เมียนมาต้องเตรียมตัวรับนักท่องเที่ยวให้พร้อม

18 ธ.ค. 2565 | 21:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงนี้หลายๆ ประเทศได้เริ่มต้นเข้าสู่โหมดของการเปิดประเทศแล้ว ประเทศในฝั่งเอเชียเราก็เริ่มคึกคักกันเป็นอย่างยิ่ง เริ่มจากสิงค์โปร์ที่เร็วกว่าเพื่อน ต่อมาไทยเราก็ไม่น้อยหน้าเขา เราเริ่มเปิดประเทศมาหลายเดือนแล้ว เวียดนาม ลาว กัมพูชา เขาก็ต้องเปิดประเทศ แม้แต่ประเทศที่เคยเข้มงวดอย่างประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ก็ยังต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศแล้วเช่นกัน ทุกๆ ประเทศต่างตระหนักว่า หากยังคงปิดประเทศตนเองอยู่ อาจจะต้องตกขบวนรถไฟสายเศรษฐกิจแน่ๆ ดังนั้นจึงทยอยเปิดประเทศกันเป็นทิวแถวเลยครับ
 

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ก็เริ่มเห็นวี่แววว่าจะต้องเปิดประเทศในช่วงต้นปีหน้านี้แน่นอน เขาเริ่มจากการลดขีดความเข้มข้นภายในประเทศเขาก่อน ผมเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจของประเทศเขาจะยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เขาก็คงต้านกระแสการเปิดประเทศของทุกๆ ชาติยากเหมือนกันครับ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเข้มแข็งสักเพียงใด ถ้าหากทวนกระแสของเศรษฐกิจโลก ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ก็ยากนะครับ 

 

ประเทศเมียนมาเองในต้นเดือนตุลาคม ก็ออกมาบอกว่าจะยกเลิกการควบคุมโควิดอย่างเข้มข้นปลายเดือนพฤศจิกายน แต่พอใกล้ๆ จะถึงกำหนด ก็ออกมากลับลำบอกว่า ให้ควบคุมต่อไปจนถึงปลายเดือนธันวาคม แต่ผมเองก็เชื่อมั่นว่า พอครบในปลายเดือนธันวาคมในครั้งนี้ เขาคงต้องเปิดประเทศแน่นอนครับ น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับแฟนคลับสายทัวร์วัดวาทุกท่าน ขอให้เตรียมตัวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศเมียนมาได้เลยครับ
 

คราวนี้คงไม่ต้องทำประกันสุขภาพของเมียนมา ที่มีราคามหาโหดแล้วละครับ ยังมีการตรวจ ATK ที่สนามบินก็คงต้องยกเลิกไปโดยปริยายครับ อย่างไรก็ตามนี่คือความเชื่อส่วนตัวของผมนะครับ คงต้องรอให้ทางการเมียนมาประกาศออกมาเป็นทางการอีกครั้ง แล้วผมจะแจ้งให้ทราบอย่างเร่งด่วนเลยครับ
 

สำหรับผู้ประกอบการภายในประเทศเมียนมาเอง เช่นร้านอาหารต่างๆ หรือร้านขายสินค้าของที่ระลึก หลังจากที่เมียนมาเจอไปสองเด้งตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา ก็มีการล้มหายตายจากไปมิใช่น้อย ร้านอาหารหลายร้านที่ผมชอบไปทานเป็นประจำ ก็เลิกกิจการไปเยอะมาก ทุกครั้งที่จะออกไปทานข้าวข้างนอกบ้าน ผมต้องใช้ให้พนักงานที่บริษัท เวลาที่ออกไปขายสินค้า ให้เขาช่วยสังเกตดูว่าร้านนั้นร้านนี้ยังเปิดบริการอยู่หรือเปล่า? ต้องบอกว่าเกือบร้อยละ 70-80% ปิดตัวไปแล้วครับ

 

ส่วนโรงแรมที่พักสำหรับเพื่อนๆ ที่ติดตามไปกับผมทุกทริปก็เช่นกัน มีหลายโรงแรมปิดกิจการไป โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปหลายแห่ง ที่ปิดตัวไปตอนมีปัญหา ก็น่าเห็นใจนะครับ เพราะค่าใช้จ่ายของการเปิดให้บริการในช่วงนั้น มันไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับเลย ปิดดีกว่าเปิดครับ เจ็บตัวน้อยหน่อย แต่ก็เชื่อว่า ช่วงนี้ก็เริ่มมีหลายร้านหลายโรงแรมที่ทยอยเปิดใหม่กันแล้วละครับ แม้อาจจะไม่ใช่ชื่อเดิม หรือผู้ประกอบการอาจจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังพอรับได้ครับ อาหารอาจจะไม่ได้ดีเหมือนในยุคที่เฟื่องฟู ก็ยังดีกว่าหาที่ทานไม่ได้ครับ
 

สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผมก็เริ่มเห็นมีการกลับมาเปิดใหม่กันแล้วเช่นกัน มีการบูรณะปฎิสังขรณ์กันใหม่หลายที่ครับ ทุกคนต่างรอคอยให้นักท่องเที่ยวกลับไปเที่ยวกันอีกครั้งนะครับ ที่สนามบินแมงกะลาดอง กรุงย่างกุ้ง ด้านในสนามบินร้านรวงที่เคยเปิดขายสินค้ากันคึกคัก ก็ปิดกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายสินค้าแบรนด์เนม ที่เมื่อก่อนหน้านี้ บริษัทของสิงค์โปร์เขาเคยได้สัมปทานไป ก่อนหน้านั้นก็ขายไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ ตอนนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เขาจึงจำเป็นต้องปิดตัวลงไปเลยครับ

ตอนนี้ก็เห็นเปิดเพียงร้านขายเหล้าบุหรี่เป็นหลักแล้วละครับ ส่วนร้านอาหารภายในสนามบิน หลังจากเช็คอินเข้าไปด้านในแล้ว เมื่อก่อนนี้เราจะเลือกทานอาหารได้หลายร้านเลย วันนี้เหลือเพียงสองร้านเท่านั้น ครั้งที่ผ่านมา ผมไปนั่งสั่งอาหารก็มีเมนูให้เลือกไม่กี่อย่าง พอที่จะทานได้ก็เป็นโมฮินงา หรือขนมจีนเมียนมาเท่านั้น ราคาก็ถูกกว่าเดิมมาก อันนี้น่าจะเป็นเพราะอานิสงส์จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ตกลงไปมากกว่าครับ
 

ส่วนที่เมืองมัณฑะเลย์ ผมยังไม่ได้มีโอกาสไปอีกครั้ง แต่ก็ได้รับทราบจากอาจารย์เปิ้ลว่า ท่านได้ไปบวชเป็นพระภิกษุณีที่นั่น และท่านได้ไปดำเนินการถากถางหญ้าและบุกไปฟันป่าที่รกรุงรังที่สุสานลินซินกง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสุสานที่ฝังพระศพของพระเจ้าอุทุมพร เพราะพระองค์ท่านทรงถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับเชลยศึก เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งสุสานดังกล่าวนี้ ประดิษฐานอยู่ที่อมรปุระ อยู่ห่างจากสะพานอุเป่ง ไม่ไกลนัก เดินประมาณไม่ถึง 15 นาที ต้องนับว่าเป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ ของโยเดียเราเลยครับ  
 

อาจารย์เปิ้ลท่านช่วงที่ผ่านมา จึงรวบรวมปัจจัยนำไปว่าจ้างกลุ่มแรงงานเมียนมา มาบำรุงรัษาและซ่อมแซมระบบน้ำปะปา เพื่อนำมารดต้นไม้ใบหญ้า และทำหลังคาคลุมส่วนของเจดีย์ ที่หักพังไปบ้างส่วนเท่านั้น ซึ่งก็ทำได้เท่าที่พระภิกษุณีจะทำได้เท่านั้นแหละครับ หากประเทศเมียนมาเปิดประเทศอีกครั้ง คงจะมีพวกเราชาวไทยรู้และเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ เข้าไปเยี่ยมชมกันใหม่อีกครั้ง ส่วนตัวผมเอง คงต้องขอเข้าไปกราบสุสานอีกสักครั้งแหละครับ