“วัตถุมงคล กับ ใจมงคล” ชาวพุทธเลือกแบบไหน

22 มิ.ย. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย​ ราช รามัญ

ในโลกออนไลน์ต่างมีความคิดที่แตกต่างกัน ระหว่างผู้ที่ชื่นชอบวัตถุมงคลที่พระสงฆ์ปลุกเสกกับผู้ที่ชื่นชอบธรรมะแท้ๆ ในแนวพระป่าวัดป่า ความแตกต่างเกิดขึ้นเพราะมุมมองที่มีกันคนละมิติและมองเห็นความจริงกันคนละด้านนั่นเอง
 

คนที่ชอบวัตถุมงคลต่างก็บอกว่า การสร้างและเสกวัตถุมงคลนี้มีมานับหลายร้อยปีตั้งแต่กรุงสุโขทัยมาถึงลพบุรี อยุธยา และก็มาถึงในยุคปัจจุบัน สร้างแล้วผู้คนเอาไปบูชาเพื่อไว้ป้องกันสิ่งที่มองไม่เห็นทั้งคุณไสย ทั้งสิ่งอัปมงคลต่างๆ ตลอดทั้งแก้และกันเพื่อทำให้ชีวิตไม่ตกอยู่ในอันตราย
 

สมัยนี้เมื่อสร้างวัตถุมงคล ให้จำหน่ายวัดก็พอมีรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองอีกทั้งไว้คอยปรับปรุงซ่อมแซมเสนาสนะภายในวัด เพราะไม่เคยมีหน่วยงานไหนอุดหนุนวัดและพระสงฆ์ได้อย่างจำนวนที่มากพอต่อความต้องการได้
 

ทั้งพระและวัดจึงต้องหารายได้เองเพื่อเสียค่าน้ำค่าไฟและซ่อมแซมบูรณะเสนาสนะเอง ส่วนวัตถุมงคลนั้นจะดีจริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์นั้นๆ ของผู้ที่นำเอาไปบูชา

 

 

แต่ผู้ศึกษาธรรมะในสายพระป่าวัดป่า ก็มีมิติการมองไปอีกมุมหนึ่งว่า ศาสนาพุทธที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เหมือนไปผิดทาง เน้นวัตถุเพื่อหารายได้เพียงอย่างเดียวมากไป ตามความจริงการเป็นพระต้องสมถะ สงบ อยู่ได้แบบตามมีตามเกิด พระภิกษุแปลว่าผู้ขอ เดินออกบิณฑบาตนี่คือการขอ  ดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะการขอ ไม่ใช่ดำเนินชีวิตอยู่ได้เพราะการสร้างรายได้
 

วัตถุมงคล มองกันตามความจริงผู้เสกไม่ว่าจะยุคไหนรุ่นไหนต่างก็ต้องละสังขารไป พูดง่ายๆคนสร้างคนเสกยังตายเลย แต่ทว่าในสายพระป่าวัดป่านิยมสอนให้ใจเกิดความเป็นมงคล เพราะจะทำให้เกิดปัญญาในแก้ไขและตัดสินปัญหาต่างๆ ได้ รู้จักความสงบในจิตใจได้
 

ความแตกต่างอยู่กันตรงนี้
 

มีการวิจัยในเชิงจิตวิทยาว่า..ผู้ที่อาศัยวัตถุมงคลยึดเหนี่ยวจิตใจนั้นเป็นเพราะใจยังไม่แข็งแรงมากพอ ยังต้องพึ่งสิ่งภายนอกอยู่ ส่วนผู้ที่ไม่สนใจในวัตถุมงคลใดๆ เลยนั้นเป็นเพราะใจเขาเป็นที่พึ่งแห่งใจได้แล้วจิตใจแข็งแรงมากพอ
 

ผู้ที่ชอบวัตถุมงคลโดยมากยังชอบดื่ม หรือไปในสถานที่อโคจรเป็นเสียส่วนมาก นี่ในมุมวิชาการเขามองแบบนั้น แล้วต่างก็ยกแก้วสุราข้ามหัวของวัตถุมงคลที่แขวนอยู่เพื่อเอาเข้าปาก จึงเกิดคำถามว่า ความขลังศักดิ์สิทธิ์นั้นจะอยู่ตรงไหน

 

ตามหลักของพระพุทธเจ้า คำสอนนั้นทรงห้ามวัตถุมงคลต่างๆ ทั้งนั้น

ในตำนานพระพุทธรูปแก่นจันทร์ ตอนพระองค์ขึ้นสวรรค์โปรดพระมารดา ศรัทธามหาชนคิดถึงพระองค์จึงนำเอาไม้แก่นจันทร์มาแกะเป็นรูปพระองค์ เพื่อบูชาระลึกถึง ครั้นทรงเสด็จลงมาสั่งให้นำไปทำลายเสีย
 

บ้างมองว่าอินเดียยุคนั้นไม่นิยมสร้างรูปเคารพของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ถือว่าไม่เป็นมงคลนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่พระพุทธเจ้าไม่สอนไปในแนวนี้จึงสั่งให้ทำลาย
 

เราจะศึกษาและนับถือพุทธแบบไหน วัตถุมงคล หรือ มีใจที่เป็นมงคล อีกอย่างประเภทพระสร้างปลัดขิกนี่ ไม่ควรสร้างและทำยิ่งนัก เพราะปลัดขิก คือ สัญลักษณ์ตัวแทนแห่งศิวลึงค์ในศาสนาฮินดู สร้างเหรียญเคารพ และอื่นๆ ยังพอรับฟังได้บ้าง หวังว่าชาวพุทธคงใช้ปัญญาพิจารณาเอาเองได้ว่าสิ่งใดควรไม่ควรในเรื่องวัตถุมงคลนี้