รู้หลบ ปัจจัยเสี่ยง เลี่ยง ‘มะเร็งปอด’ ได้

11 พ.ย. 2565 | 05:20 น.

Tricks for life

สนั่นโลกโซเชียล ที่แห่ส่งกำลังใจให้ "หมอหนุ่ม" วัย 28 ปี เจ้าของเพจ "สู้ดิวะ" หลังออกมาแชร์ประสบการณ์ชีวิตที่เป็นคนที่ดูแลสุขภาพ เล่นกีฬา กินอาหารคลีน ไม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อย แต่กลับพบป่วยเป็น "มะเร็งปอดระยะสุดท้าย"  ทำให้ประเด็น “มะเร็งปอด” ถูกกล่าวถึงอย่างมาก

 

มะเร็งปอด” เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน

มะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของ “โรคมะเร็งปอด” คือ

การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง

การสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย

มลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5

เป็นต้น

 

นายแพทย์ศุกล ภักดีนิติ แพทย์ที่ปรึกษาด้านมะเร็งปอด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย

มะเร็งปอด            

โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือ “การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด” แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่

           

อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,835 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565