Commonsense is not Common ฉากที่ 7

02 ก.ย. 2565 | 23:09 น.

Commonsense is not Common ฉากที่ 7 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3815

ท่านอีสป เคยเป็นทาส อาศัยว่าท่านชาญฉลาด สังเกตรู้ได้โดยวิจารณญาณว่าคนนี้คนนั้นเขาเป็นคนแบบไหน ผมว่า ท่านอีสป เป็น Guru ทางด้าน “วิทยาสหสูตร” วิชาเอก Common Sense วิชาโท Ethical Mindset ชุดความเชื่อด้านจริยธรรม เจ้านาย ได้มอบหมายให้ ท่านอีสป เป็นครูสอนลูกให้รู้จักว่าอะไรถูกอะไรผิด การอยู่ให้เป็นควรจะทำตัวอย่างไร ใครได้เจอได้คุยกันจะลืมไปเลยว่าท่านเป็นทาส เจ้านาย ชวนออกงานไปพบคนใหญ่คนโต เขาได้เล่านิทานสอนใจให้ใครต่อใครฟังดังไปทั่วแคว้น 


สิงโตตัวหนึ่งกินเนื้อสัตว์มากทำให้ปากมีกลิ่นเหม็น  มันอยากรู้ว่ากลิ่นปากของมันเหม็นสักแค่ไหน จึงถามแกะตัวหนึ่งที่เดินผ่านมาว่า “กลิ่นปากของข้าเป็นอย่างไร” แกะดมเเล้วก็บอกไปตามตรงว่า “กลิ่นปากของท่านเหม็นมากกก” สิงโตได้ฟังก็โกรธจึงจับเเกะขย้ำกินทันที ต่อมาสิงโตเจอกับหมาป่ามันก็ถามกระทู้เดิม หมาป่ารู้ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ (ฮา) จึงพูดยกยอว่า “กลิ่นปากของท่านหอมมว้าก!” สิงโตรู้ว่าหมาป่าโกหกจึงเลือกเป็นเมนูที่สองตะปบงับกินไปตามระเบียบ 

จากนั้นสิงโตเดินมาจะเอ๋กับสุนัขจิ้งจอก มันถามเหมือนเดิมสุนัขจิ้งจอกได้กลิ่นคาวเลือดจากปากสิงโตก็รู้ทันด้วยสามัญสำนึก มันรู้หลบเป็นปีกและรู้หลีกทำเป็นตีเนียนว่า “ขอโทษทีนะท่าน ช่วงนี้ข้าเป็นหวัด จมูกดมอะไรไม่ได้กลิ่นเลย ท่านสิงโตไปสอบถามสัตว์ตัวอื่นเถิด” (ฮา)

 

การได้เป็นคนโปรดของเจ้านาย น่าจะเป็นทุกขลาภอีกแบบหนึ่ง ทาสขี้อิจฉารายหนึ่งรู้ว่า เจ้านายชอบกินลูกมะเดื่อ มันจึงแอบจกเอาไปกินแล้วฟ้องเจ้านายว่า อีสปเป็นคนขโมย เจ้านายหูเบาจึงไล่ท่านอีสปออกจากบ้าน ท่านอีสป มี ความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) ไม่เถียงโวยวาย ได้แต่ร้องขอกับ เจ้านาย ด้วยความสุภาพว่า “ถ้าข้าพิสูจน์ได้ว่า ข้าไม่ได้ขโมยกินลูกมะเดื่อของท่าน ข้าก็จะอยู่ต่อ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ข้าจะอำลาจากท่านไป!”

ใครจะไปเชื่อว่า ท่านอีสป คือ ทาสสมองเพชร ท่านอีสป ขอน้ำอุ่นมาสองแก้ว แก้วแรก ท่านอีสป ดื่มหมดแล้วก็เอามือล้วงคอจนสำรอกเศษอาหารออกมาแต่ไม่มีเศษมะเดื่ออะไรอยู่เลย ท่านอีสป หันไปบอกกับทาสขี้อิจฉา ว่า “เจ้าต้องพิสูจน์เหมือนกับที่ข้าทำ” ทาสขี้อิจฉาทำตามด้วยความไม่พอใจ เจ้านายทำตาโต เพราะไอ้หมอนี่มันสำรอกหลักฐานเชิงประจักษ์คือ เศษมะเดื่อที่ยังไม่ย่อยกระจายออกมาตรึม!


ถูกต้อง คือ ถึงจะเป็นรถตู้รับส่งผู้โดยสาร ก็ควรจะขับไปยูเทิร์นตรงทางเลี้ยวที่จราจรจัดไว้จะได้มีความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ถูกเรื่อง คือ ถ้ารถติดแบบไม่มีสิทธิ์ยูเทิร์นด่วน มันเป็นกรณีสุดวิสัยที่จะต้องมีใครมาตัดสินใจจัดเปิดทางให้เป็นพิเศษ มอเตอร์ไซค์วิน จึงจอดรถเดินไปยกแบริเออร์ออกให้เลี้ยวตรงนั้นกันไปเลย 


ผมเคยแซวเล่นผ่านจอแก้วว่า “ไม่เห็นด้วยกับป้ายที่เขียนไว้ในรถเมล์ว่า โปรดเอื้อเฟื้อแก่ เด็ก สตรี คนชรา น่าจะเขียนใหม่ว่า โปรดเอื้อเฟื้อแก่ผู้ที่เมื่อย!” (ฮา) เราจะตีตั๋วราคาเท่ากันก็ควรจะมีสิทธิเสมอภาคในการนั่ง เอาเข้าจริงใครไม่ยอมลุกให้ผู้หญิงท้องนั่ง จะโดน ตาวิวาท จ้องกันทั้งโบกี้ โทษฐาน สามัญสำนึก แบ็ตหมดใครที่คุ้นเคย เห็นแจ้งเรื่องต่างๆ ทั้งในวงกว้างว่าอะไรเท็จอะไรจริง และ เห็นการณ์ไกลในผลกระทบที่เกิดขึ้นตามหลัง ซึ่งทำให้ตกใจ หรือ ทำให้ใจสงบสุข

 

รวมทั้งเห็นแจ้งความนัยที่รู้ๆ ว่ามันเป็นไปอย่างซับซ้อนศัพท์นักกฎหมาย เรียกว่า “วิญญูชน” แปลว่า “ผู้รู้ผิดรู้ชอบโดยปกติวิสัย” คุณลักษณะดังว่านี้เป็นพื้นฐานของผู้ที่มี “สามัญสำนึก” เฮ้อ…เหนื่อย ดีนะที่ “ท่านบิ๊กป้อม” พูดแล้วทำให้ผมอึด “ท่านบิ๊กป้อม” เพิ่งจะพูดจบไปหมาดๆ ว่า “ใช้ใจบันดาลแรง!” (เป๊ก…พ่อ)

                                          Commonsense is not Common ฉากที่ 7
ก่อนจะเอ่ยอ้างชื่นชม “วาทกรรมการเมืองแห่งปี” ของ “ท่านบิ๊กป้อม” ผมขอเรียนเพื่อทราบเอาไว้สักเล็กน้อย ตั้งแต่เกิดมาผมเคยใช้ลิ้นเลียอย่างเป็นทางการอยู่เพียงสองสิ่ง คือ ไอศครีม! กับ แสตมป์! (ฮา) สำหรับรอบนี้ผมไม่นับว่าเป็นการเลีย ผมแค่ส่งซิกว่า สังคมเรากำลังขาดแคลนความเกรงใจและการให้เกียรติ

 

ผมจึงชื่นชม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี” ตรงที่ “ท่านบิ๊กป้อม” แสดงสปิริตละเว้นการใช้สิทธิ์ที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ท่านให้เหตุผลกับนักข่าวว่า “ผมควรจะให้เกียรติท่านนายกฯ” ท่านสามารถจะเลือกได้ระหว่าง “ถูกต้อง” คือ นั่งเก้านายกรัฐมนตรี หรือ“ถูกเรื่อง” คือ ไม่นั่งให้ระคายใจ การมี Common Sense อยู่กับตัวเสมอว่า  “ไผเป็นไผ” ของ “ท่านบิ๊กป้อม” เป็นตัวอย่างอันดีที่ไม่ควรมองข้าม


วันที่พ่อผมจะลาจาก ทุกคนเงียบกริบกันทั้งห้อง คุณแม่ กับ ผม ยืนอยู่ใกล้เตียง ผมก็ลองพูดแหย่ คุณพ่อ เพื่อที่จะละลายบรรยายความอึมครึมว่า “พ่อไม่ต้องเป็นห่วงนะ ผมจะดูแล เมียพ่อ ให้เอง” (ฮา!) คุณพ่อพยักหน้ารับ คุณแม่ก็ยืนหัวเราะ ช่วงที่ คุณพ่อ ใกล้จะอำลา คุณแม่น้ำตาซึม หลังจากเลยวัยทิ้งนมผมก็ไม่เคยกอดคุณแม่สักครั้ง วันนั้นผมดึง คุณแม่ เข้ากอดแล้วบอกว่า “ผมยังอยู่อีกคน คุณแม่ไม่ต้องห่วง!”


“อยู่เป็น” จะต้องไม่ลืม สำแดงสามัญสำนึก กับคนในบ้านให้  “ถูกต้อง” และ “ถูกเรื่อง”