นายกฯใหม่สมาคมนักข่าวฯประกาศต่อสู้กับกฎหมายที่หมายกดหัวสื่อ

05 มี.ค. 2560 | 01:16 น.
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดให้มีการประชุมใหญ่ประจำปี เมื่อวันที่ 4 มี.ค.60 โดยมีการเลือกตั้งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์คนใหม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมใหญ่เลือกนายปราเมศ  เหล็กเพ็ชร์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯคนใหม่

กรรมการประกอบด้วย นายมงคล บางประภา (บางกอกโพสต์) อุปนายกฝ่ายบริหารและเลขาธิการ สมาคมฯ นายชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม (โพสต์ทูเดย์) อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ  นายอนุชา เจริญโพธิ์ (บางกอกโพสต์) อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ  นางสาว น.รินี เรืองหนู (มติชน) อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ  นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร (ไทยโพสต์)โฆษก สมาคมฯ นายธนัชพงษ์ คงสาย (เนชั่น) เหรัญญิก  สมาคมฯ นายไพรัช มิ่งขวัญ (เดลินิวส์) นายทะเบียน สมาคมฯนายลักษณศักดิ์ โรหิตาจล (เดลินิวส์) กรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมฯ นายสิทธิชน กลิ่นหอมอ่อน (แนวหน้า)กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ นายสุเมธ สมคะเน (ไทยรัฐ) กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ นายชนะ ผาสุกสกุล (ผู้จัดการ)กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ  นายปรวิทย์  เจนสมุทร (แนวหน้า) กรรมการฝ่ายวิชาการ  นางสาวสุมนชยา จึงเจริญศิลป์ (สยามรัฐ) กรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ กรรมการควบคุมจริยธรรม ประกอบด้วย นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ (มติชน) นายสมาน สุดโต(โพสต์ทูเดย์) นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง  (อีคอนนิวส์) ดร.สุรศักดิ์  จิรวัสตร์มงคล (ผู้จัดการ) และนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล  (ลานนาโพสต์)

หลังการเลือกตั้งแล้ว นายวันชัย วงศ์มีชัย ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวฯได้กล่าวส่งมอบภารกิจแก่นายกฯและกรรมการบริหารชุดใหม่ให้สืบสานการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนต่อไป  โดยเฉพาะการร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆในการต่อสู้ คัดค้านพรบ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อที่สปท.กำลังผลักดันออกมาซึ่งเนื้อแท้เป็นกฎหมายที่มุ่งเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมสื่อ ทั้งนี้จะเป็นภารกิจสำคัญในปีนี้

ขณะที่นายปราเมศ นายกฯคนใหม่ยืนยันให้ความมั่นใจว่า จะนำพาสมาคมนักข่าวฯต่อสู้กับกฎหมายที่หมายกดหัวสื่ออย่างถึงที่สุด ยิ่งมีผู้อาวุโสของวงการนักข่าวท่านหนึ่งบอกให้เห็นภาพ ถึงการต่อสู้ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมาตลอดระยะเวลากว่า60ปี เพื่อไม่ให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ คณะกรรมการฯชุดใหม่ยิ่งต้องเดินหน้าปกป้องเสรีภาพสื่อซึ่งเป็นเสรีภาพของประชาชน เพื่อสานต่อจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของบรรดานักข่าวอาวุโส