ผู้เฒ่าหัวใจอ่อนแอ

26 พ.ค. 2566 | 22:25 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา ผู้เฒ่าหัวใจอ่อนแอ โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงนี้มีเพื่อนที่เป็นผู้สูงวัยหลายท่าน ต่างก็เป็นโรคหัวใจ ยังกับว่ากลัวตัวเองไม่ทันสมัย จนกระทั่งต้องเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อทำบอลลูนบ้าง ผ่าตัดบ้าง บางท่านออกมาจากโรงพยาบาลไม่กี่วันก็เดินป๋อเชียว บางท่านก็ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะฟื้น หรือกว่าจะออกมาเอ้อระเหยลอยชายได้ ก็เล่นเอาแทบแย่ 

บางท่านก็ต้องใช้แบตเตอรี่ใส่ไว้ในหน้าอก เพื่อกระตุ้นหัวใจ ผมก็ได้แต่บอกว่า หัวใจอ่อนแอไม่เป็นไรหรอก ขอให้กระเป๋ากะตังค์แข็งแรงก็ใช้ได้แล้ว บางท่านก็อาการหนักมากจนหมอเอาไม่อยู่ ถึงกับต้องไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้เลยก็มีครับ 

วันนี้เลยขออนุญาตนำเอาเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ มาเล่าสู่กันฟัง ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่หมอนะ และไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย อย่าเข้าใจผิดนะครับ ดังนั้นกรุณาอย่าเชื่อผมมาก ถือว่าอ่านเล่นๆ ก็พอ เพราะตัวผมเองก็แค่ไปอ่านมาจากบทความบทวิจัยต่างๆ พอจะรู้เรื่องบ้างเท่านั้น เลยแค่ส่อรู้ไปเสียทุกเรื่องงั้นแหละ เอาเป็นว่าสนุกๆ ชิวๆ ก็พอครับ

ก่อนอื่นเรามารู้จักหัวใจของเราก่อนว่า จะมีกี่โรคที่เรามีโอกาสเป็นได้มาก ก็จะมี

1) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักนิยมเป็นกันมาก เนื่องจากเมื่ออายุเรามากขึ้น สภาวะไขมันในเม็ดเลือดเข้มข้น ก็จะมีโอกาสเป็นไปได้มาก เพราะส่วนใหญ่เราคิดว่าเรายังหวานไม่พอ เลยชอบเติมความหวาน จากน้ำตาลลงไปในอาหารเป็นหลักเลย จึงทำให้เกิดโรคเบาหวานก่อน แล้วจึงได้ของแถมเป็นโรคหัวใจตามมา อีกอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ชอบสูบบุหรี่ อันนี้ก็จะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่สูบครับ ไม่ใช่ผมมั่วพูดเองนะครับ อันนี้อ่านมาจากผลงานวิจัยหลายๆ ฉบับ 

เพราะเป็นเรื่องที่นักศึกษานิยมทำงานวิจัยส่งอาจารย์มากเป็นท็อปเทนกันเลย ผลที่ได้จากงานวิจัยจะมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะรับของแถมนี้ครับ อาการที่จะทราบว่าเป็นหรือไม่เป็นโรคหัวใจ ที่สังเกตเห็นได้ง่าย ๆ คือมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก อึดอัด เหมือนมีสิ่งกดทับอยู่กลางอก เหนื่อยง่าย หรือชอบหายใจถี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้นครับ 

ที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนแก่อย่างพวกเรา มักจะไม่รู้ตัวว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากอาการตีบตันของเส้นเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจนี้ อาจเป็นแบบฉับพลันทันด่วน จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Heart Attack)ได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องไปเข้าเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้จึงมีสูงมาก ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมครับ

2) โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) มักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็จะเป็นมาโดยกำเนิด ส่วนที่มาเป็นหลังจากกำเนิดแล้ว ก็เหมือนๆ กับอาการแบบแรกนั่นแหละครับ คือมีโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน จนทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้สูงวัยอย่างพวกเรา ที่มีการตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำ ถ้าพบผิดปกติ ก็ลองถามคุณหมอดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ก็จะเป็นการดีนะครับ แต่ผมคิดว่าคุณหมอท่านก็จะบอกพวกเราอยู่แล้วครับ

3) โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy) อาการดังกล่าวนี้ เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด มักจะมาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งก็จะทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจก็จะลดลง ความดันในห้องหัวใจก็สูงขึ้น ก็จะส่งผลทำให้ห้องหัวใจโต หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็นโรคหัวใจโต โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง จะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัด แต่ก็มีบางรายที่เกิดภาวะน้ำท่วมปอด ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยในระยะที่อันตรายแล้วทั้งสิ้นครับ 

4) โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) จะเป็นสภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวลดลง ส่งผลต่อไปถึงการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ลดลงตามไปด้วย อีกทั้งยังมีผลทำให้การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ และเกิดเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีอาการที่สังเกตได้ จากการมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ขาบวมเท้าบวม ใจสั่น ใจเต้นเร็ว รวมถึงใจเต้นผิดจังหวะ ทางที่ดีและถูกต้องที่สุดคือพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พวกเราผู้สูงวัยต้องไม่ควรมองข้าม อาการที่เกิดลักษณะนี้กับตัวเองนะครับ
      
นอกจากนี้ ยังมีโรคหัวใจชนิดต่างๆ อีกหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว ที่เรามักจะได้รับฟังกันมา อย่างไรก็ตาม เอาแค่โรคหัวใจที่คนแก่อย่างพวกเราชอบเป็นกัน ก็น่ากลัวแล้วครับ ดังนั้นเราต้องห่างๆ มันหน่อยก็จะดีที่สุดครับ มิเช่นนั้นอาจจะต้องติดตามเพื่อนๆ ไปเข้าเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ก็ได้ ช่วงนี้ผมยังไม่ว่างเลย งานยุ่งมากๆ เลยยังไม่ค่อยอยากจะเข้าเฝ้าท่านครับ