เครื่องกำนล สะตวง และบัดพลี

31 ธ.ค. 2565 | 06:16 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เครื่องกำนล ไม่ใช่เครื่องกำนัล พิสูจน์อักษรทั่วไปนิยมเติมให้ซึ่งไม้หันอากาศเปนเรื่องปกติธรรมดาแต่ทว่าแท้แล้วเครื่องกำนลมีความหมายเกินไปกว่าของกำนัลมากนัก
 

เรื่องเครื่องกำนลนี้โบราณท่านว่าไว้เปนธรรมเนียมปฏิบัติ ลูกศิษย์ลูกหาใดได้ใช้วิชาครูไปทำมาหาได้ ไปคุ้มหัวคุ้มชีวิตอย่างไร ถึงกำหนดครบเวลาจะว่าปีใหม่ตรุษสารท ย่อมได้เวลาตั้งเครื่องกำนลครู
 

กึ่งว่าเปนของกำนัลที่ค่างวดไม่มาก แต่ค่าทางใจนั้นสูงกว่า เปนเครื่องหมายแสดงกตัญญุตาแก่ท่านผู้มีคุณ แม้ท่านจะสิ้นภพจบขันธุ์ไปแล้วก็ตาม_ย่อมไม่เปนเหตุให้ผู้สำนึกในคุณเลิกแสดงออกซึ่งการสำนึกในคุณนั้น

ผู้ที่มีครูทางนาฏศิลป์ ตั้งเครื่องกำนลใส่ขัน ๑ ใบ เงิน ๖ บาท ผ้าเช็ดหน้า ๑ ผืน เทียนขี้ผึ้งขาว ๓ เล่ม ดอกไม้ ธูป บุหรี่ ไม้ขีดไฟ และหมากพลู ๓ คำ ใช้ไหว้สายามถึงเวลามีพิธีไหว้ครู
 

ส่วนเครื่องกำนลครูชุดนี้สำหรับผู้มีพระสงฆ์เปนครูตั้งในเทศกาลปีใหม่และวันครบรอบวันเกิด ต่อหน้ารูปถ่ายงานศพซึ่งเปนประตูเข้าออกแดนอิมกังตามผู้รู้แนะนำ เยื้องทางหีบไม้ชิงชันบรรจุสังขารประดับมุกและพวงมาลาของหลวงในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า เมื่อคราวยังดำรงพระอิสสริยยศที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานแด่ ท่านครูผู้วายชนม์ตั้งแต่ 2537 เปนเกียรติยศแก่ศิษยานุศิษย์สำนึกในพระมหากรุณายิ่งนัก ประกอบด้วย
 

1. เครื่องไตรจีวรเต็ม 
 

2. ส้มสูกลูกไม้
 

3. อัฐบริขารหลัก เช่นบาตร
 

4. มาลัยพวงดอกไม้
 

5. ธูปเทียนแพ
 

6. หมากพลู

เหตุที่ตั้งโดยมีข้อ 1. ก็เนื่องจากสรีระสังขารของท่านครูผู้ทรงคุณนั้นไม่เน่าเปื่อยย่อยสลายไปตามกาลเวลา อันเปนเครื่องอุปมาคุณวิเศษทางธรรมของท่านประการหนึ่ง จึงได้ตั้งถวายเผื่อทางวัดใช้ผลัดเปลี่ยนถวายแก่ท่าน
 

เมื่ออายุสามสี่ขวบ ครอบครัวได้พาไปกราบฝากตัวกับคุณหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม เวลานั้นยังจำความไม่ได้นัก บิดาเล่าว่าหลวงพ่อแช่มได้กวักมือเรียก ท่านดุนให้คลานดุ๊กดิ๊กเข้าไปหา โดยหลวงพ่อได้มอบเหรียญเสมาเล็กเนื้อทองแดงปี 2516 ให้กับมือของท่าน แล้วได้พรมน้ำมนต์ให้ด้วย โดยตัวเมื่อโดนน้ำมนต์ บิดาว่าเด็กร้อง “หนาว หนาว” หลวงพ่อท่านเห็นดังนั้นก็อมยิ้ม
 

เหรียญเสมาเล็กนี้บิดาจับคล้องคอโดยใช้สายสิญจน์ขาวที่ขอดเป็นตัวจระเข้ขบฟันของหลวงพ่อร้อยไว้ติดตัวตลอดเวลา
 

มาวันหนึ่งครอบครัวไปอีสาณ ได้เวลาอาหารก็หยุดปิคนิคแถวเขื่อนลำตะคอง หลังจากปูเสื่อกินข้าวกินขนมเรียบร้อยแล้วเด็กๆทั้งหลายพากันออกไปวิ่งเล่น  ถึงยังตัวเล็กอยู่ ก็ตามเขาไปด้วย พี่ๆ โตกันเเล้ว เขาพากันไปที่วงบ่อซีเมนต์บ่อหนึ่งที่ตั้งอยู่แถวนั้น เห็นเขาก้มลงไปเอาหน้าอกพาดขอบบ่อ แล้วเอามือแกว่งน้ำในบ่อเล่น ล้างมือเย็นมือ แบบเด็กเล่นน้ำ


 

บ่อนี้ทำนองเป็นบ่อบาดาลที่ใช้วงซีเมนต์ต่อกันเป็นชั้นๆตั้งแต่ใต้ดินขึ้นมา พี่ๆเขาล้างมือกันจากนั้นเขาก็วิ่งไปเล่นที่อื่นต่อ พอเห็นดังนั้นก็เลียนแบบบ้าง พยายามก้มลงวักน้ำในบ่อให้ได้อย่างเขา แต่เจ้ากรรมตัวเตี้ยเกินไปและคงลองกระโดด ถีบดินดู ปรากฏว่าเสียหลักหัวทิ่มลงไปในบ่อน้ำปลายเท้าชี้ฟ้าโด่เด่ หน้าจมลงน้ำอยู่ในบ่อ
 

บิดาซึ่งอิ่มข้าวแล้วยังคงนั่งเล่นอยู่บนเสื่อเล่าให้ฟังว่า
  

“เวลานั้น พ่อเห็นจีวรผืนหนึ่งสีเหลืองส้มสะดุดตา เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วมากๆทางหางตา” 
 

“พ่อนึกในใจอย่างสงสัยว่า พระที่ไหนมาวิ่งแถวนี้”  จึงได้มองตามจีวรนั้นไป 
 

ปรากฏว่าจีวรที่เคลื่อนที่ได้นั้นได้นำสายตาของบิดามาหยุดอยู่ที่ปากบ่อ บิดาเห็นขาเล็กๆชี้ฟ้า ขยับยุกยิกแกว่งอยู่ในอากาศก็ตกใจมาก_ลุกขึ้นพรวดวิ่งมาถึงขอบบ่อกระชากขาของเด็กขึ้นจากปากบ่อ ยกตัวเขย่าพาดบ่า แล้วทุบหลังให้สำลักน้ำออกมาให้หมด 
 

คำแรกที่เด็กสามสี่ขวบพูดออกมาในยามหน้าสิ่งหน้าขวานให้บิดาได้ยินปนกันกับเสียงสะอื้นร้องไห้ คือ 
 

“หลวงพ่อแช่มคุ้มครองลูกๆ” บิดาถึงกับคุกเข่าลงหันไปทางทิศจังหวัดนครปฐมยกมือไหว้ท่วมหัว
 

ชาวบ้านแถวนั้นกรากเข้ามาดูอย่างสนใจพึมพำกันว่าบ่อนี้มีอาถรรพณ์มาก มีปลาเล็กๆสวยๆล่อใจเด็กๆว่ายอยู่ในบ่อ มีเด็กจมไปตายทุกปีทำนองว่าครบรอบปีแล้วต้องมีใครสักคนเป็นตัวตายตัวแทนกัน
 

น่าแปลกใจที่เด็กเล็กๆยังไม่รู้ความจะรู้จักและจดจำพระภิกษุผู้มีคุณวิเศษที่เขาได้ไปกราบและท่านได้รดน้ำมนต์ให้ได้และพูดออกมาให้บิดาตนรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว


 

หลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก นามสกุลเดิม อินทนชิตจุ้ย เป็นเจ้าอาวาสรูปต่อจากพระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) ครองวัดดอนยายหอม จ.นครปฐม มีศักดิ์เป็นหลานชายหลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณผู้เรืองนาม ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะตำบล ฯลฯ หลวงพ่อแช่มได้รับพระราชทานสมศักดิ์ชั้นสูงสุดเป็นที่พระครูเกษมธรรมนันท์ (วิ.) พระครูสัญญาบัตรชั้นเอกฝ่ายวิปัสสนาธุระมหานิกาย (ครองจีวรสีส้มสด) ได้รับพระราชทานพัดยศพุดตาลขาวต่างหากจากพระราชาคณะมหานิกายรูปอื่นๆทั่วไป เป็นเครื่องสรรเสริญเกียรติคุณพิเศษทางวิปัสสนาแห่งท่าน
 

ต่อมาอีกร่วมสามสิบปี ในปีราวๆ 2549 ซึ่งเป็นเวลาที่หลวงพ่อแช่มท่านได้มรณภาพไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2537 กว่า 10 ปี  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้ลงข่าวในฉบับวันเสาร์หน้าพระเครื่อง ว่ามีสุภาพบุรุษท่านหนึ่งมีอาชีพเป็นพ่อค้าตลาดนัด ขับรถกระบะนิสสัน รุ่นใหม่ไปประสบอุบัติเหตุประสานงาอย่างแรงและพลิกคว่ำบนทางหลวง รถพังยับทั้งคน บุรุษท่านนี้ไม่เป็นอะไรมาก ได้ให้การว่าขณะเกิดเหตุได้ยินเสีย ปัง/โครม ในครองสายตาเห็นแต่จีวรสีส้มพุ่งแผ่กระจายรอบห้องโดยสารเหมือนอย่างถุงลมนิรภัยห่อหุ้มเขาไว้ โดยที่ทั้งรถไม่มีถุงลมนิรภัยและไม่มีวัตถุมงคลใดนอกจากเหรียญเสมาเล็กหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม รุ่นเดียวกัน
 

ปรากฏการณ์คุณวิเศษของพระครูเกษมธรรมนันท์ (แช่ม ฐานุสสโก) นี้ มีการเล่าลือกันอย่างมากหลายกรณี เช่น กรณีสะกดม้าพยศ, กรณีผูกหุ่นพยนต์เฝ้านา, กรณีคว่ำบาตรน้ำมนต์แล้วน้ำมนต์ไม่ไหล, กรณีเสกวัตถุมงคลจนหลังคาพระอุโบสถระเบิด ฯลฯ ผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เอง
 

แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์คุณวิเศษของท่านนี้สามารถยืนยันได้จากประสบการณ์เชิงประจักษ์ของคนสองคนที่ไม่รู้จักกันเลยผ่านมิติเวลากว่าสามสิบปีด้วยนัยสำคัญของจุดเชื่อมโยงเดียวกันคือการปรากฏขึ้นของจีวรสีส้มที่เคลื่อนที่ได้ อันมีเหรียญโลหะของท่านเป็นสื่อคล้ายกับเครื่องรับ-ส่งคลื่นสัญญาณ และที่สำคัญคือแม้ว่าท่านผู้ทรงคุณจะล่วงลับดับขันธ์กายหยาบไปแล้วคุณวิเศษและพลังงานละเอียดบางอย่างของท่านมิได้ดับสูญตามสังขารไปด้วยยังคงแผ่กระแสความเมตตาคงปกปักรักษาศิษานุศิษย์ให้ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องยาวนาน


 

เหรียญเสมาเล็กองค์นี้ยังคงห้อยติดคออยู่ตลอดเวลานับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีสภาพเป็นเหรียญทองแดงสึก 


ได้เลี่ยมเงินรักษาสภาพไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน และได้จับขอบทองคำ เมื่ออีกสิบปีต่อมา ความฝังใจจากการจมน้ำครั้งนั้นทำให้แม้ทำให้ไม่สามารถก้มหน้าลงน้ำได้อีกตลอดมา แต่ก็ยังสามารถว่ายน้ำได้ ด้วยท่ากรรเชียงนอนหงาย คว่ำหน้าฟรีสไตล์หรือแยกหายใจจมูกกับปาก_เปนเรื่องอย่างฝรั่งเรียก phobia 
 

คราวหนึ่งเมื่อปีก่อน ฆราวาสผู้มีฌาณปะสาทะท่านหนึ่ง ไม่เคยพบหรือรู้จักกันมาก่อน_ได้คุยโทรศัพท์กันครั้งแรกโดยไม่ได้เห็นหน้ากัน จากคำแนะนำของพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง หลังคุยกันได้ครู่หนึ่ง ท่านผู้นี้พูดมาตามสายว่า 
 

“ที่คอคุณห้อยอะไรไว้ ที่คุณห้อยอยู่ไม่เคยถอดเลย บอกผมหน่อย ผมเห็นเป็นแต่แสงสว่างจ้ามาก มองไม่เห็นวัตถุเลย”
 

เรื่องประสบการณ์ที่ว่านี้ผู้เขียนมีเจตนาบันทึกไว้เพื่อเป็นที่ประกาศเกียรติคุณของหลวงพ่อต่อสาธารณชน
 

เพื่อเปนที่เจริญศรัทธาแก่กิจการพระพุทธศาสนาของประเทศเรา และเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ได้โดยแท้ว่าพระรัตนตรัยอันมีองค์สามคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นสามารถเป็นที่พึ่งแก่ปุถุชนอย่างเราๆท่านๆได้โดยเเท้ตามที่เราเปล่งวาจา  “... สรณังคัจฉามิ”  
 

ทั้งนี้หากว่าจะมีกุศลใดบังเกิดขึ้นจากบทความชิ้นนี้แก่ท่านผู้ใดก็ตาม ก็ขอตั้งจิตอธิษฐานอุทิศให้เป็นเครื่องฉลองพระคุณแต่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พระครูเกษมธรรมนันท์ วิ. ผู้ได้ละสรีระสังขารไปตั้งแต่ปี2537 ทั้งสิ้น
 

อนึ่งเวลาจะไปเอาของๆครูหรือใครก็ตามที่น่านับถือแต่ว่าตายไปแล้ว ต้องตั้งเครื่องพลี_บัดพลี 
 

บัดพลีเมืองเหนือนั้นตั้งโดยใส่กระบะกาบกล้วยเรียกว่า สะตวง ปักธงเสียให้ดี มีกุ้งพล่าปลายำก็แล้วแต่ อีกสูตรหนึ่งคือไม่รู้ว่าครูชอบอะไร ก็ใช้วิชาที่พอมีสืบจิตไปถามท่านผู้ปกปักรักษา 
 

บางท่านว่าเทียน 10 คู่ ธูป 10 ดอก บัวหลวงแดง 8 เงินเหรียญ 99 คนจะไปพลีของมีหน้าที่ต้องตกแต่งทำดา (ดาที่นี้เปนศัพท์เฉพาะไม่ใช่ธรรมดา) ถวายให้เกินเข้าไว้ ยาเส้นยามวน หมากพลูต้องมี เก็ดถะหวา คำปู้จู้ กุหลาบมอญ
 

ที่เชียงใหม่นี้ทางขึ้นดอยสุเทพจะมีอารามอยู่แห่งหนึ่งชื่อว่าสกิมาคามี ผาลาด ที่ตรงนั้นมีน้ำตกไหลผ่านกลางมีบ่อน้ำใสเเหนวคนโบราณสร้างอาคารรูปนกยูงศิลปะแองโกล-เบอร์มา ครอบอยู่ แลดูต้องใช้คำเก่าว่าดูชอบกลดี ภาษาสมัยนี้ก็ว่ามีดี/มีของ 
 

อยากได้น้ำบ่อท่านมาก็ต้องไหว้สากำนลท่านแล้วจึงตักเอาของท่านได้ ขันเมืองเหนือเขาเรียก สลุง ออกเสียงว่า สะ_หลุง ขันนี้ลายดอกทานตะวันหาได้มาจากกาดวโรรส เชียงใหม่ เอาบรรจุของไหว้บัดพลีเดินทางขึ้นไปเพื่อพลีน้ำจากบ่อเก่าแก่แต่โบราณดังกล่าว

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,849 วันที่ 1- 4 มกราคม พ.ศ. 2566