รู้จักการรักษา “มะเร็ง” ด้วย CAR T-cell

12 เม.ย. 2566 | 22:43 น.

รู้จักการรักษา “มะเร็ง” ด้วย CAR T-cell คอลัมน์ Tricks for Life

ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งใหม่ราว 1.3 แสนราย และในปี 2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 8.4 หมื่นคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องนับจากนี้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการรักษามะเร็งที่เป็นแบบมาตรฐานเช่น การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด ยังมีการพัฒนาวิธีการและยารักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงน้อยกว่า เช่น ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด รวมถึงการรักษาที่เรียกว่า CAR T-cells (chimeric antigen receptor T-cell) ด้วย

รู้จักการรักษา  “มะเร็ง” ด้วย CAR T-cell

T-cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่เป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ซึ่งการรักษาที่เรียกว่า CAR T-cells เป็นเทคนิคการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลเพื่อให้การรักษามะเร็งระบบเลือดโดยเฉพาะ โดยแพทย์จะเก็บเซลล์ T-cell จากเลือดของผู้ป่วย เพื่อนำไปปรับแต่งเซลล์ในห้องปฏิบัติการ จนได้ออกมาเป็น Chimeric Antigen Receptor (CAR) หรือตัวรับแอนติเจนที่มีพันธุกรรมดัดแปลง ทำให้ T-cell สามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่งได้

นายแพทย์อิศรา อนงค์จรรยา อายุรแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เมื่อฉีด CAR T-cells กลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยมะเร็ง จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนั้นได้ และ CAR T-cells จะมีการเจริญเติบโตแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถอยู่ในร่างกายและทำให้สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยมะเร็งระบบเลือดที่สามารถใช้วิธีรักษา CAR T-cells ได้ ได้แก่ B-cell acute lymphoblastic leukemia, B-cell non-Hodgkin’s lymphoma, Mantle cell lymphoma, Follicular lymphoma, Multiple myeloma

การรักษาด้วย CAR T-cells อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยกลุ่มอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ cytokine release syndrome (CRS) โรคนี้อาจทำให้มีอาการไข้สูง, คลื่นไส้อย่างรุนแรง, อาเจียน, ท้องเสีย, ปวดกล้ามเนื้อและข้อ และอาจมีผลกระทบทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น ปวดศีรษะ, อาการชัก, อาการสับสนอย่างรุนแรง, การพูดบกพร่อง, และสมองบวมถึงแก่ชีวิต (แต่พบไม่บ่อย)

เนื่องจากการรักษาด้วย CAR T-cells อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการบำบัดด้วยCAR T-cells จำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาลประมาณ 10 วัน เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และระยะในการเฝ้าระวังความเสี่ยงในการรักษาหรือพักฟื้นอาจยาวประมาณ 2 - 3 เดือน

อย่างไรก็ดี แผนการรักษาสำหรับการบำบัดด้วย CAR T-cells จะแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละคน โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ชนิด และระยะของมะเร็ง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการประเมินและวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ เพื่อการรักษาที่แม่นยำและเหมาะสม

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,875 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2566