ความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ของขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน

31 ส.ค. 2565 | 08:44 น.

ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์สำคัญ อันกล่าวได้ว่า เป็นปฐมบทของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน ที่นำโดยศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ผู้เป็นหัวหอกเริ่มต้น ออกมานำ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเรือนแสนเรือนล้านทั่วประเทศ ก่อการชุมนุม เดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการปกครองแบบประชาธิปไตย จากรัฐบาลทหารขณะนั้น จนได้รับผลสำเร็จและประสบชัยชนะ นำพาให้ประเทศไทยเริ่มกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง 
 

หลังจากที่การปกครองประเทศ ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยเผด็จการทหารมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ปี (2500-2516) ให้เป็นอันต้องยุติลงด้วยอำนาจและพลังสามัคคีของมวลมหาประชาชน
 

นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยจึงได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังที่จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งนี้เพื่อใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ของคณะทหารโดยรัฐธรรมนูญดังกล่าว มี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนั้น เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จึงถือได้ว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2517 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้มาและเกิดขึ้นด้วยการต่อสู้ของประชาชนโดยแท้จริง หรือจะเรียกว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ย่อมสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากด้วยเหตุผลที่มาดังกล่าว

 

รัฐธรรมนูญ 2517 ดังกล่าว ได้มีบทบัญญัติที่สำคัญคือ รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในหมวด 3 ว่า "ด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย" โดยไม่เคยมีบัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 มาก่อนแต่อย่างใด ซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองแลคุ้มครองประชาชนนั้นมีมากมาย เริ่มตั้งแต่ความเสมอกันทางกฎหมาย, ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย, สิทธิเลือกตั้ง, การนับถือศาสนา, สิทธิเสรีภาพในร่างกาย, เคหสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสิทธิเสรีภาพ ในการพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา และการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการรวมกันเป็นพรรคการเมือง รวมถึงสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ดังที่รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาให้การรับรองคุ้มครองไว้ อันเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่พึงมีบัญญัติไว้ในระบอบประชาธิปไตย
 

ถือได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2517 ฉบับนี้ เป็นต้นกำเนิดของการเมืองภาคประชาชนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนปัจจุบัน การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มมวลชนต่างๆ ไม่ว่าในนามกลุ่มหรือชื่ออะไร นำโดยใคร ที่มีโดยดาษดื่นในขณะนี้ ล้วนแต่มีสายธารต้นกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต นับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมาแทบทั้งสิ้น ดังนั้น หากจะพิจารณาการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของมวลชนกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาบทเรียนในอดีต มาประกอบการพิจารณากับการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ก็จะทำให้มองเห็นอนาคตของแต่ละกลุ่มได้โดยไม่ยากว่า การเคลื่อนไหวจะสำเร็จหรือล้มเหลว จะประสบชัยชนะหรือจะพ่ายแพ้
 

พิจารณาจากบทเรียนในอดีตและบทสรุป ที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ได้รับผลสำเร็จและประสบชัยชนะ ล้วนแต่มีปัจจัยสำคัญๆ ดังนี้คือ 
 

1.การเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องนั้นๆ มีประเด็นชัดเจนว่ามี "เหตุผลและความชอบธรรม อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ" ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ และการปกครองแบบประชาธิปไตย จากรัฐบาลเผด็จการ หรือ การเรียกร้องให้ยุติอำนาจ "ระบอบทักษิณ" ที่ทุจริตเป็นเผด็จการรัฐสภา โคตรโกง ทำลายต่อสถาบัน เมื่อชูประเด็นต่อสู้มวลชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ยินดีเข้าร่วมจึงเกิดพลัง การเคลื่อนไหวยึดถือแนวสันติ อหิงสา อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย 
 

2.การเรียกร้องและการเคลื่อนไหวในเรื่องใด หรือจะชูประเด็นข้อเรียกร้องอย่างไร ประชาชนต้องได้ประโยชน์ เป็นผลดีกับประเทศชาติ โดยต้องเป็นฉันทามติและความคิดเห็นร่วมกันของประชาชนจำนวนมากในสังคม ที่เห็นว่าเป็นเช่นนั้น มิใช่ยึดเอาแต่อัตตาของนักเคลื่อนไหว ดังปรากฎในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, การชุมนุมของพันธมิตร ฯ 2548-2551,หรือ การชุมนุมของ กปปส.ในปี 2557 เป็นต้น ล้วนดำเนินไปภายใต้หลักการนี้ จึงประสบชัยชนะ 
 

3. การเคลื่อนไหวของมวลชน แกนนำต้องรู้จักประมาณและประเมินตนเอง ต้องมีเหตุผลและต้องรู้จักความพอเหมาะพอสมควร รู้จักหยุด รู้จักรุกและถอยเป็น ดังตัวอย่าง กรณีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่เป็นเรื่องทางกฎหมาย มีกระบวนการยุติธรรมโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย ไม่ใช่ประเด็นที่จะใช้การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการกดดันเรียกร้องแต่อย่างใด 
 

เมื่อเรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองควรหยุด หรือกรณี การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องใช้กระบวนการทางรัฐสภาเป็นผู้เสนอ มิอาจใช้การเคลื่อนไหวทางเมืองมาเรียกร้อง กดดันนอกจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนแล้ว ยังถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคมและประชาชนอีกต่างหาก แถมไร้ความชอบธรรมอย่างยิ่ง ยิ่งเคลื่อนไหวก็เหมือนเอาหัวไปวิ่งชนกำแพง
 

การเคลื่อนไหวมวลชนทางการเมือง ที่ยึดหลัก "เป็นประโยชน์ มีเหตุผล มีความชอบธรรม และรู้จักประมาณประเมินตนเอง" เท่านั้น จึงจะประสบผลสำเร็จและได้รับชัยชนะ บรรดาพวกที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เอามัน สนองตัณหาทางการเมืองของตนแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่นิยมความรุนแรง กระทำการโดยไม่เคารพกฎหมาย หรือ พวกมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง เป็นเครื่องมือรับใช้ผู้อื่นในทางการเมือง ไม่ยึดมั่นในแนวทางและหลักการดังกล่าวแล้ว "การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองร้อยครั้ง ก็ต้องล้มเหลวพ่ายแพ้หลายร้อยครั้ง" เป็นแน่ 
 

จึงอยากขอเตือนคนที่คิดจะใช้การเคลื่อนไหวมวลชนทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองใดๆ ได้โปรดพิจารณาและสังวรณ์ในเรื่องนี้ รวมถึงประชาชนทั้งหลายที่คิดจะใช้สิทธิเสรีภาพของตน เข้าร่วมขบวนการทางการเมืองกลุ่มใดๆ ได้โปรดใช้วิจารณญาณ เพราะการชุมนุมมีความเสี่ยง จึงควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ ท่านอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนอื่น ติดคุกติดตะรางเสียอนาคตได้ จึงควรใช้การชุมนุมทางการเมือง เป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ 
 

เมื่อบ้านเมืองเรียกร้องต้องการ ความสามัคคีร่วมมือกันเสียสละ และเมื่อเป็นความถูกต้องชอบธรรมสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้โดยยืนอยู่บนเหตุผลและหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น ท่านจึงค่อยพิจารณาตัดสินใจ ท่านจึงจะแคล้วคลาด ปลอดภัยและได้รับชัยชนะครับ