โยคะกับแพทย์ทางเลือกไทยสำหรับผู้สูงวัย

09 มิ.ย. 2566 | 22:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โยคะกับแพทย์ทางเลือกไทยสำหรับผู้สูงวัย โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสนั่งเสวนากับท่านปรมาจารย์ด้านโยคะ คือท่าน Bhagavan Shanmukha อีกครั้ง จากการช่วยเหลือของพี่เพชรสิงห์ ทำให้ได้รู้จักท่านมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของโยคะ ที่ผ่านๆ มาตัวผมเข้าใจผิด คิดไปเองว่าการฝึกฝนด้านโยคะ เป็นการฝึกฝนด้านกายภาพ ด้วยการนำเอาเรื่องการฝึกด้านจิตวิญญาณเข้ามาผสมผสาน อีกทั้งหากมองเผินๆ จะรู้สึกว่าแต่ละท่าของโยคะ จะต้องดัดร่างกายของเราอย่างหนัก จนทำให้คิดว่าคงจะไม่เหมาะสมต่อผู้สูงวัยอย่างพวกเรา 

แต่หลังจากได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่าน Bhagavan Shanmukha อีกครั้ง ทำให้ทุกความคิดนั้นแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงครับ เรื่องนี้ทำให้ผมได้นึกคิดถึงช่วงที่ผมเล่าเรียนเรื่องแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทย ซึ่งสอนโดยอาจารย์ ดร.นภัสรัญชน์ ฤกษ์เรืองฤทธิ์ ทำให้รู้เรื่องแพทย์ทางเลือก อันเป็นภูมิปัญญาของคนไทยเราในหลากหลายทาง จึงนำมาเปรียบเทียบกับโยคะ ที่มีรากฐานที่มาจากแหล่งเดียวกัน ทำให้ผมยิ่งสนใจที่จะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

ถ้าพูดถึงเรื่องของโยคะ ท่าน Bhagavan Shanmukha บอกเล่ากับผมว่า ในคำสอนของพระพุทธศาสนาเองก็มีเรื่องของ “โยคะ” อยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ก็มักจะนำเอาโยคะ มาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติเสมอ ในความเข้าใจของผม นี่อาจจะเป็นกุศโลบายในการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการนำเอาการฝึกโยคะ มาทำให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สุขภาพอารมณ์ ของผู้ฝึกดียิ่งขึ้นก็ได้ 

แต่ทางด้านฟากฝั่งตะวันตก ก็ตีความเข้าข้างฝั่งของตนเองว่า เรื่องของโยคะเขาก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนของลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นฝรั่งทั่วไปของท่านว่า เป็นเพราะอิทธิพลตะวันตกที่มีต่อพระพุทธศาสนา จึงเกิดการฝึกโยคะกัน ทำให้มุมมองลักษณะนี้ถูกยึดถือมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพโยคะในเอเชียบางส่วนเองก็เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันนี้การศึกษาสมัยใหม่ได้มีวิธีการสอนวิชาโยคะ โดยนำเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป 

โดยมีแนวคิดว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวตะวันตก ยังมีขอบเขตจำกัดมาก โดยเฉพาะพุทธศาสนาในประเทศไทยเรา ที่ฝรั่งไม่ค่อยมีใครรู้ว่า เป็นพุทธศาสนานิกายหินยาน และได้มีการนำเอาวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางเลือก (ซึ่งก็มีส่วนคล้ายกับอายุรเวท) เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษา 

โดยนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ในการช่วยเสริมสร้างสุขภาพทั้ง  3 ด้าน แล้วจึงนำเสนอออกมาเป็น การทำโยคะ การนวดแผนไทย (ที่มีทั้งแบบราชสำนักและแบบเชลยศักดิ์) มวยไทย (ที่ยังแตกแขนงออกไปเป็นอีกหลากหลายรูปแบบ) เหตุผลก็น่าจะเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการสาธารณสุขได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

นอกเหนือจากนี้ แนวคิดของชาวตะวันออก ที่ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกตอนเหนือ ที่มีทั้งจีน ญี่ปุ่นเอง ก็มีการนำเอาการฝึกโยคะ เข้าไปผสมผสานกับแนวคิดทางด้านลัทธิต่างๆของชาตินั้นๆ เพราะในอดีตการเข้าถึงเวชศาสตร์ในแนวทางวิทยาศาสตร์ ประชาชนตามชนบททั่วไปยังมีปัญหา ที่ส่วนใหญ่จะยังเข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์การแพทย์นั่นเอง ทำให้ต้องอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับแพทย์แผนโบราณหรือแพทย์ทางเลือก 

หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือวิทยาศาสตร์อินทรีย์ เพื่อนำมาทดแทนวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างไรก็ตาม ในโลกฝั่งตะวันตกเอง ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา หลังจากได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้สารเคมีต่างๆ ก็มีแนวคิดหันกลับมามองแพทย์ทางเลือกมากขึ้น จะเห็นได้เด่นชัดขึ้น ในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเราเอง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วิวัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน ได้การเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างแพร่หลาย ทำให้โรงพยาบาลต่างๆในยุคนั้น เริ่มที่จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือกเท่าที่ควร แม้ว่าในความเป็นจริงประเทศไทยเราเอง ก็มีศาสตร์การแพทย์ทางเลือก (ที่คล้ายๆ กับอายุรเวทของอินเดีย) ที่ใช้พืชอินทรีย์หรือสมุนไพรไทย มาเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆได้ดี 

อีกทั้งมีการนวดแผนไทยเข้าผสมผสานในการรักษา ซึ่งศาสตร์การรักษานี้ ก็สังเกตเห็นได้จาก การจับเส้น การนวด การคลึง การกด ที่มีส่วนคล้ายกับระบบการรักษาแบบ “Nadi” ของอินเดีย และ “การนวดแบบทุยน่า” ของการแพทย์แผนจีน โดยการรักษาในเชิงลักษณะเช่นนี้ ที่ประเทศอินเดียเองก็มีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีสันสกฤตของศาสนาพุทธ จึงสามารถอนุมานได้ว่า พุทธศาสนาในประเทศไทยเราตั้งแต่ดั้งเดิม เราก็มีศาสตร์การแพทย์ทางเลือก(การแพทย์อินทรีย์)นี้ เป็นพื้นฐานในการรักษาโรคทั่วไป ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีนั่นเองครับ 
     
จากคำบอกเล่าของท่าน Bhagavan Shanmukha ปรมาจารย์ทางด้านโยคะ ทำให้ผมสามารถรับรู้ได้ว่า ความเก่าแก่ของวัฒนธรรมการรักษาโรค และการเสริมสร้างสุขภาพของไทย มีความล้ำลึกมาแต่โบราณ นี่คือความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษของเรา จึงเป็นสิ่งที่เราควรภาคภูมิใจในศาสตร์โบราณนี้ 

นอกจากนี้ หากมีการนำเอาศาสตร์การแพทย์ทางเลือกของไทยเรา ทำการฟื้นฟูและประชาสัมพันธ์ออกไป ให้เหมือนกับที่แพทย์แผนจีนเขาทำกันมาช้านาน จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ คงจะสามารถสร้างมูลค่า และการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยได้ อีกทั้งนี่คือ “Soft power” ที่เราไม่ต้องลงทุนค้นคว้าให้มากมายเลย เพียงแต่จะต้องใช้แรงผลักดันอย่างจริงจัง ก็สามารถทำให้เกิดได้นั่นเองครับ

ในการร่วมนั่งเสวนากับท่าน Bhagavan Shanmukha ปรมาจารย์ทางด้านโยคะ ยังมีแนวคิดและปรัชญาของโยคะ ที่น่าสนใจอีกเยอะมาก เนื่องด้วยหน้ากระดาษมีน้อย คงจะต้องขออนุญาตเขียนต่อไปในคอลัมน์นี้เพิ่มเติม 

ซึ่งในตอนต่อไป ผมจะนำเอาสิ่งที่ท่าน Bhagavan Shanmukha ปรมาจารย์ทางด้านโยคะ และเรื่องของแพทย์ทางเลือกของไทยเรา ที่อาจารย์ ดร.นภัสรัญชน์ ฤกษ์เรืองฤทธิ์ ได้พร่ำสอนผมมา ต้องบอกว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทยชั้นแนวหน้าของประเทศท่านหนึ่ง นำมาเล่าให้อ่านกัน โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ