TCDC เผย “เส้นใยกัญชง”ขึ้นแท่นวัตถุดิบสิ่งทอสร้างสรรค์ ปี 17   

16 ก.พ. 2560 | 04:13 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

16 กุมภาพันธ์ 2560 – ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชู เส้นใยกัญชง วัตถุดิบสิ่งทอสร้างสรรค์ ตอบโจทย์กระแสการเลือกหาวัสดุใหม่ของแบรนด์ระดับโลก และกระแสรักธรรมชาติของผู้บริโภคปี 2017 ด้วยคุณสมบัติของเส้นใยกัญชงที่มีความแข็งแรงทนทาน แต่ยืดหยุ่น ป้องกันรังสียูวี ทนความร้อนสูง สวมใส่แล้วเย็นสบายในหน้าร้อน แต่ให้ความอบอุ่นได้ดีในหน้าหนาว และล่าสุดกัญชงได้รับอนุญาตให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้แล้วในประเทศไทย บนพื้นที่ 15 อำเภอ 6 จังหวัดของภาคเหนือ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและนักออกแบบสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรวมถึงผลิตภัณฑ์แฟชั่นอื่นๆ

[caption id="attachment_130691" align="aligncenter" width="503"] ภาพประกอบจาก...ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภาพประกอบจาก...ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)[/caption]

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ปัจจุบันในวงการแฟชั่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หลากหลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับการเลือกวัตถุดิบที่แปลกใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ของตนเอง ประกอบกับหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงของผู้บริโภคในปี 2017 คือกระแสรักธรรมชาติ และการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ ผ้าฝ้ายออแกนิค เส้นใยไผ่ ไหม ลินิน เส้นใยสับปะรด รวมไปถึง เส้นใยกัญชง ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย หลากหลายแบรนด์ชั้นนำ อาทิ หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) เฟนดิ (Fendi) ได้ผลิตคอลเลคชั่นพิเศษที่ใช้ใยกัญชงเป็นวัสดุหลัก ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นหนึ่งในโอกาสที่ดีของเมืองไทย ที่มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และผลิตเป็นเส้นใยป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมของโลกต่อไป

[caption id="attachment_130692" align="aligncenter" width="503"] ภาพประกอบจาก...ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภาพประกอบจาก...ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)[/caption]

เส้นใยกัญชง มีจุดเด่นในเรื่องความแข็งแรง ทนทาน ขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่น สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้แข็งแรงกว่าฝ้าย ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน ให้ความอบอุ่นได้มากกว่าลินิน สีติดคงทนกว่าผ้าฝ้าย ป้องกันรังสียูวี สามารถทนความร้อนได้ถึง 170 องศาเซลเซียส และคุณลักษณะโครงสร้างของเส้นใยกัญชงยังสามารถนำไปผลิตเนื้อผ้าที่บางได้เท่าที่ต้องการ จากคุณสมบัติต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเส้นใยกัญชงมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สวมใส่เย็นสบายในหน้าร้อน ขณะเดียวกันก็ให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว ส่งผลให้ผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงจะมีราคาสูงแต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในยุโรป อเมริกา รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบัน แบรนด์สินค้าชั้นนำของโลกได้มีการนำเส้นใยกัญชงไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์รองเท้าจากแบรนด์ไนกี้ (Nike) อดิดาส (Adidas) หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) รวมถึงกระเป๋าจากแบรนด์เฟนดิ (Fendi) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สถานการณ์กัญชงในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาฯ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) ให้กัญชง หรือแฮมพ์ ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถปลูกเชิงอุตสาหกรรมได้แล้ว โดยใช้ปลูก 6 จังหวัด 15 อำเภอ ดังนี้ จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ แม่วาง แม่ริม สะเมิง และแม่แจ่ม จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ เทิง เวียงป่าเป้า และแม่สาย จังหวัดน่าน 3 อำเภอ ได้แก่ นาหมื่น สันติสุข และสองแคว จังหวัดตาก ที่อำเภอพบพระ จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ เมือง หล่มเก่า และเขาค้อ จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อำเภอเมือง โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 1 ปี ซึ่งเชื่อมั่นว่าการที่กัญชงได้รับการอนุญาตให้สามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างเป็นทางการแล้วนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs และนักออกแบบในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงธุรกิจแฟชั่นอื่นๆ เพื่อสามารถผลิตและออกแบบสิ่งทอที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เส้นใยกัญชง เป็นหนึ่งในวัสดุสำหรับการออกแบบ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้รวบรวมไว้ในฐานข้อมูลของห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ หรือ Material Connexion® Bangkok จากวัสดุทั่วโลกกว่า 8,000 ตัวอย่างวัสดุ มาไว้ในแหล่งเดียว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs และนักออกแบบเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ พร้อมได้สัมผัสกับตัวอย่างวัสดุจริง รวมถึงยังมีการอัพเดทเทรนด์ของวัสดุจากทั่วโลกอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักออกแบบรู้เท่าทันเทรนด์การออกแบบและความต้องการในตลาดโลก

สำหรับผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุเพื่อการออกแบบในช่องทางออนไลน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่เว็บไซต์ http://materials.tcdc.or.th หรือสมัครสมาชิกฐานข้อมูลวัสดุออนไลน์ที่ www.materialconnexion.com/th