สอท.ปลุก SME ฟื้นศก.ฐานราก

09 ธ.ค. 2560 | 11:19 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ประธานส.อ.ท.ฟันธงโค้งสุดท้ายปี 60 ทุกเครื่องยนต์ล้วนเป็นแรงส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า เหลือเพียงเศรษฐกิจฐานรากที่ยังไม่ดี เตรียมผนึก 2 สถาบัน ในสังกัดก.อุตสาหกรรมปลุกเอสเอ็มอีสู่โครงการนำร่อง ดึงผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ธุรกิจ วางรูปแบบบริหารจัดการ หวังสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

โค้งสุดท้ายปี 2560 หลายสำนักด้านเศรษฐกิจ ต่างออกมาคาดการณ์ถึงการเติบโตตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ว่ามีการเติบโตอย่างน่าจับตามอง โดยได้รับอานิสงก์จากเครื่องยนต์ 3 ตัวหลักคือ ภาคส่งออก ท่องเที่ยว รวมถึงสัญญาณการลงทุนระลอกใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่พื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโค้งสุดท้ายปี 2560 ทุกเครื่องยนต์ล้วนเป็นแรงส่งที่ดีขับเคลื่อนต่อไปถึงปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ด้านการส่งออก เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยว และเครื่องยนต์ด้านการลงทุน ต่างบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการลงทุนที่ติดลบมาหลายปีก็เริ่มมองเห็นแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น

“ปี 2560 ตัวเลขที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปีว่า จีดีพีจะเติบโต 3.5-4 % ก็มีปรับเป้าเป็น 3.7-4% ซึ่งตอนนี้หลายสถาบันก็มีตัวเลขใกล้เคียงกับเป้ากกร. บางสำนัก เช่น สภาพัฒน์ฯ และแบงก์ชาติ ออกมาฟันธงใหม่ว่าจีดีพีจะโต 3.9% นับว่าเป็นการส่งต่อไปถึงปี 2561 ที่ดีมาก และจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ ในปี 2561 เพราะเรื่องการลงทุนร่วมภาครัฐเอกชน (พีพีพี) ก็ได้รับการแก้ไขให้สะดวกขึ้น จะติดก็น่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาเป็นอุปสรรค ก็เพราะเป็นพ.ร.บ.ใหม่ ฉะนั้นจะต้องมีกระบวนการ ที่จะทำให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ใหม่ พอ กระบวนการเสร็จ ก็คาดว่าการจัด ซื้อจัดจ้างจะเดินได้ ดังนั้นในทุกๆเครื่องยนต์เริ่มทำงาน ไม่มีคำว่าเครื่องยนต์ดับ แม้แต่เครื่องเดียว”

[caption id="attachment_129345" align="aligncenter" width="500"] เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย[/caption]

++ดันSMEsเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ
อย่างไรก็ตามขณะนี้แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจดี แต่ก็ยังมีเสียงบ่นเกิดขึ้นจากภาคเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ ตรงนี้ก็มองว่า มาตรการหลายอย่างก็มีส่วนช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ บางส่วนก็ยังมีติดขัดอยู่ เช่น เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งปัญหาของเอสเอ็มอีก็น่าจะเป็นเรื่องการทำบัญชีไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีหลักฐานการทำธุรกิจที่เชื่อถือได้ไม่เพียงพอ ถ้าสิ่งเหล่านี้สามารถปรับปรุงได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็จะเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

“ในแง่ ส.อ.ท. ยอมรับว่า วิธีแก้ปัญหาประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ทำคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น เพราะถ้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลิตภัณฑ์จะมีความหลากหลายมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น มีช่องทางการจำหน่ายที่ดีขึ้น ถ้าสิ่งเหล่า นี้ทำดีอยู่แล้ว ก็จะถูกนำไปใช้เป็น เงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน”

จากปัญหาดังกล่าวส.อ.ท. เตรียมหาทางออกเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยประสาน 2 สถาบัน ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม คือสำนักงานสถาบันเพิ่มผลผลิต ที่ดูเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสถาบันมาตรฐานไอเอสโอ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีจะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เพราะคู่แข่ง มาแรงมากทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย เราจำเป็นต้องรีบปรับตัวให้เร็ว โดย พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบมาตรฐานไอเอสโอ เพราะฉะนั้น 2 เรื่องนี้ส.อ.ท.จะเร่งผลักดันโดยเร็ว

ทั้งนี้รูปแบบการช่วยเหลือ เอสเอ็มอีนั้น จะทำเป็นโครงการนำร่องโดยนำผู้เชี่ยวชาญจาก 2 องค์กรดังกล่าว เข้าไปวิเคราะห์ธุรกิจของเอสเอ็มอีรายนั้นๆ ว่ายังขาดอะไรบ้าง โดยผลักดัน ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็ม อีภายใต้โครงการ “เพิ่มผลิตภาพและมาตรฐานการผลิต” ระหว่างนี้กำลังหารือกันว่า ควรมีกี่บริษัทนำร่องก่อน โดยส.อ.ท.ในนามสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิตหรือ SMI เป็นผู้บริหารจัดการโครงการดังกล่าว

“การส่งออกไม่ควรกระจุกตัวอยู่เฉพาะบริษัทใหญ่ ควรจะส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลาง ขนาดย่อมมีความสามารถในการส่งออกได้มากขึ้น ก็จะเป็นตัวเสริม 3 เครื่องยนต์อีกช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถ้าเป็นตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าทำให้เกิดเครือข่ายที่สามารถผลักดันส่งออกได้ก็จะช่วยส่งเสริมการส่งออกได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องอี-คอมเมิร์ซที่เป็นช่องทางใหม่ ซึ่งก็เหมาะทั้งกับตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ ถ้า เราเน้นไปยังตลาดเพื่อนบ้านก็จะทำให้ยอดขายเอสเอ็มอีดีขึ้น”

บาร์ไลน์ฐาน ++SMIแย้มปฏิบัติได้ต้นปี61
ด้านนายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาห กรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่า ในส่วนของ SMI อยู่ระหว่างคัดกรองผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ออก มาเป็นกลุ่มนำร่องในการเข้าร่วมโครงการ “เพิ่มผลิตภาพและมาตรฐานการผลิต” ก่อนรวมจำนวน 300 ราย ที่จะมาจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong/Regular) ที่ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อยู่แล้ว จำนวน 5,000 รายโดยเลือกออกมาจำนวน 200 ราย มาวิเคราะห์ธุรกิจ โดยดูรายที่ธุรกิจมีอนาคตขาดเพียงรูปแบบการจัดการธุรกิจ และดึงมาจากผู้ประกอบการจำนวน 1,400 รายที่ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาห กรรมในการตรวจวินิจฉัยผู้ประกอบการอยู่แล้วก่อนหน้านี้ โดยคัดผู้ประกอบการจากส่วนนี้จำนวน 100 ราย ทำให้ได้กลุ่มผู้ประกอบการที่นำร่องก่อน 300 ราย ที่เข้าโครงการดังกล่าว และจะเริ่มเห็นความชัดเจนในการเข้าสู่โหมดปฎิบัติได้ภายในต้นปี 2561

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กำหนดตรวจความคืบหน้า การดำเนินงานของธพว. ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ซึ่งภายในวันเดียว กันนี้ รองนายกฯจะเดินทางมาตรวจการบ้านธพว.และพร้อมแถลง นโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐร่วมช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 2561 และมีมาตรการต่างๆ ช่วยอีกแรงด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว