อย่าเอาความถูกใจมาอยู่เหนือความถูกต้องตามกฎหมาย

23 ส.ค. 2565 | 22:00 น.

อย่าเอาความถูกใจมาอยู่เหนือความถูกต้องตามกฎหมาย : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ประเด็นที่ร้อนแรงทางการเมืองที่สุดในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ คงไม่มีเรื่องใดน่าสนใจมากไปกว่าเรื่อง วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าได้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ อันเนื่องมาจากมีผู้หยิบยกปัญหาข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ขึ้นมากล่าวอ้างและจุดเป็นประเด็นทางการเมืองไปพร้อมกัน 
 

จนนำไปสู่ประเด็นที่บรรดา ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันลงชื่อยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผ่าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ โดยฝ่ายค้านเห็นว่าระยะเวลา 8 ปี ของนายกฯ ได้ครบและสิ้นสุดลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้หรือไม่ เพราะ พลเอกประยุทธ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และหลังการยึดอำนาจนั่นเอง
 

ประเด็นตามคำร้องดังกล่าวนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้ตรวจและลงนามยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ณ วันนี้ก็ถึงมือศาลแล้ว กรณีจึงถือว่า คำร้องเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 
 

โดยตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 49 ศาลก็จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ โดยจะแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่าสามท่านเป็นผู้พิจารณาก็ได้ หรือจะแต่งตั้งให้มีมากกว่าหนึ่งคณะก็ได้ ทั้งนี้ก็ใช้เวลา 2-5 วัน ศาลก็จะมีคำสั่งเรื่องรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณา จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีต่อไปตามกระบวนการพิจารณาคดีตั้งแต่มาตรา 52 เป็นต้นไป 

 

และถ้าหากศาลเห็นว่า คดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัย ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวน หรือ ยุติการไต่สวนก็ได้ ตามมาตรา 58 ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจโดยอิสระของศาล ที่ใครๆ ก็มิอาจใช้อำนาจใดไปกดดันข่มขู่บังคับท่านได้ ซึ่งก็คงต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนหรือมากน้อยตามดุลยพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล
 

การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านก็ดี การดำเนินการตามกระบวนพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ล้วนเป็นการดำเนินการไปภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผลการพิจารณาคดีและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่าย ทุกองค์กรย่อมต้องผูกพันและให้ความเคารพโดยถือว่าเป็นที่สุด เป็นที่ยุติ ใครจะไม่เคารพ ไม่ยอมรับ ก่อเหตุจลาจลวุ่นวาย ประท้วงคัดค้านใดๆ ย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่ออำนาจศาล ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีและได้รับโทษตามกฎหมาย นี่คือหลักการของบ้านเมือง ที่ทุกคนต้องเคารพและยอมรับ บ้านเมืองของเราจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยความความสงบเรียบร้อย
 

ปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและน่าห่วงใยที่สุดขณะนี้ก็คือ การที่มีคนจำพวกหนึ่ง อาจมีหลายกลุ่มย่อยๆ รวมถึงฝ่ายการเมืองบางกลุ่มบางฝ่ายบางพรรค พยายามเอาเรื่องความถูกใจ ความไม่พอใจ ต่อรัฐบาล หรือ ต่อตัวนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งมานานหลายปีก็ดี หรืออ้างความรู้สึกว่าเบื่อในการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ก็ดี อันเป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนตัว หรือเอาความถูกใจไม่ถูกใจ ความชอบหรือไม่ชอบนายกรัฐมนตรี อันเป็นความคิดเห็นทางการเมือง มาอยู่เหนือกฎหมายสูงสุดของประเทศ 

 

หรือที่ตุลาการบางท่านออกมาตำหนิคนจำพวกนี้ว่า พยายามใข้ศาลเตี้ยหรือกฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ก็เพราะยังไม่ทันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับคำร้องไว้พิจารณา กระบวนการพิจารณาและการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญยังไม่เริ่มต้น พวกเขาก็ทำตนเป็นตุลาการศาลเตี้ย วินิจฉัยเองตัดสินคดีเองไปเสียก่อนแล้วว่า นายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแน่ๆ ไม่ควรอยู่บริหารประเทศต่อไป จะเกิดความเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้ กระทั่งออกมาเสือกไสไล่ส่ง โดยมิได้เคารพความเห็นของคนส่วนใหญ่ ไม่เคารพกระบวนการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด 
 

การที่นายกฯ ยังอยู่บริหารประเทศ กับสภาวะการที่ไม่มีนายกฯ อันไหนบ้านเมืองจะเสียหายมากกว่ากัน พวกเขาไม่ได้คิด ขอเพียงไล่ให้นายกฯ พ้นๆไปจากตำแหน่งก็พอใจแล้ว โดยไม่คิดว่าหลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง อาจเสียหายมากยิ่งกว่าก็ได้ จากพวกอีแอบที่รอเสวยอำนาจ
 

ดังนั้น การพิจารณาปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่วิญญูชนทั้งหลายจะได้ใช้วิจารณญาณของตน พิจารณาให้ดี ต้องแยกแยะเรื่องความถูกใจกับความถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมิอาจเป็นเรื่องเดียวกันได้ การตีความกฎหมายและการวินิจฉัยคดีของศาล ย่อมมีเหตุผลจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ประกอบดุลยพินิจขององค์คณะตุลาการผู้พิจารณาคดี ซึ่งอาจถูกใจหรือไม่ตรงใจบรรดาคอการเมืองโดยทั่วไป หรือประชาชนบางคน บางพวก บางกลุ่มได้ 
 

แต่ศาลก็มีหลักการวินิจฉัยและการพิจารณาคดีที่ต้องยึดหลักกฎหมาย หลักรัฐธรรมนูญ ยึดถือประโยชน์ของมหาชนเป็นสำคัญ และนอกจากนี้ตุลาการแต่ละท่านยังจะต้องมีคำวินิจฉัยเป็นส่วนตน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าอ่านและรับทราบเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นๆ ได้ อันเป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่ยอมรับกันในทางสากล ซึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามสิทธิ เสรีภาพ ภายใต้กฎหมายย่อมกระทำได้ แต่จะกระทำเกินเลยขอบเขตของกฎหมายย่อมไม่ได้โดยเด็ดขาด
 

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องออกมาไล่ พลเอกประยุทธ์ โดยอ้างเหตุตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ตนเองเป็นผู้ตัดสินว่าครบ 8 ปีแล้ว อยู่ต่อก็ขัดรัฐธรรมนูญโดยที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย เพระการกระทำของกลุ่มบุคคลเหล่านั้น เท่ากับออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม ขับไล่รัฐบาลด้วยเรื่องทางการเมือง ที่อาศัยผสมโรงและกดดันศาลในระหว่างพิจารณาคดีเท่านั้น หรือทำตนเป็นเครื่องมือให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น จึงมิใช่การชุมนุมตามเจตนารมณ์ของมวลชนส่วนใหญ่ ที่ต้องการเคารพกฎหมายและหลักการของบ้านเมือง
 

อันที่จริงอย่างไรเสีย เมื่อครบวาระ 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566 พลเอกประยุทธ์ ก็ต้องพ้นตำแหน่งอยู่แล้ว หรือถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯ สิ้นสุดลงเมื่อใดเมื่อนั้น นายกฯ ก็ต้องลงจากอำนาจยุติบทบาทความเป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายอย่างมิอาจขัดขืนได้ การเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปตามวิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่จะอาศัยม็อบ หรือการชุมนุมทางการเมือง ก่อเหตุจลาจลวุ่นวายใดๆ มาเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงมิใช่วิถีทางที่ถูกต้องในโลกยุคปัจจุบัน 
 

ประชาชนผู้อ้างว่ารักประชาธิปไตยทั้งหลาย จึงไม่ควรตั้งตนเป็นศาล เอากฎหมู่มาข่มขู่ตุลาการ โดยยึดความถูกใจตนเป็นที่ตั้ง อยู่เหนือความถูกต้องตามกฎหมาย เพราะนั่นมิใช่วิถีทางของคนในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นนายกฯ ของ พลเอกประยุทธ์ ครบ 8 ปี ในปี 2568 หรือ 2570 ก็ตามแต่ ก็เป็นสิทธิของนายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาล ส่วนท่านจะได้เป็นนายกฯอีกหรือไม่ ต้องไปตัดสินกันที่การเลือกตั้งครั้งต่อไปมิใช่หรือ ก็ในเมื่อมั่นใจว่าจะ แลนด์สไลด์ ถล่มทลาย จะไปกลัวอะไรกับนายกฯ อดีตนายทหารแก่คนหนึ่ง รักประชาธิปไตยจริงดังปากว่า ก็ไปวัดศรัทธากันในสนามเลือกตั้งสิครับ จะดีกับบ้านเมืองยิ่งกว่าปั่นกระแสปลุกม็อบมิใช่หรือ