‘นอนกรน’ อันตรายกว่าที่คิด!

11 พ.ย. 2566 | 22:03 น.

‘นอนกรน’ อันตรายกว่าที่คิด! : Tricks for Life

ปกติคนเราต้องการ “การนอน” เฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวันหรือ 1 ใน 3 ของการใช้ชีวิต เพื่อให้ร่างกายพักผ่อน แต่บางคนที่ระหว่างการนอนหลับมีภาวะหายใจผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงสมองทำงานหนักและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในอนาคต

ปัญหาหลักที่พบคือ “การนอนกรน” ซึ่งการนอนกรนจะไม่เป็นอันตราย หากไม่มีภาวะการหายใจที่ผิดปกติหรือมีหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจแคบ ในเวลาหลับเมื่อหลับสนิทอาจจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีเสียงกรนติดขัดสะดุดไม่สม่ำเสมอ

‘นอนกรน’ อันตรายกว่าที่คิด!

บางช่วงจะมีการกรนเสียงดังสลับกับเบาเป็นระยะๆ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตามมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่สมองจะตื่นตัวและทำให้ทางเดินหายใจเปิดและกลับมาหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรนี้จะเกิดขึ้นตลอดทั้งคืน เป็นผลให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้มากขึ้น ในระยะยาวถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดรวมถึงโรคสมองได้

อาการการนอนผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์คือ นอนกรนผิดปกติ, รู้สึกง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่นอนอย่างเพียงพอ, สะดุ้งตื่นกลางคืนเพราะรู้สึกสำลักน้ำลายหรือจมน้ำบ่อยๆ มีความรู้สึกเหมือนหายใจเหนื่อยกลางคืน สงสัยมีการหยุดหายใจขณะหลับ, มีคนสังเกตว่าพฤติกรรมผิดปกติขณะนอนหลับ เช่น นอนขากระตุก กัดฟัน ละเมอ หรือฝันร้าย

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อแยกว่าเป็นนอนกรนประเภทใด และสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ว่า มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือไม่และตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ ได้แก่

การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ ว่าหลับได้สนิทแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอน คลื่นสมองผิดปกติเช่นลมชักขณะหลับ

การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่

การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ เพื่อดูว่าร่างกายมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ และหยุดหายใจหรือหายใจเบาหรือไม่

การตรวจวัดลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ ดูว่ามี

การหยุดหายใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยแค่ไหน

ตรวจเสียงกรน เพื่อดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรนดังแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน

การตรวจท่านอน ในแต่ละท่านอนมีการกรน หรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร

การทำ Sleep Test หรือการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน (Standard PSG) ต้องทำในห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Sleep laboratory) ควบคุมดูแลโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะทาง

สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป แนวทางการรักษาหลังเข้ารับการตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีความผิดปกติของภาวะนอนกรนโดยไม่พบการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วร่วมด้วย แนะนำจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์

ส่วนกรณีของภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิน 15 ครั้งต่อชั่วโมง แพทย์จะรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจCPAP ซึ่งเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 90-99% แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของวิธีนี้คือผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกไม่สะดวกสบายเพราะรู้สึกอึดอัดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ในขณะนอนหลับ

การรักษาทางเลือกด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายอาจช่วยแก้ไขการหยุดหายใจทำให้ไม่ต้องกลับไปใช้หรือลดการใช้เครื่อง CPAP ลงได้ ซึ่งการผ่าตัดปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโครงสร้างความผิดปกติของโครงหน้า จมูก และปากของแต่ละคน

•ขอบคุณ : โรงพยาบาลเวชธานี

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,939 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566