนำมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง

ต่อเรื่องนี้นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วย หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น แม้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ และเชื่อว่าโดยภาพรวมน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน แต่ก็ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสิน  และประกาศออกมาเป็นมาตรการให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทเพิ่มขึ้นอีก 15 บาท หากเป็นแรงงานที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครก็ถือว่าพอรับได้ แต่บางจังหวัดหากให้ปรับขึ้นเท่ากันในความเป็นจริงตามแนวทางปฏิบัติอาจจะทำได้ยาก ถ้าเป็นไปได้รัฐบาลควรพิจารณาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ หากประกาศให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบไม่เท่ากันทุกจังหวัด

728x90-03 นายพัฒนศักดิ์ แสนสมรส กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี ควอลิตี้ แมชชีน พาร์ท จำกัด และอุปนายกสมาคมรับช่วงการผลิตไทย ให้ความเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบ ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการ ต่างมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทครั้งที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าก้าวกระโดดขึ้นมาถึง 20% หากจะต้องปรับขึ้นอีก ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าเงินบาทมีการแข็งค่า ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมการส่งออกไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก หรือรายใหญ่ก็ต้องกระทบ 2 ต่อ จากกรอบเรื่องของค่าเงิน และค่าแรงที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการจะไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแต่ต้องการเสนอว่าหากจะมีการปรับขึ้นน่าจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามการพัฒนา รวมถึงความสามารถ และความเชี่ยวชาญมากกว่า เช่นดูทักษะฝีมือมากำหนดมากกว่า ว่าระดับไหนควรได้รับค่าแรงที่สูงขึ้น

นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการผู้บริหารของ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้อบแห้งแบรนด์ “Wel-b”กล่าวให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับบริษัทแล้วไม่ใช่ปัญหา เพราะมีการปรับขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานล่วงหน้าเกินระดับค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว โดยเป็นการปรับขึ้นตามประสิทธิภาพการทำงานประจำปี นอกจากนี้ ที่บริษัทเองก็ยังได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน  เพื่อศักยภาพด้วยการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9