Commonsense is not Common ฉากที่ 10

24 ก.ย. 2565 | 01:30 น.

Commonsense is not Common ฉากที่ 10 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3821

ครูสอนดนตรีแจ๊สระดับไฮสคูลเดินหน้าขรึมเข้ามาในห้องแล้วเปิดแฟ้มหยิบเอากระดาษโน้ตเพลงที่ว่างเปล่า คือ ไม่มีโน้ตเพลง ไม่มีสัญลักษณ์อะไรทั้งสิ้นวางลงบนโต๊ะ ลูกศิษย์คนหนึ่งคว้าขึ้นมาดูพลิกหน้าพลิกหลัง ทำหน้าเลิ่กลั่กแล้วก็แซวว่า “ว้าว วิชาเราโดนฝ่ายการเงินของโรงเรียนตัดงบประมาณรายปีเยอะขนาดนี้เลยเหรอครับ” (ฮา) ครูก็หัวเราะเพราะบรรยากาศของมุกไม่ได้เทน้ำหนักพุ่งกระแทกใจครู 100% การแซวกระทบชิ่งไปแซะโดนฝ่ายการเงินของโรงเรียนซึ่งครูก็คงอยากจะแซวอยู่แล้วก็มีส่วนทำให้ครูยิ้มได้

 

ครูวิทยาศาสตร์เข้ามาสอนทีไรจะทักทายนักเรียนทั้งห้องเป็นประจำก่อนจะสอนว่า “ว่าไง..นักเรียน?” มีอยู่คราวหนึ่ง ครูถามนักเรียนทั้งห้องว่า “เธอว่าคลื่นเขาพูดอะไรกับริมฝั่ง” นักเรียนสายฮาคนหนึ่งลุกขึ้นยืนตอบอย่างมีเลศนัยว่า “คลื่นเขาทักว่า  ว่าไง...ชายหาด?" (ฮา) ครูอาจจะ ยิ้มกดปุ่ม แต่คงจะงอนอยู่ในใจเพราะออกแนวล้อเลียนสไตล์การพูดของครูโดนตรง เป็นไปได้ว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งน่าจะโดนเอาคืน

หนึ่งเดือนต่อมาก็มีการสอบเก็บคะแนน  ครูวิทยาศาสตร์เอาข้อสอบอัตนัยระดับหินแกรนิต กะจะให้ลูกศิษย์พลิกชีวิตเป็นนักเขียนมืออาชีพหรือเปล่า ก็เดากันชัดๆ ไม่ได้ การทำข้อสอบรอบนี้นักเรียนสายฮาไปไม่เป็น เพราะถนัด ติ๊กเสี่ยงดวง มากกว่า เขียนเสี่ยงตาย ผลการสอบของ นักเรียนสายฮา ครูให้ไข่มาเต็มหน้ากระดาษ นักเรียนสายฮา โวยใส่ครูว่า “ผลการสอบของผม ไม่น่าจะได้คะแนนศูนย์ นะครับ!”

 

ครูยิ้มพร้อมกับปล่อยมุกขลุกขลิกว่า “ฉันก็ว่างั้นนะ จะทำไงได้ ศูนย์เป็นคะแนนต่ำสุดที่ฉันสามารถให้เธอได้! ” (ฮา) เรื่องแบบนี้คนที่มี สามัญสำนึก เขารู้กันมานานแล้วว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าไปแหยมกับผู้ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่า ไม่ต้องคิดให้ฟุ้งว่า ทำไมครูถึงไม่มีสามัญสำนึกล่ะ ใครจะมีไม่มีมันก็ช่าง เรามีประจำใจเราเอาไว้ก่อนเป็นอันว่าใช้ได้

ฟิลิป คอตเลอร์ ศาสตราจารย์ทางด้านการตลาดระหว่างประเทศ ของ SC Johnson ได้กล่าวยกย่อง Anthony W. Ulwick ว่า “ฉันเรียกเขาว่า Deming of Innovation คือ หัวใจสำคัญ Plan DO Check และ Act  ของการปรับปรุงนวัตกรรมต่อเนื่อง เพราะ ท่านนี้ได้เปลี่ยนนวัตกรรมเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าใครๆ” 

 

Anthony W. Ulwick ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ สามัญสำนึก ว่า “หลักการพื้นฐาน คือ บริษัทต่างๆ ควรทำความเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไรก่อนที่จะลงทุนในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ แนวทาง สามัญสำนึก มีผลดีต่อจุดมุ่งหมายที่จะทำให้กระบวนการนวัตกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
 

 

เจ้าสัวคนไทยท่านหนึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ที่จัดว่า เข้าท่าดี แต่ใช้ความคิดไม่สุดปลายกระบี่ ทำให้บริษัทชะตาพลิกผัน ท่านผลิต “รองเท้ากลิ่นลูกกวาด” ออกวางจำหน่าย ช่วงแรกลูกค้าแวะมาแกะกล่องลองเอามา

                              Commonsense is not Common ฉากที่ 10

สูดดมดูก็รู้สึกว่ากลิ่นมันหอมชื่นใจสมชื่อ หลังจากใช้ไปครั้งสองครั้งกลิ่นมันอื้อหือคล้ายกับ “ตดลิสง!” (ฮา) 

 

ผมพูดตรงๆว่า เห็นใจ เสียดาย และ จุกอก เหตุที่ จุกอก ก็เพราะมีเจ้าสัวท่านอื่นหัวไวเอาความคิดนี้ไปต่อยอดผลิต “สเปรย์ฉีดดับกลิ่นอับในรองเท้า” ร้านขายรองเท้าสั่งซื้อกันอื้อซ่า ท่านพลาดเรื่อง การเมคเซนส์ การทดลองลืมเล็งให้เห็นผลว่า กลิ่นหอมจรุงใจ ใน “รองเท้ากลิ่นลูกกวาด!” มันจะคงตัวอยู่ได้นานสักกี่น้ำ

 

บิล เมอร์เรย์ นักแสดงฮอลลีวูดเจ้าบทบาท ปรารภไว้ว่า “สามัญสำนึกเหมือนยาดับกลิ่น คนที่ต้องการมันมากที่สุดไม่เคยใช้มัน” มิน่า คนบางคนร่ายคาถากันเป็นวรรคเป็นเวรแต่กลับมีกลิ่นตัวแรง (ฮา)

 

พ่อค้าแม่ค้าตลาดริมทางที่เอาโต๊ะมาตั้งอยู่ข้างถนนหลวงหลายเจ้าที่ลืมใช้สามัญสำนึก ในการลงทุนขายผลสุดท้ายก็ไปได้ไม่ไกล ไก่ดำ เขาคงจะสาปแช่งคนที่เริ่มต้นตีปี๊บว่ากินไก่ดำแล้วจะเตะได้หลายปี๊บ กระแสการกินไก่ดำทะลักเมืองอยู่พักหนึ่ง เคยมีข่าวตีพิมพ์ว่า ไอ้หนุ่มคนหนึ่งไปซื้อไก่ดำมาไหว้ท่านพระราหู ไปสายไก่ดำเกลี้ยงแผง ตะแกจึงซื้อไก่ธรรมดาแล้วแวะซื้อสีดำเอามาพ่นจนกลายเป็นไก่ย้อมสี ถ้าผมเป็นองครักษ์ของท่านพระราหู ผมจะบ้องหูไอ้หมอนี้สักดอกสองดอก เทวดาท่านไม่ต้องใส่แว่นและไม่โง่เหาะลงมากินไก่ย้อมสี (ฮา) 

 

พ่อค้าแม่ค้าตลาดริมทางก็ตั้งตู้ขายไก่ดำกันนับไม่ทัน เพราะรถมันวิ่งเร็ว (ฮา) หลายเจ้าไก่เขาดำจริงๆ เพราะว่าขายไม่หมดก็เอามาอบมาปิ้งกันบูดจนไก่ตัวดำปึ๊ด หนังเหนียวเคี้ยวกันหลายเอื้องก็ยังไม่ย่อยเลย จะขายเกลี้ยงได้ไง เท่าที่เคยนับได้ ร้านตลาดริมทางวางขายห่างกันไม่เยอะ วางบู้ธเรียงเป็นตับล่อเข้าไป 20 - 30 ร้าน

 

สมัยนี้นักวิชาการแดนตะวันตกเรียกบริษัทร้านค้าทำนองนี้ว่า การตลาดสายตาสั้น เพราะว่าไม่มองการณ์ไกล 

 

ครูสอนขับรถบอกว่า อย่าขับรถไปชนใคร อย่าขับรถให้ใครมาชน อย่าขับรถจนเป็นเหตุให้คันอื่นเขาชนกัน ถึงเราจะรู้หลัก แต่ถ้าตัวเราขับรถโดย ไม่มี สามัญสำนึก ในการมองการณ์ไกล มันเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอยู่ดี


ใครจะหาว่า สามัญสำนึก ทำให้ขี้กลัว คาร์ลอส รุยซ์ ซาฟอน นักประพันธ์คนดังชาวสเปน ท่านให้ความเห็นว่า


“อย่ากลัวที่จะกลัว การกลัวเป็นสัญญาณของสามัญสำนึก คนงี่เง่าที่สมบูรณ์เท่านั้นที่ไม่กลัวอะไรเลย” คตินี้คนทั่วไปคงจะไม่เข้าใจ ยกเว้น ผู้ชายที่เดินตามรอย พระอภัยมณี (ฮา)