ส่องโปรเจคต์ขายฝัน “คมนาคม”

11 พ.ย. 2564 | 07:24 น.

เปิด 3 โปรเจคต์คมนาคมที่ไปต่อไม่ได้ หลังโดนวิจารณ์ยับ-ประชาชนไม่เห็นด้วย สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบรกโครงการฯ หวั่นทัวร์ลง

ตามปกติทุกๆปี ผู้บริหารระดับสูงแต่ละกระทรวงมักจะออกนโยบายต่างๆเพื่อที่จะขับเคลื่อนโครงการต่างๆที่อยู่ภายใต้การดูแลในกระทรวงนั้นๆสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่มีสะดุด แต่สำหรับเจ้ากระทรวงวงเงินแสนล้าน อย่างกระทรวงคมนาคมกลับไม่เป็นเช่นนั้น 

 

 


ที่ผ่านมาภายหลังจากที่นายศักดิ์สยาม   ชิดชอบ เข้ามารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคนใหม่ประจำกระทรวงคมนาคมในช่วงปี 2562  ได้ผุดนโยบายต่างๆมากมาย ซึ่งมีนโยบายที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง แต่บางนโยบายก็ต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการต่อได้ 

 

 


เริ่มที่โปรเจคต์แรก อย่าง การออกกฎหมายติดตั้ง GPS บนรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งให้เหตุผลว่า การออกกฎหมายในครั้งนี้เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการ  ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและการเกิดอุบัติเหตุ โดยให้กรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ.ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง  เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็น อีกทั้งจะดำเนินการบังคับกับรถใหม่ที่สามารถให้ติดตั้งอุปกรณ์ GPS ออกมาจากโรงงานได้ ส่วนรถเก่าจะทยอยบังคับใช้ในลำดับต่อไป

 

 


ไม่เพียงเท่านั้นยังระบุอีกว่าต้นทุนอุปกรณ์ GPS จากเดิมมีราคา อยู่ที่  10,000 บาทต่ออุปกรณ์ ค่าบริการ 500-700 บาทต่อเดือน ปัจจุบันลดเหลือ 3,000 บาท ค่าบริการประมาณ 300 บาท กรณีที่มีการใช้จำนวนมากราคาจะลดลงอีก ซึ่งเทียบไม่ได้กับความสูญเสียจากอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สิน 


 

เมื่อโปรเจคต์นี้แพร่กระจายออกไปกลับมีกระแสดราม่า เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งค่าบริการใช้จ่ายต่อเดือนที่แพง ซึ่งเป็นกรรเอื้อธุรกิจนายทุนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เมื่อสถานการณ์กลายเป็นแบบนี้ เจ้าตัวผู้ผุดโปรเจคต์นี้ ตอบเพียงแค่ว่าให้ ขบ.ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากไม่ได้รับกระทบมากและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมน่าจะดำเนินการได้ โดยให้ ขบ.ดูเรื่องค่าอุปกรณ์ GPS และค่าบริการที่มีราคาถูก และขอไม่พูดถึงแนวคิดนี้ โดยโยนงานมาให้ “กรมขนส่ง” เป็นผู้ดูแลสานต่อทันที

 

 

ส่วนอีกโปรเจคต์กลายเป็นกระแสร้อนแรงไม่แพ้กัน อย่าง โครงการทดลองติดเครื่องฟอกอากาศบนรถโดยสารประจำทาง ของ ขสมก. โดยระบุว่า เมื่อมีการติดเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถสูง 25 เซนติเมตร (ซม.) โดยมีไส้กรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หากใช้ความเร็วเฉลี่ย 120 กิโลเมตร (กม.)ต่อชั่วโมง สามารถกรองอากาศได้ 20,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งยืนยันว่าเมื่อพบฝุ่น PM 2.5 ในกรณีที่ผ่านเครื่องกรองอากาศแล้ว อากาศที่ออกมาอยู่ที่ 1-2 ไมครอน ถือว่าต่ำมาก หากสำเร็จจะนำมาใช้กับรถเมล์กว่า 3,000 คัน

 

 

 

ทั้งนี้พบว่าต้นทุนการใช้เครื่องกรองอากาศนั้น มีราคาสูงถึง 2,000 บาทต่อกล่อง ขณะที่ไส้กรอง ราคา 500 บาท สามารถใช้ได้ 400 ชั่วโมง หรือ 2 สัปดาห์ ซึ่งรวมต้นทุนราว 3,000 บาท โดยจะใช้งบจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) หากมีการใช้กับรถเมล์ทั้ง 3,000 คัน เท่ากับต้องใช้งบประมาณในการติดตั้งอุปกรณ์ถึง 9 ล้านบาท ยังไม่นับรวมกับไส้กรองที่จะหมดอายุการใช้งานทุกๆ 2 สัปดาห์ อีกด้วย งานนี้ กรมขนส่งคงได้รับศึกหนัก เร่งปั๊มเงินเพื่อหามาใช้จ่ายกับโครงการนี้เป็นแน่

 

 

 

ขณะที่นักวิชาการได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อีกว่า “ติดกล่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ มันก็เรื่องลวงโลก แบบเดียวกับเครื่อง GT200 หวังว่าประชาชนคงไม่โดนหลอกกันง่ายๆ อีกนะ” ซึ่งคำนวณว่า "กล่องกรองอากาศ ด้วยแผ่นฟิลเตอร์" ของ ขสมก. ถ้าทำงานได้ตามที่อ้างไว้ และติดบนรถเมล์จำนวน 500 คัน ไปกรองอากาศเสียในกรุงเทพฯ จะได้ผลเป็นอย่างไร คำตอบคือ ได้แค่จุดพิกเซลเดียว

ปิดท้ายที่โปรเจคต์ยักษ์ใหญ่แห่งปี อย่าง โครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และโครงการติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RFP) หรือแบริเออร์ยางพารา ต้นเหตุที่ทำให้ นายปฐม  เฉลยวาเรศ โดนเด้งออกจากการเป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพราะชะงักแผนดังกล่าวกลางคัน ซึ่งเป็นนโยบายที่พยายามผลักดันช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้ แต่กลับโดยกระแสต่อต้านจากฝ่ายนักการเมืองหลายรายที่แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นการสร้างดีมานด์เทียม เพียงเพราะหาทางปั่นราคายางพาราให้สูงขึ้น และไม่มีผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือเหมาะแก่ความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ รวมทั้งผลการทดสอบการใช้ยางพาราในโครงการฯ ไม่มากพอที่จะสรุปและไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างการใช้ยางหรือไม่ใช้ยางพารา

 

ส่องโปรเจคต์ขายฝัน “คมนาคม”

 โดยที่ผ่านมาพบว่าทางกระทรวงคมนาคมขอรับจัดสรรงบปี 2564 และงบปี 2565 ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางพารา และโครงการติดตั้งหลักนำทางยางพาราถึง 8.3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งมีการขอรับการจัดสรรงบเงินกู้  วงเงิน 40,179 ล้านบาท 

 


แต่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ มีมติไม่อนุมัติ จัดสรรเงินกู้ให้กับทั้ง 2 โครงการ  โดยให้เหตุผลว่าการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อให้การดำเนินการเป็นอย่างเหมาะสม เกิดความคุ้มค่าอย่างแท้จริงควรให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราอย่างต่อเนื่องในระยะยาวมากกว่า

 

 


หากโปรเจคต์แบบริเออร์ยางพารายังคงเดินหน้าต่อ คาดว่าโครงการอื่นๆคงไม่ไปไหนสักที เพราะงบประมาณที่ขอรับจัดสรรนั้นถือเป็นการใช้งบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ หากขอรับจัดสรรงบประมาณไปช่วยเหลือประชาชน ในการพัฒนาหรือซ่อมแซมถนนประชาชนคงดีใจไม่น้อย   แถมสร้างมอเตอร์เวย์ได้อีกหลายเส้นทางเลยทีเดียว