KEY
POINTS
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์ พระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ เป็น พระราชญาณวัชรชิโนภาส พิลาสธรรมนาวานุสิฐ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ สถานศึกษาธรรม ป่านาโสกฮัง จังหวัดอำนาจเจริญ
ตามประกาศได้ปรากฏความว่า เป็นพระภิกษุ ซึ่งดำรงในสมณคุณยินดีในกัมมัฏฐานปฏิบัติ ทั้งสมถะและวิปัสสนา มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา มีปฏิปทา และวัตรปฏิบัติที่งดงามในการเผยแพร่พระสัทธรรมยึดมั่นในสัจจะวาจาลิขิต
ไม่มุ่งหวังโลกามิสและอิสริยยศสมณฐานันดร เมื่อความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระกรุณาโปรดให้ถวายธรรมส่วนพระองค์จึงได้ทรงเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนอันเป็นอริยสัจธรรม ทั้งได้สนองพระราชดำริถวายงานในพระองค์ จึงทรงมีพระราชทานในปฏิปทาและวัตรปฏิบัติ ของพระทวีวัฒน์จารุวณฺโณ เพื่อให้เป็นกำลังในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ฯลฯ
พระราชญาณวัชรชิโนภาส (ทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ) เผยแผ่ธรรมนำพาคนรุ่นใหม่เข้าสู่ธรรมะเป็นจำนวนมาก ด้วยแนวทางการปฏิบัติที่มุ่งเน้นอริยสัจธรรม ตลอดทั้งให้มีพระรัตนตรัยอยู่ในจิตใจอย่างแนบแน่น
ผู้คนในสังคมปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่อได้ศึกษาธรรม จากธรรมนาวาวัง และแนวทางการปฏิบัติของท่าน ต่างมีอาการดีขึ้น มองเห็นวิธีดูแลรักษาอารมณ์ของตัวเองที่ทำให้เกิดความทุกข์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยิ่งเข้าถึงเข้าใจและน้อมไปปฏิบัติตามได้ง่าย
อารมณ์ ที่เกิดขึ้น สามารถนำพาไปสู่ผลลัพธ์ของชีวิตได้หลากหลายเรื่องราว ดังนั้น ถ้าเรามีสติเท่าทันในการเฝ้าสังเกตจนรู้ว่า ว่าอารมณ์ใดกำลังเกิดขึ้นกับเรา ย่อมสามารถดูแลและพัฒนาอารมณ์ในฝ่ายนั้นไปสู่ภาวอารมณ์ที่เป็นกุศลได้ ด้วยปัญญาแห่งธรรม
การเป็นมหาเปรียญเป็นสิ่งที่ประเสริฐในทางกุศลที่จะช่วยเกื้อกูลธรรมต่างๆ ให้ดำรงคงไว้ด้วยอรรถและพยัญชนะ แต่ก็มิได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะเป็นบุคคลที่สามารถเข้าใจธรรมในเชิงปฏิบัติได้เสมอไป เพราะการเรียนรู้ท่องจำด้วยสัญญา คือ การรู้คิด รู้จำ มิใช่รู้ขัดรู้แจ้ง ด้วยเนื้อนาโพธิที่มาจากการปฏิบัติ
แต่ทั้งปวงก็ต้องดำเนินคู่กัน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพื่อผลลัพธ์จากการรู้และปฏิบัติ พระราชญาณวัชรชิโนภาส ดำเนินรอยตามคำสอนของพระศาสดาด้วยธรรมอันเรียบง่ายแลเข้าถึงแก่ชาวพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก การกลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือ ธรรมนาวาวัง พร้อมทั้งได้รับพระกรุณาโปรดพระราชทานภาพการ์ตูนจากฝีพระหัตถ์ ล้นเกล้ารัชกาลปัจจุบัน มาประกอบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดพิมพ์สำหรับพระราชทาน ทำให้เกิดเป็นกระแสธรรมวงกว้างมากขึ้นสำหรับผู้สนใจใฝ่ในธรรม
เคยมีผู้คนมาตั้งคำถามว่า ระหว่าง สมถะ กับ วิปัสสนา ส่วนไหนทำให้เข้าถึงธรรม บรรลุธรรม
เป็นคำถามที่ตั้งมาผิด ผมจึงมิได้ตอบคำถามนี้ แต่ถ้าถามว่าอะไรเกิดก่อนในขณะปฏิบัติธรรมระหว่างสมถะกับวิปัสสนา อันนี้มีประสบการณ์พอตอบได้
บางครั้งวิปัสสนาเกิดก่อนแล้วมาสมถะ บางครั้งสมถะเกิดก่อนแล้วมาวิปัสสนา และบางครั้งอีกเช่นกันทั้งสมถะและวิปัสสนาเจือกัน มาพร้อมกันเจือจนเป็นเนื้อเดียวกัน ภาวะเดียวกันก็มี
เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้.. ต้องบอกว่าเพราะธรรม คือ ความลงตัว ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งเพราะการสุดโต่งนั้น อาทิ สมถะมากแต่ขาดวิปัสสนาก็จะพาลุ่มหลงงมงายได้มาก วิปัสสนาอย่างเดียวไม่มีสมถะเลยก็จะฟุ้งซ่าน แต่ถ้ามีทั้งสองควบคู่จะสมถะก่อนวิปัสสนาหรือวิปัสสนาก่อนสมถะ หรือมาพร้อมกันย่อมทำให้ธรรมนั้นสุขุมคัมภีรภาพ
ธรรมที่ปรากฏในหนังสือ ธรรมนาวาวัง ที่ พระราชญาณวัชรชิโนภาส รวบรวมและเขียนขึ้นนั้น เป็นธรรมที่รวมทั้งสมถะและวิปัสสนาที่ฝึกแล้วน้อมนำมาใช้ได้จริงในปัจจุบันขณะของชีวิต