การออกกำลังกายของผู้สูงวัย

14 ต.ค. 2565 | 21:00 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายอาทิตย์ก่อน ผมมีโอกาสได้นั่งทานข้าวกับท่านศาสตราจารย์ทางด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง (ขออนุญาตสงวนนาม) ท่านได้สอบถามผมถึงบ้านพักคนวัยเกษียณที่กำลังทำอยู่ว่า ได้มีการเตรียมเรื่องของนักกายภาพบำบัดไว้อย่างไรบ้าง 


หลังจากที่ผมได้สาธยายให้ท่านฟังจนจบ ท่านให้คำแนะนำว่า ทางบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์”ของผม น่าจะมีการเตรียมนักกายภาพที่มีความรู้เรื่องของ Kinetic Chan ไว้บ้างก็จะดีนะ เพราะว่าเรื่องนี้สำคัญต่อการออกกำลังกายของผู้สูงวัยมาก หลังจากที่ฟังท่านเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดจนจบ ผมดวงตาสว่างขึ้นมาทันทีเลยครับ เพราะว่านี่เป็นความรู้ใหม่ของผมจริงๆ

ผมจึงเข้าไปสืบค้นงานวิจัยจากเว็บไซต์ต่างๆ ทันทีที่กลับมาถึงบ้าน ซึ่งก็ได้พบเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมากเลยครับ จึงขอนำมาเล่าให้เพื่อนๆ พี่ๆ แฟนคลับอ่านเล่นนะครับ ผมจะคัดเอาสิ่งที่สำคัญๆ มาเล่าเป็นภาษาบ้านๆ ตามสไตล์ของผม เพื่อจะได้อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ ไม่น่าเบื่อครับ
      

Kinetic Chan เป็นวิธีการออกกำลังกายเพื่อทำกายภาพบำบัดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่สองแบบด้วยกัน คือแบบ Open Kinetic Chan กับแบบ Close Kinetic Chan ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ ตามที่ผมเข้าใจ (อาจจะถูกหรือผิดก็ใช้วิจารณญาณดูนะครับ) ล้วนแต่เป็นการออกกำลังกายเพื่อกายภาพบำบัดทั้งสิ้น เป็นที่นิยมของเกาหลีใต้และออสเตรเลียมาก 

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผมเห็นแต่บทวิจัยที่มักจะเป็นการวิจัยของนักวิจัยจากสองประเทศนี้ จึงคิดเอาเองครับ ในขณะที่ประเทศไทยเราจะมีก็เพียงบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ที่จะคุ้นเคยกับการออกกำลังกายเพื่อกายภาพบำบัดวิธีนี้ อ้อ... อาจจะมีกลุ่มของนักกีฬาที่รู้และเข้าใจก็เป็นไปได้ครับ ส่วนคนธรรมดาสามัญเยี่ยงผม ก็จะไม่คุ้นเคยครับ 
       

ผมขออธิบายแบบง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องให้รู้ลึกก็ได้ว่า เจ้า Open Kinetic Chan กับ Close Kinetic Chan นั้นต่างกันอย่างไร?  OKC (ผมขอใช้คำย่อก็แล้วกันนะครับ จะได้ไม่เปลืองเนื้อที่กระดาษ) คือการออกกำลังกายโดยที่มือและเท้าเป็นอิสระต่อกัน ในการเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวแบบใช้กล้ามเนื้อกลุ่มเดียวเป็นหลัก หรือการใช้ข้อต่อกระดูกด้านใดด้านหนึ่ง 


ในขณะที่ CKC จะใช้หลายๆ ข้อกระดูก ถ้าภาษาอังกฤษก็เรียกว่า Multiple Joints หรือกล้ามเนื้อหลายๆ กลุ่มก้อน เช่นการใช้เข่า ข้อเท้า สะโพก กล้ามเนื้อต้นขาทั้งสองข้าง น่องและแก้มก้น ในการขยับเขยื้อน บางทีก็จะใช้ลูกเหล็กสำหรับออกกำลังกาย มาเป็นอุปกรณ์เสริม 


แล้วบางท่านอาจจะถามว่า อย่างไหนดีกว่าละ อันนี้ก็แล้วแต่สรีระของใครของมันละครับ คงต้องให้นักกายภาพเป็นผู้วินิจฉัยว่า จะต้องจัดโปรแกรมอย่างไร? ให้แก่ใคร? เราเองไม่ใช่นักกายภาพ แล้วเราก็ไม่ได้ชำนาญในเรื่องนี้ จึงมิบังอาจรู้มากกว่านี้ครับ 
    

การออกกำลังกายเพื่อกายภาพบำบัดวิธีนี้ หากนำมาใช้อย่างถูกวิธี จะมีผลต่อดีต่อผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยฟื้นฟูและรักษาสภาพร่างกายให้มีพละกำลังที่ดี นักกายภาพบางคนอาจจะใช้วิธีให้ผู้ออกกำลังกายคลานกับพื้น หรือลุกนั่งลุกยืน สองขาสองแขนแนบติดกัน ก็อย่าได้แปลกใจนะครับ เพราะนั่นเขากำลังทำกายภาพบำบัดแบบ Close Kinetic Chan อยู่ก็เป็นได้ครับ 


ซึ่งวิธีดังกล่าว จะทำให้ข้อเข่าข้อศอกไม่ต้องเสื่อมสภาพ หรือผู้สูงอายุบางท่าน ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม จนต้องผ่าตัดเสริมเหล็กก็มี หากได้มีการออกกำลังกายเพื่อกายภาพบำบัดด้วยการใช้วิธีดังกล่าวแต่เนิ่นๆ ท่านอาจจะปลอดจากมีดหมอได้นะครับ แฮ่....หมออย่าด่าผมนะครับ
        

ในชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย เช่นภรรยาของผม จะชอบเย็บปักถักร้อย โดยใช้นิ้วมือข้างเดียว จนทำให้เกิดนิ้วล็อค เผอิญว่าผมเพิ่งมาอ่านพบบทวิจัยนี้ช้าไป เพราะเขาไปทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเสียแล้ว หากได้อ่านก่อน คงจะอธิบายให้เขาฝึกกายภาพบำบัดด้วยวิธีนี้ คงจะช่วยได้บ้างครับ 


ยังมีผู้สูงอายุบางท่าน อาจจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย หรือบางท่านอาจจะใช้อวัยวะไม่สอดคล้องกันทั้งสองข้าง ทำให้สภาพของกล้ามเนื้อไม่สนองตอบรับกับการสั่งการของสมอง หากท่านจะลองไปปรึกษานักกายภาพบำบัด และให้เขาสอนทำ Close Kinetic Chan ดู ต้องขอย้ำนะครับว่าอย่าทำ Open Kinetic Chan นะครับ เพราะผลจะออกมาต่างกัน เพราะจะช่วยให้เสถียรภาพของข้อต่อแข็งแรงมากขึ้น ไม่ทำให้เกิดข้อเสื่อมได้ครับ 
       

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด เพียงเพื่อให้รับรู้และเข้าใจว่า ปัจจุบันนี้มีวิธีการในการป้องกันการเกิดโรค ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เป็นทางเลือกมากมาย สำคัญที่เราจะต้องเป็นผู้เลือกใช้ให้ถูกวิธี ส่วนจะเลือกด้วยวิธีไหนบ้างนั้น คงต้องไปสอบถามกับผู้เขี่ยวชาญเอาเองนะครับ ผมเองก็ไม่ใช่หมอ ก็ได้แต่ไปค้นคว้าหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต 


ซึ่งความรู้ในยุคนี้ หาได้ง่ายแค่ปลายมือครับ ไม่เหมือนรุ่นที่พวกเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ที่ต้องเป็นผู้ทรงความรู้เท่านั้น จึงจะเข้าห้องสมุดไปค้นคว้าได้ ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ผู้สูงอายุหากไม่เหนียมอายที่จะเปิดคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถเปิดอินเทอร์เน็ตได้ ก็จะรับรู้ข่าวสารได้หมดละครับ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ไร้สาระ เราก็อย่าไปอินกับมันมากก็แล้วกันนะครับ.....แฮ่