ซานติเอโก้ เดอ Compostela จาริกไปทุ่งแห่งดวงดาว

07 เม.ย. 2566 | 21:05 น.

ซานติเอโก้ เดอ Compostela จาริกไปทุ่งแห่งดวงดาว คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

วานนี้ท่านผู้มีรสนิยมในน้ำองุ่นชวนกันเปิดขวดตราหอยพัดชิมรสกัน ก็ให้ระลึกถึงว่าพระฝรั่งเขาถนัดทำไร่องุ่นทำไวน์ เพราะในพิธีการฝ่ายท่านเหล่านั้นของเหลวกำมะหยี่สีแดงเข้มนี้มันถูกตีความและใช้งานเปนรูปจำลองพระโลหิตแห่งพระเยซูเจ้า ส่วนตัวหอยพัดนั้นเล่าจริงแล้วก็เปนหนึ่งในสัญลักษณ์ของการจาริกแสวงบุญ จึงสมควรได้เขียนเล่าสู่ท่านผู้อ่านกันสักคราวหนึ่ง
 
นานมาแล้วครั้งเมื่อสมัยพระเยซูเจ้าท่านละสังขารผู้คนที่เลื่อมใสก็คิดถึงโหยไห้ อยากจะไปกราบกรานสัมผัสพระบารมีที่ยังสถิตอยู่ในรูปแบบต่างๆ ก็พากันออกเดินทางไป ‘แสวง’ เมื่อพบแล้วก็ถือเปนกิริยาได้ ‘บุญ’คำไทยก็เลยว่า ไปแสวง_บุญ ดังนี้
 
เส้นทางแสวงบุญหลักๆของคริสตชนก็มักนิยมไปกันสามเส้นทาง ทางแรกคือไปเยรูซาเล็มถิ่นต้นทางศาสนา ทางที่สอง ไปกรุงโรม ไปสักการะสุสานของเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งผู้เคร่งครัดจริงๆยามจาริกไปทางสายนี้ท่านจะแบกกางเขนไปด้วย ทางที่สามที่น่าสนใจ คือไป ซานติเอโก้ เดอ กอมโปสเตลล่า คือว่าไปทุ่งดวงดาว_compostela ที่สวยงามน่ารื่นรมย์ ปัจจุบันนี้ตั้งนิคมอยู่ในสเปญ

ฉบับนี้จึงจะชวนท่านไปจาริกแสวงบุญผ่านตัวอักษรบนเส้นทางสายที่สามนี้เสียก่อน
 
ซานติเอโก้ เดอ กอมโปสเตลล่าที่ว่านี้ แท้แล้วคือสุสานฝังศพนักบุญสำคัญร่วมสมัยพระเยซูเจ้าท่านหนึ่ง คือ เซนต์เจมส์ อัครสาวก ซึ่งคนสเปญท้องถิ่นออกเสียงว่า ซานเตียโก้ ส่วนวิธีการผันเสียงจากเจมส์ เปน เตียโก้ เกิดขึ้นได้อย่างไร จะขอลำดับความไว้ดังนี้..
 
ชื่อนามของท่านนักบุญเจมส์ อิตาเลียนเรียก Saint Jacobo เยอรมันว่า Sankt Jakob ฝรั่งเศสว่า St. Jaques จ๊าคส์ ละตินโบราณว่า Santi lacobi สเปญจึงว่า San Tiago เปนลำดับมาดังกล่าว เซนต์เจมส์นี้ นับถือกันว่าท่านเปนผู้วิเศษอย่างหนึ่ง 

ศพของท่านสำแดงปาฏิหาริย์หลายประการ และในเวลาที่สเปญเปนจักรวรรดิครองโลกนั้น ท่านได้รับยกย่องเปนนักบุญผู้คุ้มครองจักรวรรดิ เคยมีผู้พบเห็น(ดวงวิญญาณ)ท่านนั่งหลังม้านำผู้คนออกไปขับไล่ศัตรูด้วย
 
ผู้คนทั้งหลายที่นับถือท่าน ซึ่งครอบคลุมไปถึงคริสตชนนิกายต่าง และ เผ่าความนับถืออื่นๆ ฤาษีชีไพร hermit พากันดั้นด้นมาสักการะท่าน หลากหลายร้อยพันปีจนแผ่นศิลารับการสักการะนั้นสึกหรอเปนเบ้าหลุมจากการเข้าสัมผัสกราบกรานก็แล้วกัน
 
เสียงลือเสียงเล่าอ้างได้ยินฟังมานานเนแล้วก็คือว่า ประดาปวงเขาทั้งหลายเดินไปด้วยใจตั้งมั่นแล้วท่านนักบุญจะช่วยบันดาลให้เจ็บหายคลายป่วย บางคนเดินล้างซวยบาปเคราะห์ คนโทษเพิ่งพ้นคุกออกมาก็มีหลายเจ้าออกเดินแสวงบนเส้นทางไปทุ่งดวงดาวนี้เช่นกัน หนุ่มสาวบางคนก็เดินแสวงหาตัวเองก็มี


 
นักบุญแห่งทุ่งดวงดาวนี้ เดิมทีท่านเปนยิว กำเนิดที่ปาเลสไตน์ในครอบครัวชาวประมง ชื่อเดิมว่า iacobo - อิยาโกโบ้ (ยาโกเบ้) เรียกสั้นว่า iago (อิยาโก้) พอเปนนักบุญเลย ซาน_อิยาโก้ เรียกติดกันยามอ่านเลยกลายเปน ซานติอาโก้ ซานเตียโก้ เมื่อคราวพระคริสต์ท่านลาภพนิราศไป ท่านก็เดินๆๆสอนศาสนาไปเรื่อยๆ จนถูกกษัตริย์ที่เปนมารศาสนาสั่งฆ่า สาวกนำศพท่านหนีออกทะเล เรือไปเกยฝั่งแห่งหนึ่ง มีเหตุให้ต้องฝังท่านไว้แถวนั้น
 
จำเนียรกาลผ่านมาแปดร้อยปี อยู่มามีปรากฏการณ์ประหลาด เกิดทุ่งดวงดาว กอมโปสเตลล่า พล่าพลุ่งสว่างขึ้นเหนือสุสานท่านหลายคราว พระเจ้าอัลฟองโซ เสด็จตามลำแสงศุภนิมิตรนี้มา พบว่าเปนสุสานท่านนักบุญ จึงสร้างวิหารขึ้นครอบเพื่อสรรเสริญปาฏิหาริย์นี้ (campo-ท้องทุ่ง+ da estrela-แห่งดวงดาว) และซึ่งเส้นทางจากเยรูซาเล็มมาที่วิหารนี่ก็คือถนนที่ท่านนักบุญเคยเดินนั่นเอง
 
อนึ่งพูดถึงไก่ในสัปดาห์ก่อน ก้อให้นึกถึงว่าแถบสเปญนี้ ไก่แสดงปาฏิหาริย์เหมือนกัน บนเส้นทางสายทุ่งดวงดาวนี้ยังมีวิหารที่มีคุณวิเศษหลายแห่งซึ่งจะรวมเล่าท่านฟังแยกต่างหากอีกทีอีกตอนหนึ่ง เส้นทางจะมา เดอ กอมโปสเตลล่านี้ มียุบยิบหลายเส้นทาง แล้วแต่จุดเริ่มต้นว่าผู้ศรัทธานั้นอยู่ที่ไหน
 
พวกฝรั่งเศสเก่าแก่เวลาจะออกจาริก เขานิยมกินหอยพัดสักตัวหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า coquille de Saint Jaques อร่อยปากดีแล้วก็เจาะรูร้อยเชือกเอาเปลือกหอยคล้องคอ มือขวาก็คว้าเอาไม้เท้ามาอัน เอาน้ำเต้าผูกไว้ ไปเริ่มออกเดินทางตั้งต้นที่เมือง St.Jean Pied de Portชายแดน ซึ่งอันน้ำเต้าที่ว่านี้นักแสวงบุญจะเอาไว้ใส่เหล้าองุ่นสู้ภัยหนาว เปลือกหอยพัดที่พกมาด้วยนี่ เขาเอาไว้รองน้ำกิน ซึ่งตลอดเส้นทางไปสุสาน ซานเตียโก้ จะมีน้ำพุน้ำผุดขึ้นเปนระยะๆ ผู้จาริกก็จะใช้หอยนี้อย่างภาชนะ รับรองน้ำธรรมชาติด้วยความสำรวมและสำนึกในความศักดิ์สิทธิท่วมท้น ก่อนตั้งจิตจรดปากดื่มกินด้วยรำลึกในบุญกิริยา และบางท่านก็ทำการประคองสติตามกระแสน้ำเย็นไหลเข้าตัวที่เรียกกันว่า Latihan อีกโสตหนึ่งด้วย


 
ดังนี้แล้วเปลือกหอยจึงเปนสัญลักษณ์แห่งการจาริกแสวงบุญ เรื่อยมา ใช้เปนรหัสบอกเส้นทาง ปิดตามป้ายตามเสาต่างๆ บ้านเรือนละแวกนั้น คำถามก็มีว่า เอ้า แล้วทำไมไม่เอาน้ำเต้าไปสองใบ? ใส่เหล้าใบ ใส่น้ำใบ 55 ก็เพราะว่าไอ่ประดาน้ำพุน่ะซี บางที่อย่าง Fountain de Los Moros มันพุเบาๆแล้วซึมเซาไหลนอง จะกรอกเข้าขวดน้ำเต้ามันยาก ต้องใช้เปลือกฝาหอยน่ะล่ะช้อนเอา!
 
อีทีนี้ว่าตามเส้นทางเหล่านี้ มันจะไปบรรจบกันที่เซ็นเตอร์อันหนึ่ง คือเมืองPuente de Reina ในแคว้นนาวาร่าของสเปญ จากเมืองนี้ไม่นานนักถนนจะรวมเปนสายเดียวจนถึงจุดหมาย ที่ประตูรุ่งโรจน์ Portico de la Gloria แห่ง โบสถ์ทุ่งดวงดาว Santiago de Compostela ในแคว้นกาลิเซีย
 
ระยะทางที่พวกฝรั่งเศสใช้จากชายแดนเขาเข้าไปสุสานนี้ ตกราว 700-800 กม. เดิมทีระหว่างทางจะมีเหตุเภทภัยมากมาย คนเดินทางมักถูกดักปล้นฆ่าจากกลุ่มโจรที่รู้ดีว่าเหยื่อไม่ค่อยสู้ศาสนจักรก็อำนวยความปลอดภัยโดยมีการตั้งโบสถ์วิหาร อารามเปนระยะๆ แจกทานอาหารฟรี และให้ที่พักเหล่าอัศวินที่คุ้มครองพระศาสนาก็ออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราคุ้มภัยนอกนี้ยังมี อโรคยาศาลาเหมือนทางขอมโบราณทำแถวเอเชียอาคเนย์ ตั้งศูนย์พยาบาลมีหมอยาคอยประจำการดูแลคนแสวงบุญที่ป่วยไข้ ที่ไม่ไหวตายไปก็จัดการฝังสุสาน
 
งานกุศลชนิดนี้มีมานานกาเลพันปี ถือปฏิบัติต่อเนื่องมารุ่นสู่รุ่นสู่รุ่น ไม่พักเลย
 
ในยุคสมัยนี้เส้นทางแสวงบุญไปทุ่งดวงดาว_กอมโปสเตลล่า ไปมาสะดวกขึ้น ใช้รถราก็ได้แล้ว แต่การมุ่งมั่นจาริกด้วยการเดินเท้ายังเปนที่นิยมสูงสุดเสมอไป
 
อย่างไรก็ดีมีอาชีพสำคัญอยู่อันหนึ่งก็คือ งานรับจ้างเดินแสวงบุญ ด้วยเหตุว่าบางทีติดบนบานศาลกล่าวอะไรไว้มาเดินไม่ได้ก็จ้างเขาเอา การรับจ้างเดินนี้จะมีสมุดปูมการเดินทางเหมือนอย่างว่า passport ไว้ประทับตราตามจุดต่างๆที่จาริกผ่านไป (คนเดินเองถ้าประสงค์ก็หาสมุดแบบเดียวกันนี้มาใช้ได้) ตามกติกามีว่าเจ้าพนักงานจะประทับตราให้ต่อเมื่อเดินเท้าเท่านั้น ผ่อนผันได้กรณีเดียวคือขี่จักรยาน นั่งพาหนะอื่นเครื่องยนต์กลไกมิได้เลย เสร็จงานจ้างก็ส่งมอบสมุดประทับตราแก่ผู้จ้างต่อไปรวมถึงประกาศนียบัตร ณ จุดหมายปลายทางด้วยอีกใบหนึ่ง


 
อย่างไรก็ดีผู้ที่เดินหากว่าเดินรอบเดียวไม่สำเร็จ สามารถผ่อนเดินเปนงวดๆก็ได้ โดยเริ่มจากสถานีสุดท้ายในปีก่อนเปนระยะๆไป คนจาริกแสวงบุญทั่วไปนั้น ท่านเดินทางอย่างใช้ข้างทางเปนที่แรมคืน ใช้ผืนดินต่างเตียงหลับ ใช้ท้องฟ้าเปนผ้าห่ม เดินทางด้วยใจโปร่งและมุ่งมั่นเพราะสองข้างทางมีที่สวยและน่าสนุกให้แวะเฉไฉ เยอะแยะไป
 
ในยุคเมื่อสักร้อยปีมานี้ โบสถ์เก่าๆหรืออารามดั้งเดิมตามรายทางก็ได้รับการพัฒนาดัดแปลงเปนโรงแรมและภัตตาคารดีๆรอบรับคณะแสวงบุญในรูปแบบต่างๆทั้งแบบแพง แบบเก๋ไก๋ และแบบประหยัดค่าน้ำค่าไฟ
 
จุดที่ว่ากันว่าสวยงามที่สุดในการเดิน คือช่วงจากกัสโตรเฮรีส Castrojeriz ไปซาฮากุ้ง Sahagun ระยะสักร้อยกิโลเมตร มีร่องน้ำไหลจุ๊งจิ๊งแทรกไปตามกอหญ้าระหว่างทาง พื้นหินทางเดินก็เรียบแน่นกว้างขวางดี

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18  ฉบับที่ 3,877 วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2566