นับถอยหลัง “รัฐบาลประยุทธ์ 2”

26 ก.พ. 2566 | 02:17 น.

นับถอยหลัง “รัฐบาลประยุทธ์ 2” : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3865

***คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3865 ระหว่างวันที่ 26 ก.พ. – 1 มี.ค. 2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** เป็นที่แน่นอน และชัดเจนแล้วว่า การเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.2566 เพราะผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมายืนยันหลังการประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กำหนดการการ “ยุบสภา” จะมีภายในเดือนมีนาคม 2566 ส่วนกรอบเวลาเลือกตั้งเป็นไปตามที่คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประกาศไว้คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้เวลาภาคส่วนต่างๆ ได้ดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยมากที่สุด เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความเรียบร้อย และระหว่างนี้ขอให้รัฐมนตรีและส.ส.ช่วยกันพิจารณากฎหมายที่คั่งค้างอยู่หากเป็นไปได้ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญที่เสนอไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวมถึงการปฏิรูปต่างๆ

*** ในเวลาต่อมาก็มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตัดสินใจที่จะยุบสภาช่วงกลางเดือนมีนาคม โดยถือฤกษ์ “วันธงชัย” ในวันที่ 15 มี.ค.2566 ซึ่งตรงกับวันพุธ ถือเป็นวันฤกษ์ดี ตามความเชื่อจีนโบราณ วันธงชัย ถือเป็นวันสำคัญที่เชื่อกันว่าหากทำสิ่งใดในวันนี้มีเกณฑ์ที่จะประสบความสำเร็จ การงานเจริญรุ่งเรืองไม่ว่าจะเป็นการขึ้นบ้านใหม่ การเริ่มต้นกิจการ การออกรถ หรือ การคลอดบุตรก็จะถือเป็นเสริมสิริมงคล เสริมชีวิตให้กับดวงชะตาทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่นิยมเลือก “วันธงชัย” เป็นฤกษ์ดีในการประกอบพิธีมงคล และ เริ่มต้นสิ่งใหม่ ก็ไม่น่าแปลงใจอะไร ถ้าจะเอาฤกษ์เอาชัย 15 มี.ค. “วันธงชัย” เป็นวันยุบสภา เพราะ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์” ก็มีความเชื่อเรื่อง “ฤกษ์พานาที” อยู่แล้ว อีกทั้งว่ากันว่า ได้มีการหารือกับ กกต. มาก่อนหน้านี้แล้วทั้งเรื่อง “วันยุบสภา” และ ความพร้อมในการจัดเลือกตั้ง

*** เมื่อวันเวลาเลือกตั้งลงล็อก 7 พ.ค.2566 แล้ว ไปดูไทมไลน์ที่จะทำให้ได้ “รัฐบาลใหม่” กันหน่อย เมื่อมีการยุบสภา ไม่เกิน 15 มี.ค. และเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.2566 แล้ว ต้นเดือน ก.ค. กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. จากนั้นช่วงกลางเดือน ก.ค. เปิดประชุมสภาฯ ตั้งประธานสภาฯ ช่วงปลายเดือน ก.ค. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยาวไปถึงปลายเดือน ก.ค. โปรดเกล้าฯ ตั้งนายกฯ ช่วงต้นเดือน ส.ค.2566 แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์แล้ว จึงจะถือได้ว่า ได้รัฐบาลใหม่สมบูรณ์ พร้อมบริหารประเทศต่อไป

ส่วน “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ก็ยังมีเวลาบริหารประเทศอีกราว 1 เดือนครึ่ง บวกกับเป็นรัฐบาลรักษาการอีก 3 เดือน รวมแล้วมีเวลา 4 เดือนครึ่ง ก่อนที่ “บิ๊กตู่” และคณะจะพ้นหน้าที่ในการบริหารประเทศ ส่วนว่าหลังเลือกตั้งแล้ว จะได้นายกฯ ใหม่ คนที่ 30 เข้ามารับช่วงต่อ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ยังจะได้เข้ามานั่งเป็นนายกฯ คนที่ 29 สมัยที่ 3 อยู่เหมือนเดิม ก็ไปรอลุ้นกันหลังปิดหีบหน่อยบัตร ในวันที่ 7 พ.ค. และผลการนับคะแนนออกมาแล้ว...

*** แต่ก่อนจะไปถึงการ “ยุบสภา” 15 มี.ค. ซึ่งรัฐบาลเหลือเวลาประชุม ครม.อีก 3 ครั้ง ก่อนจะเข้าสู่สถานะ “รัฐบาลรักษาการ” คือ วันอังคารที่ 28 มี.ค., 7 มี.ค. และ 14 มี.ค.  พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้สั่งการได้มอบหมายให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง เร่งกลับไปจัดทำรายละเอียดโครงการเร่งด่วนมาเสนอ ครม.ภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ โดยจะต้องเป็นโครงการสำคัญจริง ๆ เช่น โครงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน การจ่ายเงินในโครงการตามนโยบายรัฐบาล รวมไปถึงโครงการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากหน่วยงานเสร็จสิ้นแล้ว

เพราะหลังจากนายกฯ ยุบสภาแล้ว รัฐบาลจะมีข้อจำกัดในการพิจารณาอนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่ไม่สามารถทำได้ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ดังนั้นในช่วงที่เหลือจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องเร่งเสนอโครงการเข้ามาโดยด่วน

                                 นับถอยหลัง “รัฐบาลประยุทธ์ 2”

*** เมื่อเป็น “รัฐบาลรักษาการ” อะไรทำได้-ไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 กำหนดไว้ว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุของสภาฯ ครบวาระ หรือ มีการยุบสภา และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2. ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือ เงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

3.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือ บุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด อันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด …

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังคงรักษาการอยู่ ซึ่งหากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลสามารถที่จะออก พ.ร.ก. ระหว่างนี้ได้ ส่วนเรื่องของ พ.ร.ฎ.ที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงต่าง ๆ นั้นก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน

*** ไปปิดท้ายที่... วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย แสดงความเห็นถึงกรณีที่รัฐบาลจะยุบสภาให้มีการเลือกตั้ง 7 พ.ค.2566 ว่า เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานักลงทุน ที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย

ส่วนจะเกิดสุญญากาศในช่วงที่ไม่มีรัฐบาล หรือ มีรัฐบาลรักษาการนั้น ภาคเอกชนไม่ห่วง เพราะเชื่อว่าโครงการใหญ่ๆ ที่สำคัญน่าจะถูกผลักดันให้มีการลงนามก่อนจะมีการยุบสภาแน่นอน และหากจะเกิดสูญญาณกาศน่าจะเป็นช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น

ในเชิงระหว่างประเทศมองน่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่นักลงทุนมองเข้ามาในเรื่องของการมีประชาธิปไตย ว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ก่อเกิดความขัดแย้ง เป็นเวลาและโอกาสของประชาชนที่จะเลือกผู้แทนเข้ามาพัฒนามาบริหารประเทศอย่างไร

และเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลจะสามารถจัดตั้งได้ เพราะรอบนี้มีการแข่งขันที่ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์มาใช้ในการหาเสียง เอาผลงานมาแข่งขันมากกว่าสาดโคลนใส่กัน  ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนเองก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่ ในการเดินหน้าพัฒนาประเทศด้วยกัน…