"กรรมแห่งความแตกแยก"

11 พ.ค. 2565 | 19:30 น.

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราช รามัญ

การแก้ไขปัญหาของปัญญาชนย่อมอาศัยธรรมทั้งปวงเป็นที่ตั้ง​ ไม่อาศัยความต้องการแห่งตนเป็นที่ตั้ง​

 

ความแตกแยกทั้งหลายบนโลกใบนี้ ล้วนเกิดขึ้นมา ออกการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักแห่งธรรมทั้งปวง​แหละนี่คือ​ ผลของกรรมอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

 

ความใจแคบของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกทั้งปวง​ จากจุดเล็กๆ ก็จะค่อยๆ ขยายเป็นจุดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

 

สมมุติ มีคนกลุ่มหนึ่งจำนวนไม่มาก​ ไม่ชอบการทำงานของรัฐบาล​ ถ้ารัฐบาลไหนมีสติปัญญา​เขาก็จะยอมรับฟัง​ แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นของเขาเหล่านั้นไม่ค่อยสมบูรณ์ในหลายๆ มิติของข้อมูลก็ตาม เราก็ควรรับฟังอย่างสงบและสุภาพ​  แล้วทุกอย่างก็จะสงบ​ และหลังจากนั้นค่อยๆ ชี้แจง​ ทำความเข้าใจ

แต่ถ้าไปปฏิเสธไม่รับฟังเขาเพราะถือว่า​ข้อมูลไม่ครบทุกด้าน​ ข้อมูลมิติเดียว​ แบบนี้จะเกิดแรงต้านอย่างมากทันที​ นี่เรียกว่า​ การผลักให้เขาไปเป็นศัตรู​ เป็นการบริหารที่ด้อยพัฒนา ขาดปัญญานำ ​ใช้แต่อารมณ์​นำ เอาความคิด​ความเห็นของตนนำ​ นี่แหละ​อัตตา​ ขาดธรรมะ เมื่อไหร่อัตตาเกิดอย่างมาก รวดเร็วและร้อนแรง คนแบบนี้เป็นผู้นำเป็นผู้บริหารก็จะพากันหายนะโดยง่ายเพราะขาดหลักธรรม​ะ

 

ดังนั้นสิ่งที่จะละลาย​กรรมแห่งการแตกแยกมีดังนี้

 

1​. ละลายอัตตา ไม่ใช้อัตตาของตนเป็นที่ตั้ง​ ไม่ใช้ความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง​

 

2.​ การยอมรับ​ รู้จักยอมรับในความคิดผู้อื่นบ้าง​ แม้ว่าเขาจะเรียนน้อยหรือเรียนมากกว่า​ ถ้าเรายอมรับบ้างก็จะทำให้ทุกอย่างค่อยๆดีขึ้น​สงบลง​ 

แต่โดยมาก​ มักจะไม่ค่อยยอมรับความแตกต่างของกันและกัน​ เพราะอัตตาฝังลึก​ "แบบนี้ไม่ได้.. ต้องทำแบบนี้​เพราะเราต้องการแบบนี้"

 

นี่คือ​รอยกรรม​ และผลที่ตามมาก็เป็นความแตกแยก​ ร้าวลึกๆ ไปเรื่อยๆ​ ทุกปัญหาเกิดจากการไม่ยอมรับ​ ถ้ายอมรับทุกอย่างก็จบ​

 

สังคมไทย... แตกแยกแตกร้าว​ เพราะการไม่ยอมรับกัน​ ไม่ยอมรับความแตกต่างจึงเกิดความแตกแยก​ แต่ถ้ารู้จักยอมรับบ้างทุกอย่างก็จะเบาลง​ เหมือนเราเอาดินน้ำมันใส่มือ​บีบมากๆ มันก็เล็ดลอดตามช่องนิ้วมือ​ แต่ถ้าบีบบ้างคลายบ้าง​มันก็จะไม่รุนแรงมาก

 

บางคนบอกอยากให้บ้านเมืองมั่นคง​ ในหลักธรรม​ ความมั่นคงเที่ยงแท้ไม่มี​ มีแต่พอมั่นคงได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความมั่นคง ตามหลักธรรมแบบผู้มีปัญญา​เขาจะไม่ใช้ความรุนแรงที่โง่เขลา ​แต่เขาจะใช้วิธีการยืดหยุ่น​ เพราะความยืดหยุ่นนี่แหละ​คือ​ความมั่นคงอย่างแท้จริง​ บางช่วงตึงบางช่วงหย่อน​ ก็พอรอมชอมอยู่ร่วมกันได้ในสังคมนี้