ดิจิตอลไล่ฆ่า SMEs! ‘เกษตร-พืชไร่’ กระอัก - ‘แบงก์’ ปิดตายปล่อยกู้กลุ่มตกยุค

14 ธ.ค. 2560 | 11:21 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

1805

“แบงก์” จัดระเบียบสินเชื่อเอสเอ็มอี สกัดหนี้เสียพุ่ง ลั่น! ปิดประตูกู้ธุรกิจตกยุคดิจิตอล เผย ภาคเกษตร พืชไร่ วัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก มีสิทธิ์สูญพันธุ์ ... “กรุงไทย” ยัน! ยังปล่อยกู้ปกติ เน้นเอสเอ็มอีบัญชีเดียว

ธนาคารรัฐสนองนโยบายรัฐบาล จัดสินเชื่อกว่า 2 แสนล้านบาท เข้าดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปี 2561 ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เนื่องจากความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มนี้ ที่ยังเพิ่มไม่หยุด

 

[caption id="attachment_56042" align="aligncenter" width="326"] ศิริเดช เอื้องอุดมสิน ศิริเดช เอื้องอุดมสิน[/caption]

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอียังเป็นธุรกิจที่ได้รับแรงผลกระทบมากต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และในปี 2561 จะเป็นปีที่เห็นผลต่อเนื่องชัดเจนขึ้น

โดยธุรกิจใดที่ไม่ปรับตัวจะถูกภัยคุกคามจากเทคโนโลยี (Technology Disruption) ธุรกิจที่มีต้นทุนแพงกว่า จะถูกธุรกิจที่มีต้นทุนถูกกว่าแย่งตลาด เช่น ต้นทุนการผลิตที่จีนที่ถูกกว่า หรือ ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน

“ปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอี คือ จะต้องปรับตัวให้ทัน ปรับโมเดลธุรกิจ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ธนาคารและสถาบันการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยลดความเสี่ยงในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มที่แข่งขันไม่ได้ และไม่ปรับตัว อาทิ กลุ่มเกษตร หรือกลุ่มที่มีต้นทุนสูง เป็นต้น”


วิทยุพลังงาน

ขณะเดียวกัน การติดตามปัญหาหนี้จะต้องรวดเร็วขึ้น เพราะปัญหาเอ็นพีแอลในกลุ่มเอสเอ็มอียังคงเป็นปัญหาสำคัญในปีหน้า งวด 9 เดือนของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เอสเอ็มอี รวม 4.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ปี 2559 ที่ 4.48 ล้านล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว แต่ยังขยายตัวได้ในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ขณะที่ คุณภาพสินเชื่อด้อยลง เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 4.42% เป็น 4.63% ต่อสินเชื่อรวม

 

[caption id="attachment_124484" align="aligncenter" width="465"] นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์[/caption]

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลูกค้าขนาดเล็กและเล็กมาก ๆ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ที่ธนาคารอาจจะลงลึกไม่ได้ เหมือนเช่นที่ธนาคารเฉพาะกิจ (SFIs) ดำเนินการ ธนาคารจึงเน้นกลุ่มที่ขยายตัวได้ดี เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก และค้าปลีก

ส่วนกลุ่มที่ยังเป็นกลุ่มที่เฝ้าระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยง จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตร พืชไร่ หรือกลุ่มวัสดุก่อสร้างขนาดเล็กในบางพื้นที่ เป็นต้น


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6



| จี้! แฟชั่น-อาหารปรับตัว |
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ กล่าวว่า เอสเอ็มอีปีนี้ ในรายที่มีปัญหายังสามารถประคองตัวอยู่ได้ ปีหน้าแนวโน้มน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากนโยบายรัฐบาล ที่มีมาตรการส่งเสริมผลักดันออกมาเป็นระยะ

“จากที่สำรวจ หลายธุรกิจมียอดขายลดลง ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อหมุนเวียนลดลงเช่นกัน ซึ่งถือเป็นความระมัดระวังของลูกค้าเองด้วย ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องปรับตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย ประเภทอาหาร เสื้อผ้า เป็นต้น"

 

[caption id="attachment_186625" align="aligncenter" width="503"] นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา[/caption]

| BAY ชี้! ส่งออก ‘ถั่วแระ’ รุ่ง |
นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กต้องช่วยตัวเองให้อยู่รอดในภาวะที่เศรษฐกิจและการทำตลาดปรับตัวเร็วมาก ที่สำคัญ ต้องดูการเปลี่ยนแนวการทำตลาดบนออนไลน์ นอกจากสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เช่น โลจิสติกส์ แล้ว หากเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าขายหน้าร้าน ฝากขาย อาศัยโฆษณา สามารถเลือกเป็นช่องทางทำตลาด จะทำให้ต้นทุนถูกและเข้าถึงลูกค้าได้

ที่ผ่านมา ยอมรับว่า ผู้ประกอบการรายเล็กยังมีปัญหา แต่ไม่สามารถเหมารวมว่า ทั้งอุตสาหกรรมไม่ดี โดยธนาคารพบลูกค้าภาคเกษตรยังไปได้ดี เช่น ส่งออกถั่วแระและมันสำปะหลังไปตลาดญี่ปุ่น ขณะที่ บางสินค้าราคาตกต่ำก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในส่วนของสถาบันการเงินเอง มีวงเงินจำกัด จึงไม่สามารถช่วยทุกราย จึงต้องเน้นกลุ่มที่จะอยู่รอด แล้วสนับสนุนให้เติบโตได้

 

[caption id="attachment_241744" align="aligncenter" width="432"] ปฏิเวช สันตะวานนท์ ปฏิเวช สันตะวานนท์[/caption]

| กรุงไทยยัน! ยังปล่อย |
นายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าเติบโตธุรกิจเอสเอ็มอี 2 เท่าของจีดีพี กลุ่มเป้าหมายมุ่งส่งเสริมตามนโยบายภาครัฐ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เกษตรต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่ม และพื้นที่ในเป้าหมายอีอีซี และในภูมิภาคเออีซี

สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มอื่น ๆ ยืนยันว่า ยังคงปล่อยสินเชื่อตามปกติอยู่ แต่ต้องยอมรับว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีทั้งที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อและไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ โดยธนาคารพิจารณาตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหากกลุ่มไหนที่ไม่ได้รับการอนุมัติ อาจเป็นผลมาจากสถานะที่อ่อนแอ และไม่มีการปรับตัวหรือการพัฒนา ทั้งในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ การผลิต และการตลาด เป็นต้น รวมถึงการทำบัญชีเดียว เป็นสิ่งที่ธนาคารจะให้ความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งลูกค้ากลุ่มใดที่ไม่ได้เข้าสู่บัญชีเดียว จะได้รับการพิจารณาสินเชื่อภายใต้งบดุลที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะยากต่อการอนุมัติสินเชื่อในระยะข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่ลูกค้าเอสเอ็มอีควรรู้จุดอ่อนและรีบปรับตัวให้ทัน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ประเด็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอี มีทั้งแข็งแรงและอ่อนแอ แต่ธนาคารมองในเชิงบวกคาดหวังปี 2561 ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลจะเกิดขึ้นไม่มากกว่าเดิม หรือเร่งตัวเร็วขึ้นมากนัก


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14-16 ธ.ค. 2560 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9