"จริยธรรมสื่อ VS เรตติ้ง" เมื่อ "หมอปลา" ใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ ?

13 พ.ค. 2565 | 09:54 น.

รายงานพิเศษ : "จริยธรรมสื่อ VS เรตติ้ง" เมื่อ "หมอปลา" ใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ

จากกรณี "ข่าวหมอปลา" หรือ นายจีรพันธุ์ เพชรขาว พร้อมด้วยภรรยา ทีมงาน และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไม่กี่ช่อง

 

บุกตรวจสอบ "หลวงปู่แสง ญาณวโร" เจ้าอาวาสวัดป่าดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เมื่อ 12 พ.ค. 2565 

 

ทำให้เกิดกระแสสังคม และแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ อย่างน้อย 2 แฮชแท็ก

 

คือ #หลวงปู่แสง และ #หมอปลา ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ชื่นชมและสาปแช่งด่า "หมอปลา" ปะทะความคิดและอารมณ์ผ่านโลกออนไลน์

แต่ทั้ง 2 แฮชแท็ก ปรากฏคลิป รูปภาพ ข้อความ "ตั้งคำถาม" และตำหนิวิธีการทำงาน การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่ไปกับหมอปลา ว่า "เหมาะสมหรือไม่"  

 

ท้าทายกับ "หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553"

 

ซึ่งในหมวด 4 ระบุ แนวปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ข้อ 11 ความว่า

 

"การได้มา หรือการนำเสนอหรือการเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พึงใช้วิธีการที่สุภาพ ซื่อสัตย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หรือมีความหมายที่ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น"

 

หลังจากนั้นไม่นาน "ข่าวเวิร์คพอยท์ 23" หนึ่งในสื่อที่ส่งทีมข่าวไปกับคณะของหมอปลา ได้ออกประกาศทางสื่อออนไลน์ของตัวเอง "มาตรการลงโทษนักข่าวเวิร์คพอยท์ กรณีหลวงปู่แสง" โดยระบุว่า 

  1. ให้ผู้สื่อข่าวเข้ากราบขอขมาหลวงปู่แสง
  2. พักงานโดยไม่มีกำหนด
  3. ช่วงพักงาน เรียนรู้จรรณยาบรรณและวิชาชีพสื่ออย่างมืออาชีพ

 

กองบรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ 23 น้อมรับความผิด และขออภัยเป็นอย่างสูงต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทุกท่าน รวมถึงผู้ที่ได้ติดตามข่าว มา ณ ที่นี้

"จริยธรรมสื่อ VS เรตติ้ง" เมื่อ "หมอปลา" ใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ ?

ขณะที่อีกสื่อ ช่อง 8 ก็ได้ออกแถลงการณ์ ในเวลาต่อมา โดยระบุว่า ทางกองบรรณาธิการข่าวช่อง 8 ได้ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนในการนําเสนอข่าว มาโดยตลอด

 

โดยเฉพาะข่าวที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน และสังคมเป็นวงกว้าง ซึ่งจากกรณี การนําเสนอข่าวหลวงปู่แสง ญาณวโร พระเกจิชื่อดัง 

 

ที่เริ่มนําเสนอ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 และ มีภาพของผู้สื่อข่าวช่อง 8 ที่ลงพื้นที่ทําข่าวปรากฏออกสู่สาธารณะอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลต่อความรู้สึก ของประชาชนที่ติดตามข่าวเป็นอย่างมาก

 

กองบรรณาธิการข่าวช่อง 8 ตระหนักและน้อมรับต่อข้อผิดพลาดดังกล่าว จึงขออภัยเป็นอย่างสูง มา ณ ที่นี้ ต่อหลวงปู่แสง ญาณวโร และผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ รวมทั้งผู้ชมที่ได้ติดตามข่าว 

 

โดยเบื้องต้น ทางกองบรรณาธิการข่าวได้มีการตักเตือน และพิจารณาสั่งพักงานผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวเป็นเวลา 7 วันแล้ว พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบจริยธรรมในวิชาชีพสื่อทันที ก่อนจะกําหนดบทลงโทษเพิ่มเติมต่อไป

 

กองบรรณาธิการข่าวช่อง8 จะใช้ความรอบคอบ และระมัดระวัง พร้อมยึดถือจรรยาบรรณวิชาชีพ สื่อมวลชนในการนําเสนอข่าวให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้อีก
ด้วยความเคารพอย่างสูง

"จริยธรรมสื่อ VS เรตติ้ง" เมื่อ "หมอปลา" ใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ ?
ด้านความเห็นของนักวิชาการด้านสื่อมวลชน "ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์" โพสต์แสดงความคิดเห็นสั้นๆว่า 

 

กระบวนการทำข่าว ที่ขาดไม่ได้เลยคือ #ตรวจสอบข้อเท็จจริง และมันควรมาก่อนการรายงานข่าวออกไปไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม.. ถ้าเรื่องไหนที่เราไม่เข้าใจ ก็ยังไม่ควรรายงานออกไปแบบที่ไม่เข้าใจ เพราะว่า การสื่อสารก็อาจผิดพลาดได้เช่นกัน #สอนนศวันนี้

ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ส่วน นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊คระบุว่า หลวงปู่แสง และมารยาทต่อแหล่งข่าว - เรื่องหมอปลา จะถูกผิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การรุมล้อม และตั้งคำถามด้วยท่าทีที่ขาดความเคารพในแหล่งข่าว ตำหนิติเตียน ใช้ถ้อยคำประชดประเทียด แดกดัน โดยเฉพาะกับพระสงฆ์อันเป็นที่เคารพ ศรัทธา ของผู้คนจำนวนมากนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

 

เราควรต้องทบทวน และอบรมบ่มเพาะจริยธรรมของสื่อ ในข้อที่พึงปฎิบัติต่อแหล่งข่าวหรือไม่ แหล่งข่าวไม่ใช่ผู้ต้องหา ไม่ใช่จำเลย สื่อก็มิใช่ตำรวจ ไม่ใช่ผู้พิพากษา ที่จะคาดคั้นเอาความจริงจากแหล่งข่าว นอกจากการตั้งคำถาม เพื่อให้ได้คำตอบ หากแหล่งข่าวไม่ตอบคำถาม ก็เป็นสิทธิของท่าน

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น สื่อก็เห็นอยู่แล้วว่าหลวงปู่แสง ท่านชราภาพมากแล้ว การตอบคำถามก็ยากลำบาก และดูเหมือนว่า จะสื่อสารกับท่านโดยตรงไม่ได้ ก็ควรจะเข้าใจ และใช้วิธีการอื่นๆให้ได้ความจริง โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีที่คล้ายคุกคามแหล่งข่าว

 

ข่าวนี้มีคุณค่าที่นำเสนอได้ เพราะอาจเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนใกล้ชิด โดยอาศัยศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหลวงปู่แสง แต่การได้มาซึ่งข่าว คนทำข่าวก็ควรรู้และเคารพแหล่งข่าว ยิ่งเป็นพระอริยเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ผู้คนให้ความเคารพรัก และศรัทธามายาวนาน ยิ่งต้องระมัดระวัง

 

ส่วน นายอุทิส ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีนายจีรพันธุ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา บุกตรวจสอบหลวงปู่แสง ญาณวโร จังหวัดยโสธรว่า ผลการ scenario แปลว่า "พยากรณ์ทำนายล่วงหน้า" หมอผีจะย่อยยับ ยับเยินในเวทีตรวจสอบพระ นิยามของคำว่า “คว้าน้ำเหลว” สุดท้าย เป็นไปตามคาดการณ์ ที่กล้าทำนาย เพราะทีมหมอผีไม่แม่น "วินัยปิฎก" การจับนมสาวไม่ใช่ปาราชิกเสมอไป

 

ล่าสุด หมอผี โยนบาปใส่ลูกศิษย์ อ้างชัดในคลิป ไม่เคยไปจับผิดหลวงปู่แสง ขัดกับคลิปเมื่อวาน หัวเราะเยาะเย้ย เย้ยหยัน เหยียดหยาม หลวงปู่ สารพัด ย้ำชัด "จับนมสาว" ย้ำไปย้ำมา หลายครั้งหลายหน ทำเอาคนแห่ ตามไปด้วย เกิดกระแสลุกฮือ

 

อีกไม่นาน ทราบว่าทนายคนดังเตรียมร่างฟ้อง ส่ง "หมาย" คือ "ครุฑบิน" เรียกตัวบางคน เป็น "ผู้ต้องหา" บ้าง บางคน ไม่รู้ใครนะ ไปถามทนายคนดังเอาเอง

 

ก่อนหน้านี้ นายอุทิส โพสต์ข้อความว่า ประเด็นหลวงปู่อายุเฉียด 100 ปี อ่านงานวิจัยประกอบ จะได้ความกระจ่าง ส่วนตัวผมมองว่า คนแก่เข้าสู่สภาวะหลงๆ ลืมๆ ไม่ 100% กรณียโสธร ผม scenario ทำนายผลล่วงหน้า หมอผีจะคว้าน้ำเหลว…พิเคราะห์หักลบกลบกันกับบุญบวชที่หลวงปู่ทำมาตลอดทั้งชีวิตนะ

 

วันที่ 13 พ.ค. นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา ได้ชี้แจงว่า เคสหลวงปู่แสงมีคนร้องเรียนมา 2 เคส แต่ไม่มีคลิป ไม่มีหลักฐาน ตนเองจึงส่งน้องทนายผู้หญิง 2 คนเข้าไปรอบแรก ผลปรากฏก็เป็นไปตามที่แหล่งข่าวอ้างว่า มีการจับหน้าอกต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นมาจากลูกศิษย์ โดยลูกศิษย์รับรู้ รับเห็น แม้กระทั่งตัวแม่ชีเอง

 

รอบแรกที่เข้าไปก็เจอพฤติกรรมอย่างแหล่งข่าวพูด แต่ก็ไม่ได้ข้อมูลอะไร เพราะกลัวว่าเมื่อเอาข้อมูลไปบอกนักข่าวแล้วจะไม่มีอะไร เพราะไม่มีคลิปหลักฐาน จึงส่งทีมไปรอบที่ 2 ซึ่งรอบที่ 2 น้องที่เข้าไป 2 คนรู้สึกกลัว ตนก็เลยให้น้องนักข่าวผู้หญิงเข้าไปเป็นเพื่อน เมื่อไปถึงเขากลับเรียกน้องนักข่าวเข้าไป ไม่ได้เรียกน้อง 2 คนให้เข้าไป ซึ่งนักข่าวก็เลยเข้าไป นี่คือต้นสายปลายเหตุทั้งหมด

 

“เราไม่ได้มีการจัดฉากใดๆทั้งสิ้น แต่เราไปตามข้อมูลของแหล่งข่าวที่ยืนยันมา 2 เคสว่าพฤติกรรมเป็นแบบนี้ แม่ชีรู้เห็นเป็นใจ พระลูกศิษย์รู้เห็นเป็นใจ เราส่งไป 2 ครั้ง และทั้งรอบที่ 2 ก็ยังเป็นเหมือนเดิม”

 

เมื่อถามว่า ต้นสังกัดของนักข่าวที่เข้าไปรอบที่ 2 ได้รู้เรื่องนี้หรือไม่ หมอปลาบอกว่า ตนรับประกันได้เลยว่าต้นสังกัดของน้องไม่รู้เรื่อง จะไปโทษต้นสังกัดเขาไม่ได้ ตนบอกแล้วว่า การลงพื้นที่แต่ละครั้งต้องมีคลิป ต้องมีหลักฐาน แค่บอกนักข่าวหญิงให้ไปเป็นเพื่อนน้องทนาย 2 คนนั้น เข้าไปเป็นเพื่อนเฉยๆ เพราะอยากรู้ว่าพฤติกรรมที่น้อง 2 คนเข้าไปว่าเป็นยังไง แต่ยอมรับน้อง 2 คนที่เข้าไปครั้งแรกรู้สึกกลัว น้องกลัวมาก”


ผู้สื่อข่าวถามว่าตอนที่ทีมงานเข้าไปรู้หรือไม่ว่าพระท่านป่วย หมอปลา บอกว่า เราไม่รู้ ถ้าพระท่านป่วยแล้วแม่ชี พระที่อยู่ข้างๆทำไมไม่เอาไปรักษา ซึ่งเราไม่ได้คิด แต่เราสังเกตุถึงพฤติกรรมว่าทำไมพระพี่เลี้ยงที่อยู่ข้างๆถึงปล่อยให้จับ อันนี้คือสิ่งที่ตนและน้องทนายที่เข้าไปสงสัยเท่านั้น และ ตนไม่ได้ออกมาแก้ตัว ที่พูดมาคือความจริง ทุกอย่างมีหลักฐานตนไม่ได้มาจัดฉาก