สร้างคุณภาพชีวิตยามชรา

21 ต.ค. 2565 | 21:00 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ ได้เดินทางมาคุยธุรกิจกับผม หลังจากคุยเรื่องธุรกิจเสร็จสิ้นพอมีเวลาว่าง ผมจึงพาเขาติดตามผมไปที่บ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์”ของผม เพราะผมมีอีกนัดหนึ่งที่นั่น  


เขาสนใจมากจึงได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน และผมได้ถามถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุในประเทศเขา เพราะเมื่อหลายปีก่อน ผมได้เคยเดินทางไปดูงานที่นั่น ในยุคนั้นผมมีความรู้สึกว่า ธุรกิจประเภทนี้ในประเทศสิงคโปร์ ไม่ได้มีการพัฒนามากนัก เท่าที่เห็นก็ธรรมดามากๆ ไม่ได้โดดเด่นเหมือนอย่างเช่นที่ญี่ปุ่นและไต้หวันเลย 
 

แต่เพื่อนท่านนี้เล่าให้ผมฟังว่า ทุกวันนี้ประเทศสิงคโปร์ได้ตื่นตัวมากๆ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุต่างจากอดีตมากครับ
     

ที่ประเทศสิงคโปร์เขาคาดการณ์ว่า ปัญหาของผู้สูงอายุในปี 2030 จะเป็นยุคที่สร้างปัญหาให้แก่ประชาชนของเขาในอนาคตอย่างมาก เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทางการของประเทศเขา จึงได้กำหนดให้ประชาชนที่ทำงานอยู่ จะต้องมีการฝากเงิน เพื่ออนาคตหลังเกษียณอายุ 
 

โดยจะมีวิธีการหักจากเงินเดือนและมีเงินสมทบจากนายจ้างด้วย ซึ่งเป็นเงินจำนวน 25% ของรายได้ของบุคคลนั้นๆ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อเกษียณอายุ ไว้รองรับเงินก้อนโตดังกล่าว อีกทั้งกองทุนดังกล่าว ยังได้รับดอกเบี้ยที่มากกว่าเงินฝากธนาคารจากรัฐบาล เพื่อเป็นแรงจูงใจอีกด้วย 


ผมจึงได้สอบถามรายละเอียดจากเพื่อน เขาบอกว่ารายละเอียดค่อนข้างจะเยอะมาก เขาจึงแนะนำให้ผมเข้าไปอ่านดูในเว็บไซต์ของรัฐบาลสิงคโปร์ดูได้ที่ https://www.cpf.gov.sg/member และอีกเว็บไซต์หนึ่งคือ https://www.hdb.gov.sg/residential/living-in-an-hdb-flat/for-our-seniors หากท่านใดสนใจอยากรู้ ก็สามารถเข้าไปหาดูได้จากเว็บที่กล่าวมานี้แหละครับ
     

สาเหตุที่ทางการเขาดำเนินการเช่นนี้ แน่นอนว่าเขาต้องการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรของเขา ซึ่งผมเองก็คิดว่า เป็นความโชคดีของคนสิงคโปร์ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ของการทำงาน แรงงานทั่วไปอาจจะอึดอัดบ้างเป็นธรรมดา หรือหากแรงงานนั้นๆ เป็นคนที่ไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน ก็คงจะลำบากมิใช่น้อยครับ เพราะจะต้องเจียดเงินมาเข้ากองทุนดังกล่าว แม้ค่าแรงของเขาจะสูงมาก 


ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับค่าแรงของประเทศไทยกับสิงคโปร์ แรงงานของเราก็ค่อนข้างจะยากในการที่จะออมเงินเช่นนั้นได้  เพราะเอาแค่เงินประกันสังคมของแรงงานไทยเราที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ หากจะเปรียบเทียบกับของเขาแล้ว ยังห่างกันราวฟ้ากับดิน เราก็ยังมีคนที่ทำการหลบเลี่ยงไม่จ่ายเงินประกันสังคมกันอยู่เลยครับ ดังนั้นในความคิดของผม ถ้าจะทำให้สำเร็จแบบเขาได้ คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานนะครับ 
        

เมื่อมองดูให้ลึกลงไปกว่านั้น ประเทศที่เขาเจริญแล้วหลายๆ ประเทศ เขาก็พยายามสร้างบรรทัดฐานในการที่จะดูแลผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางประเทศประชาชนของเขาเอง ก็ยังมีแนวคิดที่ไม่เหมือนเรา ซึ่งก็ต้องบอกว่าค่านิยม ความนึกคิด อุปนิสัยของประชาชนแต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกันครับ 


เพราะการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นในสถาบันครอบครัว จนกระทั่งถึงสถาบันการศึกษา ก็มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นเราคงเอามาเป็นบรรทัดฐานเดียวกันไม่ได้ครับ เพียงแต่เราคงได้แต่มองแล้วนึกคิดตามเท่านั้น
       

เพื่อนท่านนั้นก็ถามผมว่า ประเทศไทยเรามีกองทุนลักษณะดังกล่าวหรือเปล่า? ซึ่งผมก็ตอบแบบไม่อ้อมค้อมว่า “ไม่มีครับ” แล้วผมก็ย้อนถามเขากลับไปว่า ในอดีตตอนที่ไม่มีการจัดตั้งกฎระเบียบการหักเงินเขากองทุน เขาทำกันอย่างไรบ้าง? เขาตอบว่า ในอดีตก็มีปัญหาเยอะมาก เพราะคนแบ่งชนชั้นกันค่อนข้างจะมาก บางคนก็ใช้เวลาทั้งชีวิต ในการสะสมทรัพย์สมบัติ เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานและตนเองในยามชรา 


ซึ่งผมก็บอกว่า ก็คล้ายๆ กับประเทศไทยเราในปัจจุบันนี้แหละ ซึ่งที่ประเทศเขาเอง อัตราการมีบุตรจะน้อยมาก ครอบครัวหนึ่งมีไม่เกินสอง-สามคนเท่านั้น ส่วนอัตราการหาเลี้ยงผู้สูงอายุ เขาบอกว่าสัดส่วนอยู่ที่ 1:3 ซึ่งผมก็บอกว่า วันนี้สังคมในเมืองของไทยเรา ก็ไม่ต่างกับสิงคโปร์มากนัก 


รวมทั้งอัตราการครองชีวิตโสด ของคนรุ่นใหม่ในสังคมเมืองในประเทศไทย ก็คงจะคล้ายๆ กับสิงคโปร์ในยุคนั้น เราจะสังเกตได้ว่า บางอาชีพเขาก็ไม่ค่อยอยากจะมีครอบครัวกันเท่าที่ควร ดังนั้นเราจะเห็นคนที่เป็นโสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง จะมีมากขึ้นเป็นธรรมชาตินั่นเองครับ
          

ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในยามเป็นผู้สูงวัย เพราะถึงแม้ว่าในช่วงวัยทำงาน ไม่จำเป็นจะต้องมีภาระทางด้านครอบครัวและบุตร ถ้าหากไม่รู้จักเก็บออมไว้ใช้จ่ายในยามชรา พอเข้าสู่วัยที่หมดเรี่ยวหมดแรงแล้ว หากไม่มีเงินออมเหล่านั้นไว้เลี้ยงดูตนเอง ก็จะเป็นภาระให้แก่ญาติพี่น้องต่อไป 


เพื่อนชาวสิงคโปร์กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้ในอดีต จึงมีความพยายามที่จะสะสมอสังหาริมทรัพย์ เช่นบ้าน คอนโดมิเนียมไว้เป็นทุน เพราะเขาเชื่อกันว่า บ้านและคอนโดมิเนียม จะมีแต่ขึ้นราคา ไม่ค่อยจะเสื่อมหรือด้อยค่า เพราะที่นั่นทรัพยากรด้านอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนจำกัด 


ดังนั้นการสะสมทรัพย์ดังกล่าวในยุคนั้น ถือเป็นการเตรียมการที่ชาญฉลาดที่สุด พอแก่ตัวลง ก็ขายบ้าน-คอนโดมิเนียม ด้วยการคำนวณว่าตนเองจะมีชีวิตยืนยาวได้อีกกี่ปี จากนั้นก็นำเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์นั้น มาจัดสรรเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ตนเอง 


ผมจึงถามต่อว่า อ้าว...แล้วหากเราคำนวณว่าเราจะอยู่ต่อได้อีกยี่สิบปี แล้วเกิดไม่ตายแล้วยังอยู่ต่อได้ถึงสามสิบปีละ เงินที่จัดสรรไว้คงไม่เพียงพอ ก็แย่เลยละซิ? เขาก็หัวเราะแล้วตอบว่า คงต้องหาไว้เยอะๆ เผื่อเหลือเผื่อขาดบ้างละครับ