เงินเฟ้อเดือนพฤษภาฯติดลบครั้งแรกรอบ 14 เดือน

01 มิ.ย. 2560 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมลดลง 0.04% ติดลบครั้งแรกรอบ 14 เดือน จากผักผลไม้ ราคาน้ำมันฉุด คาดครึ่งปีแรกเงินเฟ้อขยายตัว 0.8-0.9% สิ้นมิถุนายนนี้เตรียมพิจารณาปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่ หลังราคาน้ำมันโลกแนวโน้มขยับ เงินบาทแข็งค่า

นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2560 เท่ากับ 100.64 สูงขึ้น 0.15% เทียบเมษายน 2560 แต่ลดลง 0.04% เมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2559 นับเป็นการลดลงหรือติดลบครั้งแรกในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เมษายน 2559 เนื่องจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 1.38% ซึ่งเป็นผลหลักจากอาหารสดอย่างผักและผลไม้ลดลงถึง12.92% เพราะผลผลิตสินค้าเกษตร ผักผลไม้ปีนี้ไม่ได้เจอภัยแล้ง ผลผลิตจึงดีกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ราคาจึงไม่สูงมาก แต่ปีที่แล้วเจอภัยแล้งราคาจึงสูงกว่า ประกอบกับราคาน้ำมันเฉลี่ยของทั้งเดือนพฤษภาคมลดลง 20 สตางค์ หรือลดลง 1.67% เทียบเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และราคาแก๊สหุงต้มในครัวเรือนก็ลดลงเช่นกัน ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.74% จากค่าไฟที่เพิ่มขึ้น 12.52สตางค์ต่อหน่วย และค่าทำเนียมการศึกษาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกไป) เท่ากับ 101.14 สูงขึ้น0.01% เทียบเดือนเมษายน 2560 และสูงขึ้น 0.46% เทียบเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเล็กน้อย อยู่ในภาวะปกติ การขยายตัวของอัตราเงินจึงน่าพอใจ สะท้อนเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรก ( มกราคม-พฤษภาคม)ปี 2560 สูงขึ้น0.81% เทียบช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตามแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยับขึ้น และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ดีขึ้นจากรายได้เกษตรกรและผลผลิตภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปครึ่งปีแรกของปีนี้อยู่ที่ 0.8-0.9% เพราะคาดว่าราคาสินค้าในเดือนมิถุนายนนี้ที่ต่อจากพฤษภาคมไม่เปลี่ยนแปลงมาก และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอาจจะขยับขึ้นเล็กน้อย กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2560 อยู่ที่ 1.5-2.2% บนพื้นฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35.5-37.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตามสิ้นเดือนมิถุนายนนี้กระทรวงพาณิชย์จะทบทวนและปรับประมาณการณ์ใหม่ของเงินเฟ้อทั้งปีนี้ โดยในครึ่งปีหลัง ต้องจับตาปัจจัยหลักที่มีผลต่อเงินเฟ้อ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มขยับขึ้น หลังกลุ่มโอเปกตกลงจะลดกำลังการผลิต ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม 2560 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 34.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าการใช้จ่ายและรายได้ของประชาชนจะสูงขึ้น จากมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ

สำหรับรายการสินค้าที่ทำการสำรวจ 422 รายการในเดือนพฤษภาคม 2560 เทียบเดือนก่อนหน้า มีการเปลี่ยนแปลง ราคาเพิ่มขึ้น 151 รายการ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการช่วงเปิดเทอม ผักสดและผลไม้ เช่น มะนาว ผักคะน้า ซึ่งผลผลิตเสียหายเล็กน้อยจากอากาศแปรปรวน ราคาจึงสูงขึ้นมา ส่วนผลไม้ เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ราคาก็สูงขึ้นเพราะเป็นต้นฤดูกาล ส่วนราคาสินค้าลดลง 91 รายการ เช่น ข้าวสาร แก๊สหุงต้มในครัวเรือน น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น และมีราคาไม่เปลี่ยนแปลง 180 รายการ