ผู้สูงวัยกับปัญหาหัวใจ

02 มิ.ย. 2566 | 21:35 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา ผู้สูงวัยกับปัญหาหัวใจ โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้นำเสนอเรื่องของโรคหัวใจของผู้สูงวัยออกไป ก็มีเพื่อนหลายคน ที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจอยู่ 2-3 ท่าน ได้ส่งไลน์มาพูดคุยด้วย อันที่จริงปัญหานี้กับผู้สูงวัย จะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ เช่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีเพื่อนรักท่านหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นถึงนายกเทศมนตรีของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่ง 

ไปขี่จักรยานออกกำลังกายที่บนดอย ปรากฏว่าเกิดอาการหายใจติดขัด เพื่อนที่ไปด้วยกันนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน ก็ต้องไปเข้าเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้เสียแล้ว ซึ่งเพื่อนคนนี้ ในอดีตเป็นเพื่อนรักที่เคยเรียนหนังสืออยู่บนดอยแม่สลองด้วยกันมาก่อน ก็ได้แต่เสียใจกับครอบครัวของเขาด้วยเท่านั้นครับ 
         
อาการของภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรือที่เรียกว่า Heart Failure (HF) ซึ่งผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะพบมากขึ้นตามวัย ซึ่งจากผลของการวิจัยฉบับหนึ่ง ที่ผมไปอ่านพบในนิตยสาร European Journal of Heart failure ในเรื่อง “Heart failure in elderly patients: distinctive features and unresolved issues” ซึ่งมีนักวิจัยหลายท่าน ร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นนี้ 

อันประกอบด้วย Valentina Lazzarini, Robert J. Mentz, Mona Fiuzat, Marco Metra, Christopher M. O'Connor เขาได้พบว่า ผู้สูงอายุที่มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มมากขึ้นตามวัยของผู้สูงอายุ สืบเนื่องมาจากเมื่ออายุมากขึ้น จำนวนและการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวจะมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมาก แม้ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอาสาสมัคร ที่ไม่มีหลักฐานว่าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 

กลไกพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมถึงเนื้อร้ายและการตายของเซลล์ที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการสร้างใหม่ของเซลล์ต้นกำเนิดของหัวใจลดลง วิธีนี้จะช่วยป้องกันการชดใช้อย่างเพียงพอ สำหรับการสูญเสียเซลส์กล้ามเนื้อหัวใจ (myocyte) ที่เกิดจากอายุที่สูงขึ้น หรือการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจและการขาดเลือด และการสูญเสีย cardiomyocytes ที่ทำงานได้รับการชดเชย โดยการเจริญเติบโตมากเกินไปของเซลล์ที่เหลือ จึงพอจะสรุปได้ว่า ผู้สูงวัยอย่างพวกเรา จึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้มากกว่าคนวัยหนุ่มวัยสาวนั่นเอง
       
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์ ได้ก้าวหน้ามาก เราสามารถตรวจดูว่าเรามีอาการดังกล่าวได้หรือไม่ จากการตรวจโรคประจำปี ที่ทุกๆ โรงพยาบาลล้วนมีบริการทางด้านนี้อยู่แล้ว หนึ่งในการตรวจโรคประจำปี ก็จะมีการตรวจหัวใจ ที่เราสามารถเลือกให้โรงพยาบาลตรวจได้หลากหลายวิธี เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กมาติดตามที่หน้าอก แขนและขา โดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะแสดงออกมาเป็นกราฟ 

ซึ่งแพทย์จะอ่านผลและวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือการให้ผู้เข้ารับการตรวจเดินหรือวิ่งบนสายพานเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ผลจะแสดงออกมาเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีกทั้งยังมีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมทดสอบด้วยการวิ่งบนสายพาน เช่น ผู้สูงวัยมากๆ  ผู้มีปัญหาด้านการเดิน วิธีนี้เป็นการตรวจเพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัวของหัวใจ 


ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบ-ตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดหัวใจ เพราะการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดง นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวายเฉียบพลัน จากการมีเส้นเลือดอุดตันได้ 

นอกจากนี้ยังทำให้เห็นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ด้วย ซึ่งหากตรวจแล้วหากแพทย์พบข้อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัดที่สุดว่ามีการตีบหรือใกล้ตันในจุดใด คือ การฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ ที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง
       
สำหรับผู้สูงวัยเมื่อพบว่ามีโรคหัวใจแล้ว ควรจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อีกประการหนึ่ง คือต้องกินยาชนิดต่างๆ ตามที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้องและครบถ้วน อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกที่มีไขมัน โดยเฉพาะไขมันที่ได้จากสัตว์ ต้องระมัดระวังอย่าตามใจปากโดยเด็ดขาด ต้องควบคุมอาหารให้ได้ เลือกกินอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น 

นอกจากนี้ ยังต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มั่นสังเกตดูน้ำหนักตัว อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วนจนเกินไป จำเอาไว้เสมอว่า เราต้องรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ด้วยสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี และอย่าปล่อยให้ความเครียดมาคุกคามเราโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้น อาจจะต้องเดินทางไปสวรรค์แน่นอน
     
โดยส่วนใหญ่แล้ว เพื่อนๆ ที่จากไปด้วยโรคหัวใจ เมื่อมีอาการของโรคหัวใจแล้ว มักจะประมาทเลินเล่อ ไม่ยอมไปพบแพทย์ตามวันและเวลานัดอย่างสม่ำเสมอ พอมีอาการหายใจติดขัด แน่นหน้าอก ก็แก้ไขไม่ทันการเสียแล้ว 

ดังนั้นเราในฐานะของผู้ได้รับสิทธิพิเศษ จากการที่เทวดาให้เราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้นานกว่าเพื่อนเราหลายๆ คนที่จากไปแล้ว ก็ควรต้องระมัดระวังตัวไว้ ด้วยการรู้ตัวเองว่า ต้องตรวจร่างกายได้แล้วนะ ห้ามผัดวันประกันพรุ่งโดยเด็ดขาดครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องอยู่ในโลกใบนี้นานจนเกินไป แล้วจะไม่มีเพื่อนคุยนะครับ เพราะผมยังต้องอยู่เป็นเพื่อนท่านอีกนานครับ