เอกชนจี้เรียกภาษีย้อนหลังฟ้องFB

15 มี.ค. 2560 | 01:00 น.
ชัด! เก็บภาษีโซเชียลมีเดีย คลังสั่งสรรพากรให้ความรู้ผู้ค้า ตามรอยญี่ปุ่น-อินเดียกล่อม “เฟซบุ๊ก-กูเกิล-อาลีบาบา”เก็บแวตให้ด้านเอกชนเชื่อเจรจาล่ม จี้รัฐใช้ยาแรงแบบอินโดฟ้องเรียกภาษีย้อนหลังที่มีรายได้โฆษณากูเกิล 5 ปี1.4หมื่นล้าน

แนวทางการจัดเก็บภาษีกับโซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซ ภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากกระทรวงการคลัง ได้วางแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยให้กรมสรรพากร เป็นผู้ประสานงานหลัก (Focal Point) ในการดำเนินประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ การเสียภาษีอากรที่ถูกต้อง ตรวจสอบ ติดตามการเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปรับแก้ไขกฎหมาย เพื่อรองรับการเก็บภาษีจากธุรกรรมอี-คอมเมิร์ช

กระทรวงการคลังได้รายงานต่อครม.ว่าได้ศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ เช่น การจัดเก็บภาษีเพื่อความเสมอภาคระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ประกอบการต่างประเทศ (Equalization Levy) ที่มีการใช้ในประเทศอินเดีย

 บีบผู้ค้าข้ามชาติ

การกำหนดให้ผู้ประกอบการข้ามชาติที่เข้ามาขายสินค้าในประเทศกับผู้บริโภคต้องจดทะเบียนในประเทศ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ในประเทศญี่ปุ่น

การเจรจากับบริษัทเจ้าของสารสนเทศดิจิตอล (Digital Content) อาทิ เฟชบุ๊ก กูเกิล และอาลีบาบ่า ให้ดำเนินการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้บริโภคไทย และส่งให้กรมสรรพากรไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทางภาษี ระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ประกอบการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต่างประเทศ

กระทรวงการคลังกำลังเร่งรัดแก้กฎหมาย พร้อมกับนำข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษี

 ฟ้องเฟซบุ๊ก-กูเกิลจ่ายภาษี

ด้านแหล่งข่าวจากวงการอินเตอร์เน็ต และอี-คอมเมิร์ซรายหนึ่ง กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าเห็นด้วยกับมาตรการการเรียกเก็บภาษีจากโซเชียลมีเดียชื่อดัง ทั้งเฟชบุ๊ก และกูเกิล โดยให้รัฐบาล กล้าหาญใช้มาตรการแข็งกร้าวในการเรียกเก็บภาษีจากรายได้จากโฆษณาออนไลน์ รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มกับบริษัทเหล่านี้ เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่ใช้ยาแรง
โดยสำนักงานสรรพากรอินโดนีเซียกำลังตรวจสอบกูเกิล ที่มีรายได้จากโฆษณาออนไลน์ปีที่ผ่านมา 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท แต่เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.1% ซึ่งรัฐบาลจาการ์ตามองว่า"ไม่เป็นธรรม" ตามกฎหมายนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้ที่ 10% ต่อปี

 เล็งเก็บภาษีย้อนหลัง

ทั้งนี้หากมีการตรวจสอบพบว่ามีการเลี่ยงภาษีจริง อาจเรียกเก็บภาษีย้อนหลังครอบคลุมระยะเวลาทั้งหมดราว 5 ปี เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้รัฐบาลจาการ์ตากำลังตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีของบริษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐฯที่เข้ามาเปิดสำนักงานในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นยาฮู เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

“หากรัฐบาลใช้วิธีการเจรจากับบริษัทพวกนี้ก็จะใช้วิธีดึงเกมไปเรื่อยๆ เพราะหากเขายอมประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาก็จะเรียกร้องให้โซเชียลมีเดียข้ามชาติเหล่านี้จ่ายภาษีเหมือนกัน ดังนั้นวิธีการที่ดีสุด คือ รัฐบาลต้องกล้าหาญ สั่งฟ้องเรียกเก็บภาษีเหมือนในอังกฤษ และอินโดนีเซีย”

 แนะดึงเฟซบุ๊กเข้าระบบ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ด้านสิทธิเสรีภาพและ คุ้มครองผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นกรณีที่รัฐบาลมีแผนจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ว่า ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซควรเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากเป็นบริษัทที่สร้างรายได้ในประเทศไทย แต่การจัดเก็บภาษีต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนไม่สกัดกั้นการเติบโตของธุรกิจ ถ้าภาคเอกชนไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร แต่รัฐบาลก็ไม่สมควรใช้อำนาจเด็ดขาดข่มขู่ปิดเว็บไซต์อย่างกรณีที่เคยมีข่าวว่าจะปิด เฟซบุ๊ก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษี เฟซบุ๊ก ได้เนื่องจากยังไม่มีการจัดตั้งสำนักงานและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ขณะที่ ไลน์ (ผู้ให้บริการโปรแกรมแชตไลน์) ต้องไปตรวจสอบว่าจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือยัง

“ ถ้าต้องการให้เฟซบุ๊ก เข้ามาอยู่ในระบบต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่ถูกกลั่นแกล้ง นักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยสบายใจและกังวลเพราะเป็นยุครัฐบาลพิเศษ ปัจจุบัน เฟซบุ๊ก ตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศสิงคโปร์ เพราะยังหวั่นเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดังนั้นถ้ารัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นต้องมีกติกาชัดเจน "

 AIS หนุนเก็บภาษีเฟซบุ๊ก

ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส แสดงความคิดเห็นและสนับสนุนการจัดเก็บภาษีโซเชียลมีเดียเนื่องจาก เอไอเอส เป็นบริษัทที่จัดตั้งและประกอบกิจการในประเทศไทยยังเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น เฟซบุ๊ก ควรจะเสียภาษีเช่นเดียวกัน และ เชื่อว่ารัฐบาลมีวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการในเรื่องนี้

 คลังยึดโมเดลต่างประเทศ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าคลังให้กรอบเวลาการศึกษารูปแบบและวิธีการจัดเก็บภาษีออนไลน์ตลอดจนการอุดช่องโหว่ที่ในกฎหมายเดิมไม่เคยมี โดยให้เสนอกลับมาให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายยอมรับว่ามีความยากมากกว่าภาษีที่เคยมีมาในอดีตเพราะไทยไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดเก็บภาษีสำหรับการซื้อขายสินค้าตลอดจนบริการออนไลน์มาก่อน

“การนำเอารูปแบบการจัดเก็บจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินโดนีเซีย หรือสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้น่าจะทำให้รูปแบบ รวมถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ต้นทางสู่ปลายทางนั้นทำได้อย่างไร และทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เม็ดเงินดังกล่าวไม่เกิดการรั่วไหล”

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าแนวทางการจัดเก็บจะต้องสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นให้ธุรกิจในกลุ่มสตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอีของไทยสามารถเติบโตได้ โดยฐานภาษีจะต้องสอดคล้องทำให้เอสเอ็มอีของไทยเติบโตได้เช่นกัน

 “สมคิด”ยันไม่ขึ้นVAT

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะมาขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากตรองดูถึงปัจจัยไม่มีข้อไหนที่เอื้อให้ขึ้นภาษี เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังเพิ่งเริ่มฟื้นตัวยังไม่มีเหตุผลให้ต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนี้

“มีคนโยงประเด็นว่ารัฐบาลถังแตกถึงต้องเตรียมขึ้นภาษี ก็ไม่เป็นความจริง”

ตรวจแถวรีดภาษี5เว็บ


เฟซบุ๊กเเฟนเพจ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอข่าว“โดนถ้วนหน้า! รัฐรีดภาษี “Facebook” พ่วง 5 เว็บยักษ์ ไม่จ่ายปิดทันที!” ซึ่งเป็นกรณีที่กรมสรรพากรมีเเนวคิดที่จะเก็บภาษีจากการค้าออนไลน์ ทำให้ชาวเน็ตแห่เข้ามาเเสดงความเห็นกันเป็นจำนวนมากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและต่อต้าน

เฟนเพจเเสดงความเห็นใน 2 มุมมอง คือสนับสนุนเเละคัดค้านเรื่องนี้ โดยเเฟนเพจที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนระบุว่า “ควร...แต่ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง บริษัทต่างชาติพวกนี้ใช้วิธีการเลี่ยงภาษีมาตลอด...เข้าใจว่า...หากินกับเงินคนไทยแต่ไม่อยากเสียภาษีใช้ช่องทางนี้...แต่เวลาเกิดผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ กลับใช้บริการตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ในการจับละเมิด อยากให้ใช้วิธีการ บริษัทไหนที่ใช้บริการเว็บพวกนี้ไม่สามารถนำมาหักภาษีได้...หรือเครดิตเงินคืนได้...จะทำให้บริษัทที่ใช้บริการต้องเสียภาษีเยอะขึ้น....” เเละอีกความเห็นหนึ่งคือ “แยกแยะกันหน่อยครับ ภาษีที่เขาจะเก็บ คือ ภาษีรายได้ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat7%)ไม่ว่าธุรกิจได้รับการสนับสนุนมากแค่ไหน เช่น BOI / EEC /Thailand 4.0 ฯลฯ ก็ต้องเสียภาษีรายการนี้ครับ (ยกเว้นบุคคลธรรมดาไม่เสีย แต่ก็รับภาระจากสินค้าและบริการ ต่างๆ ที่บวกเข้าไปอยู่แล้ว)

ส่วนฝ่ายคัดค้านนั้น เเสดงความเห็นว่า “ภาษีเค้าแพงขึ้น ราคาสินค้า ค่าโฆษาณาอะไรก็ต้องสูงขึ้นตาม ก็ซวยสิสุดท้ายภาระก็ตกมาเป็นของประชาชน คนที่คิดว่าเก็บภาษีก็ถูกแล้วโง่จัง ถ้าจะผลักให้เป็นเมืองไทย 4.0 เศรษฐกิจดิจิตอล คุณต้องลดหย่อนภาษี ส่งเสริมให้คนมาลงทุนไม่ใช้เพิ่มภาษี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560