“โรคหืด” ภัยเงียบ แต่เสี่ยงสูง

07 พ.ค. 2566 | 05:58 น.

“โรคหืด” ภัยเงียบ แต่เสี่ยงสูง คอลัมน์ Tricks for Life

โรคหืด” กลายเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยกว่า 4,000 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 8 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยที่ต่างๆ เป็นตัวกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ ฝุ่นควัน เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ รวมไปถึงสภาวะมลพิษทางอากาศ และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการกำเริบขึ้น

หอบหืด” เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งมีผลทำให้หลอดลมของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ โดยผู้ป่วยมักมีประวัติของอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด หรือหอบเหนื่อย

“โรคหืด” ภัยเงียบ แต่เสี่ยงสูง

โดยพบว่าในสถานพยาบาลของรัฐปี 2563 พบผู้ป่วยโรคหอบหืดและภาวะหอบหืดกำเริบรุนแรงรวม 488,449 ราย คิดเป็นอัตราความชุกที่ 737.99 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ มักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะหอบหืดเฉียบพลัน ไม่สามารถดูแลตนเองได้ขณะที่มีอาการ พ่นยาไม่ถูกต้อง พ่นยาช้า การใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือหลอดลมของผู้ป่วยมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างรุนแรง

โรคหืดส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในหลายปัจจัย เช่น นอนหลับไม่สนิท ประสิทธิภาพในการทำงานลดถอยลง ในบางรายอาจทำให้สูญเสียรายได้

ขณะที่ในปัจจุบันพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคหืดมากถึง 3 ล้านคน โดยผู้ป่วยโรคหืดกว่า 60% ใช้เพียงยาสูดพ่นขยายหลอดลมสำหรับบรรเทาอาการเป็นประจำซึ่งไม่ถูกต้อง

สำหรับวิธีการป้องกันและดูแลโรคหืด ปัจจุบันมีการใช้ยาสูดพ่นขยายหลอดลม ที่ออกฤทธิ์เร็วและต้านการอักเสบที่เป็นสาเหตุหลักของโรคหืด โดยสามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการและบรรเทาอาการโรคหืดได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันไปด้วย เช่น การงดจุดธูปในบ้าน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ซึ่งจะทำให้การดูแลสุขภาพและประคองโรคหืดได้ดียิ่งขึ้น

การประเมินตัวเองเบื้องต้น ผ่านการสังเกตอาการตนเอง เช่น อาการไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด และเหนื่อยหอบ ก่อนไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุเพิ่มเติม โดยสามารถประเมินแนวทางการรักษาโรคหืด แบบเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ Rate Your Reliance ผ่านแบบทดสอบเพื่อประเมินภาวะการพึ่งพายาสูดพ่นขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นเพื่อบรรเทาอาการหอบหืด (SABA) และเป็นแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคหืด

ขอบคุณข้อมูล : แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566