จับตาโค้งสุดท้ายรัฐบาล ทิ้งทวน “เมกะโปรเจกต์”

17 ธ.ค. 2565 | 22:14 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3845 ระหว่างวันที่ 18-21 ธ.ค. 2565 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
 

*** นับถอยหลังเหลือเวลาอีกราว 2 สัปดาห์ ก็จะสิ้นปี 2565 จาก ปีขาล หรือ เสือ เข้าสู่ 2566  ปีเถาะ หรือ “กระต่าย” วัน เวลา ช่างเดินเร็วจริง ๆ และ คนที่จะรู้สึกว่า วัน เวลา เดินเร็วกว่าใครเพื่อน ก็น่าจะเป็น ลุงตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นช่วงขีดฆ่าวัน เวลา ไปทีละวัน ที่ใกล้จะเข้าถึงวันที่ 23 มี.ค.2566 เข้าไปทุกขณะ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของ “รัฐบาลประยุทธ์ สมัย 2” หากไม่ “ยุบสภา” เสียก่อน หลังจากมีการเลือกตั้งกันมา เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ก็จะครบ 4 ปี ตามวาระ 23 มี.ค.2566 นั่นเอง
 

***  สำหรับสถานการณ์ของ “ลุงตู่” หลายคนก็อาจจะยังสับสนอยู่ว่า จะ “ไปต่อ” หรือ “ไม่ไปต่อ” เพราะยังไม่มีการประกาศออกมาเป็นทางการแบบชัด ๆ ชัดถ้อย ชัดคำ เสียที แต่หลายคนก็เชื่อว่ายังไง ๆ ก็ เล่นการเมืองต่อแน่นอน เพราะคงยังไม่ลงจาก “หลังเสือ” เอาตอนนี้แน่ๆ ส่วนจะได้กลับมาเป็นผู้นำ ในฐานะ “นายกฯ สมัย 3” อีกหรือไม่ ในทางการเมืองนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน แม้ว่าจะกุมความได้เปรียบ เพราะมี “250 ส.ว.” ซึ่งจะมีส่วนร่วมโหวตเลือกตั้งนายกฯ ในสภา อยู่ในมือก็ตาม
 

*** ยิ่งผลโพลล่าสุดที่สำรวจออกมา พรรคที่จะสนับสนุน “ลุงตู่” ให้ได้คัมแบ็ก ความนิยมก็ดูจะตามหลังพรรคอื่นๆ อยู่มากโข โดยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2565 “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “6 พรรคกับโอกาส ได้เป็นรัฐบาล”สำรวจระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค.65 จากทั่วประเทศ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง พบว่า

 

1.พรรคเพื่อไทย (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว/น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) นำมาเป็นอันดับแรก ร้อยละ 40.38 ชี้ว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 32.44 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 16.88 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 8.24 ระบุว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน และร้อยละ 2.06 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

2.พรรคก้าวไกล (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ร้อยละ 31.45 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา ร้อยละ 30.23 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 11.00 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน และร้อยละ 3.66 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 

*** 3.พรรคพลังประชารัฐ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ร้อยละ 33.51 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 32.60 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 20.38 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 10.76 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน และร้อยละ 2.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

4.พรรครวมไทยสร้างชาติ (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค/ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ร้อยละ 43.12 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 31.45 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 15.73 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 5.73 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน และร้อยละ 3.97 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 

 

5.พรรคภูมิใจไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล) ร้อยละ 39.16 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา ร้อยละ 30.84 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 21.60 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 4.96 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน และร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

6.พรรคประชาธิปัตย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ร้อยละ 40.69 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา ร้อยละ 38.93 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 13.20 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 4.58 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอนและร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 
 

และเมื่อถามความคิดเห็นต่อกระแสข่าวข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ กับ เพื่อไทย ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ร้อยละ 45.65 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะเป็นเพียงแค่กระแสข่าวลือ โอกาสเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน รองลงมา ร้อยละ 29.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะทั้ง 2 พรรคต่างต้องการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของตนเอง จึงไม่น่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้

 

ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองพรรคจะตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ร้อยละ 5.19 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยเคยมีความสัมพันธ์กันในอดีต จึงอาจมีการหารือเพื่อตกลงเรื่องผลประโยชน์หากได้เป็นรัฐบาลร่วมกัน และร้อยละ 3.28 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
 

*** เมื่อเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล และกำลังเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” จึงเป็นที่น่าจับตาว่าจะมีการเร่งอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ ที่จะเป็นการสั่งสม “กระสุน” ไว้เป็นพลังในการชิงความได้เปรียบทางการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวงแถวราชดำเนิน ที่นอกจากจะได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2566 ในสัดส่วนที่สูงและกระจุกตัวบางพื้นที่แล้ว ยังมีหลายโครงการ มีลักษณะการประมูลโครงการ อาจส่อไปในทางผิดปกติ

 

เริ่มจาก “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” มีความพยายามผลักดันผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ให้ได้โดยเร็ว แบบไม่สนเสียงค้าน เพื่อต้องการลงนามสัญญาก่อสร้าง ท่ามกลางข้อคัดค้านว่าจะเสีย “ค่าโง่ 6.8 หมื่นล้าน” ที่อาจทำให้รัฐเสียหาย ในการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างต่างกันมหาศาล ระหว่างการประมูลรอบแรกและรอบที่สอง 
 

ไม่เพียงเท่านั้นว่ากันว่า ยังมีความพยายามผลักดัน “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3” วงเงินลงทุนราว 36,829 ล้านบาท ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ ทอท. (AOT) ซึ่งผ่าน ความเห็นชอบครม. เมื่อ 28 พ.ย. 2565  ก่อนที่ผู้บริหาร ทอท.คนสำคัญ จะหมดวาระลงในเดือน เม.ย. 2566

 

รวมถึงยังมีโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องเร่งรัดอนุมัติโครงการเพื่อผูกพันงบประมาณโครงการ 70-80% ของโครงการทั้งหมด ทั้งโครงข่ายถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ฯลฯ ซึ่งงบประมาณปี 2566 หน่วยงานในกระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรวงเงิน 229,119 ล้านบาท

 

โดยหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรมากที่สุด คือ กรมทางหลวง (ทล.) 118,837 ล้านบาท, เงินนอกงบประมาณ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 47,160 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 22,727 ล้านบาท, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  21,524 ล้านบาท และ กรมท่าอากาศยาน 5,194 ล้านบาท ...จับตาดูกันดีดี รับรองมี “ทิ้งทวน” แน่นอน
 

*** ปิดท้าย...ขอแสดงความยินดีกับ ซีอีโอ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) เป็นปีที่ 8 โดยมีคะแนนความยั่งยืนโดดเด่น 6 สาขา ด้านนวัตกรรม สิทธิมนุษยชน บรรจุภัณฑ์ สุขภาพและโภชนาการ การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ และความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งเป็นการตอกย้ำมาตรฐานความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม