‘ต้น’ แปลว่าอะไร?

24 ธ.ค. 2565 | 01:30 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

พักนี้คุณผู้อ่านทักถามมาถึงคำว่า ‘ต้น’ ซึ่งพบเห็นอยู่ประกอบคำของเจ้าของนายให้ความหมายเชิงลำลองและเปนส่วนตัว(private) เช่นว่า ประพาสต้น, เรือนต้น, เพื่อนต้น, เครื่องต้น, กฐินต้น ว่าอะไรอย่างไง ทำไมถึงต้น เปิดพจนานุกรมก็แล้วไม่มีคำอธิบายวางไว้
 

จึงได้เวลากางตำราหนังสืองานศพที่เก็บสะสมไว้ออกมาแจงสี่เบี้ยเพื่อสนองคุณท่านอ่านประกอบความเพลิดเพลิน เล่มหนึ่งพิมพ์เปนอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิง คุณภาวาส บุนนาค อีกเล่มเปนอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงท่านพระยานิพัทธราชกิจ
 

เรื่องก็มีอยู่ว่า ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้น ล้นเกล้าทรงมีพระราชประสงค์เสด็จออกเยี่ยมบ้านเมืองซึ่งเริ่มมีการพัฒนา modernize มาได้โดยลำดับ ซึ่งการณ์อันนี้โปรดจะให้เปนไปโดยความลับไม่บอกอะไรแก่ใคร ไม่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองอาณาประชาราษฎรต้องมาเตรียมการรับเสด็จ นัยยะหนึ่งเพื่อได้ทรงทราบข้อความจริงในท้องที่ สุขทุกข์ราษฎรและอีกนัยยะหนึ่งได้ทรงพระสำราญอิริยาบทท่องเที่ยวค่ำไหนนอนนั่นผ่อนคลายความเครียดขึงในการทรงทุ่มเทบริหารราชการแผ่นดิน

การเที่ยวไปในลักษณะปิดลับแกมอำพรางนี้ ดูจะตรงกับคำฝรั่งว่า Incognito 
 

กระบวนผู้ตามเสด็จนั้น ท่านทั้งหลายต่างก็คิดนามแฝงรหัสปลอมชื่อของตนเองไว้เรียกขานยามเดินทาง 
 

กรมพระสมมติอมรพันธุ์ราชเลขา ใช้นามแฝงว่า ท่านมหาสม ให้มีลักษณะเปนผู้คงแก่วัดแก่วาอย่างว่าบวชเรียนมีเปรียญหลายประโยค
 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพพระเจ้าน้องยาเธอ ใช้นาม นายทรงอานุภาพ มีลักษณะรับราชการเปนมหาดเล็กชั้นหุ้มแพรอยู่ในราชสำนัก

กรมพระนครสวรรค์ ใช้นาม ขุนสวรรค์วินิต ทำนองเปนขุนนางผู้น้อยในระบบราชการ
 

กรมหลวงนครราชสีมา ใช้นาม นายอัษฎาวุธ มหาดเล็กราชสำนักเช่นกัน
 

กรมหลวงสรรพสาตร ใช้นามว่า หมื่นสรรพกิจ
 

เจ้าฟ้ามกุฏราชกุมาร ใช้นามว่า นายรัตนาวุธ
 

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ใช้นามว่า นายมานพ
 

พระยาสุรวงศ์ฯ  (โต บุนนาค) ใช้นามว่า นายวงศ์ตะวัน
 

ทีนี้ว่าเรือพระที่นั่งและเรือขบวนที่จะใช้เสด็จล่องน้ำออกเดินทางนั้น จะต้องพรางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ incognito นี้ จึงมีพระมหากรุณาใช้เรือค่อนจะธรรมดาซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า แรกทีเปนเรือมาดมีเก๋ง ขับเคลื่อนโดยการแจว ต่อมาทรงซื้อเรือมาดมีประทุน จากราชบุรีมาอีกลำหนึ่งใช้บรรทุกเครื่องทำครัว เรือนี้โปรดให้ เจ้าหมื่นเสมอใจราช คุมไป
 

ความสำคัญก็อยู่ตรงที่ว่า เจ้าหมื่นเสมอใจนี้ชื่อเล่นมีชื่อว่าอ้น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำคัญว่าเจ้าหมื่นเสมอใจมีอายุมากกว่า จึงทรงเรียกหาเสมอๆว่า ‘ตาอ้น’
 

เรือลำตาอ้นนั้นบรรทุกเครื่องครัว ใครๆก็ต้องหาเปนธรรมดาคงคล้ายตู้เสบียงประจำรถไฟที่เดินทางไกลกันสมัยนี้ เมื่อมีการเรียกควบคำเร็วๆเข้า จาก ตา_อ้น ก็กลายเปน - ต้น -
 

จึงกลายว่าเรือใช้เสด็จประพาสลำลองไม่เปนทางการเช่นนั้น มีชื่อใหม่ว่า ‘เรือต้น’ อีทีนี้เมื่อเรือหนึ่งลำ เริ่มต้นได้แล้ว เรื่อง/ของอื่นๆในกระบวนก็พลอย ‘ต้น’ตามไปด้วย
 

ฉลองพระองค์ซึ่งทรงสวมใส่แบบไม่เปนทางการยามออกประพาสต้นนี่ก็เรียกว่า ทรงเครื่องต้น
 

ผู้คนเช่นเหล่าราษฎรที่ทรงพบปะระหว่างประพาส นับถือในน้ำใสใจจริงแก่กันระหว่างการ incognito ไม่รู้ว่าใครเปนใคร ก็ทรงนับเปน ‘เพื่อนต้น’
 

ต่อมาทรงโปรดฯให้ก่อสร้างเรือนรับรองอย่างเรือนไม้กระดานไทยไว้ในเขตพระราชวังดุสิต เพื่อรับเหล่าเพื่อนต้นยามเข้าเฝ้าในพระนคร ก็เรียกเรือนนั้นว่า ‘เรือนต้น’
 

เพื่อนต้นเหล่านี้ยามเสด็จไปนอก ก็มีพระมหากรุณาจัดซื้อไม้เท้ามาพระราชทานให้เพื่อนต้นฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงมักได้รับพระราชทานกระเป๋าถือ
 

ยามเมื่อมาเข้าเฝ้าที่พระราชวังดุสิต กรมวังเห็นไม้เท้า/เห็นกระเป๋าท่านเหล่านั้นถือมา ก็เปิดพระทวารให้เข้าไปเฝ้าแหนได้โดยสะดวก 


 

ครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาต่อเหล่าเพื่อนต้นในรัชกาลก่อน โปรดเกล้าฯพระราชทานตราพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ประดับไม้เท้าเพื่อนต้นผู้เฒ่าเหล่านั้น
 

ต่อมาในรัชกาลที่ 9 คำว่า ‘ต้น’ นี้ ปรากฏอีกครั้งเมื่อ ปี 06 คราวเสด็จทอดกฐินต้น ณ วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระบูชา เพื่อเป็นที่ระลึกการถวายผ้าพระกฐินคราแรกในรัชกาล เสด็จฯ ทรงเททอง ณ พระอุโบสถวัดเทวสังฆาราม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2506 โดยมีพระเทพมงคลรังสี (หลวงปู่ดี) เจ้าอาวาสวัดเป็นประธาน พุทธศิลปปางประทานพรแบบสุโขทัยประยุกต์ ฐานผ้าทิพย์ด้านหน้าประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก จัดเป็นพระบูชารุ่นแรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเททองปัจจุบันมีมูลค่าเล่นหากันสูง
 

สำนักสุวรรณรัตน์บางลำภูเล่าว่า พระนี้มีการจัดส่งแผ่น โลหะเงิน ทอง นาก ไปให้พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณในสมัยนั้นทำการลงอักขระเลขยันต์คาถา เพื่อนำมาใส่เบ้าหลอม ผู้ร่วมพิธี ได้แก่
 

สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศราชวรวิหาร
 

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
 

หลวงพ่อเต๋ คงทอง
 

หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
 

หลวงปู่รอด วัดประดู่พัฒนา นครศรีธรรมราช เป็นต้น
 

โดยหลวงปู่ดี เป็นผู้ลงอักขระเลขยันต์ตามสูตรของวัดเหนือ พร้อมทั้งปลุกเสกและม้วนเป็นตระกรุดพิเศษ (จำนวนไม่ทราบแน่ชัดแต่น่าจะมีจำนวนประมาณ 100 ดอก) ทูลเกล้าฯถวายเพื่อใส่ในเบ้าหลอมพระบูชา จึงเป็นที่มาของความนิยมสะสมพระบูชารุ่นนี้ องค์เลขที่ 1-100 หรือ ไม่เกิน 200 องค์แรก มีค่านิยมพระบูชาเล่นหาราคาสูงกันกว่าปกติ


 

อนึ่งว่าท่านต้นเหตุของความต้นทั้งหลายนี้ ซึ่งก็คือ ‘ตาอ้น’ ซึ่งมีพระมหากรุณาตรัสเรียกหาเปนประจำท่านก็มีประวัติความเปนมาส่วนตัวกล่าวคือ ท่านเกิดที่แถวฝั่งธนบุรี เริ่มทีเปนทหารสังกัดกรมมหาดไทยก่อน ต่อมาจึงถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศษ  (มหาดเล็กชั้นเด็กสุด) ในปี 2423 ผ่านมาสิบปี โปรดเกล้าฯให้เปนนายรองพิไนยราชกิจ เลื่อนเปนนายพิไนยราชกิจ เปนนายจ่าเรศ เปนหลวงศักดิ์นายเวร ตามลำดับ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณตามเสด็จไปยุโรป ทั้งสองคราว รวมทั้งครั้งเสด็จออกไปชวา และสิงคโปร์
 

ต่อมาเมื่อเสด็จประพาสต้นไปทางเหนือ มีพระราชดำริจะโปรดเกล้าฯเลื่อนเปนเจ้าหมื่น ก็มีพระมหากรุณาว่าการอันเปนพิธีสำคัญมงคลเช่นนี้เห็นทีต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ในที่ที่มีความสำคัญ อนึ่งว่าเมืองกำแพงเพชรเคยเปนราชธานีโบราณมาแต่เก่าก่อน จึงทรงพระกรุณาฯประกอบพิธีพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเจ้าหมื่นเสมอใจราช ที่เมืองกำแพงเพชรพระนครโบราณระหว่างเสด็จประพาสต้นคราวนั้น และผู้คนในราชสำนักบันทึกกันต่อมาว่า ยามมีพระราชประสงค์เรียกหา ทรงเรียกว่า ‘ใจเสมอ’ ไม่ทรงเรียก เสมอใจตามราชทินนาม
 

เมื่อผลัดแผ่นดินแล้ว โปรดเกล้าให้ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น) เปนเจ้าคุณครั้งแรกที่พระยานรฤทธิราชหัช จางวางตรี กรมมหาดเล็ก ต่อมาเลื่อนเปน พระยาราชภพน์บริหาร เจ้ากรมวังบางปะอิน และ พระยานิพัทธราชกิจ ตามลำดับ
 

‘ตาอ้น’ ในบางคราวเมื่อตามเสด็จประพาสต้นต้องรับหน้าที่สวมบทบาทเจ้าแผ่นดินเพื่อรักษาความ Incognito ไว้ โดยพระเจ้าแผ่นดินจริงทรงทำที ‘ตามเสด็จ’ ตาอ้น แม้ยามจะทรงนั่งขัดสมาธิต่อหน้าตาอ้นพระเจ้าแผ่นดินละคร ก็ต้องทรงรอให้ตาอ้น อนุญาตก่อน
 

‘ตาอ้น’ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอยู่มาก ยามต้องเข้าที่ฝ่ายในในทางราชการไม่ต้องมีตำรวจวังคุมกำกับ ท่านจากไปเมื่ออายุ 77ปี ด้วยโรคชรา มีชีวิตอยู่ถึง 4 แผ่นดิน


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18  ฉบับที่ 3,847 วันที่ 25 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2565