กล้ามเนื้อกระตุก สัญญาณเตือน ‘โรคติกส์’ เด็กในวัยเรียน

29 ต.ค. 2565 | 09:27 น.

Tricks for Life

การเคลื่อนไหวซ้ำรูปแบบเดิมที่ไม่มีจุดประสงค์ เช่น กระพริบตา ยักคิ้ว แสยะยิ้ม พยักหน้า ยักไหล่ กระโดดหรือมีอาการกระตุกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ควบคุมไม่ได้ ที่มักพบในเด็กวัยเรียน อายุ 5-7 ปี ผู้ปกครองส่วนใหญ่มองว่าเป็นอาการปกติ แต่แท้ที่จริงแล้วกิริยาเหล่านี้ เกิดขึ้นได้หากเป็นโรคติกส์ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ (movement disorders)

              

“นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์  บอกว่า ผู้ป่วยโรคติกส์ มักมีความรู้สึกภายในบางอย่างนำมาก่อนที่จะเกิดอาการเคลื่อนไหว และเมื่อเคลื่อนไหวแล้วจะทำให้ความรู้สึกนั้นหายไปเหมือนได้รับการปลดปล่อย หากผู้ป่วยพยายามบังคับไม่เคลื่อนไหวจะทำให้รู้สึกอัดอั้นไม่สบายใจ

กล้ามเนื้อกระตุก สัญญาณเตือน ‘โรคติกส์’ เด็กในวัยเรียน               

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถที่จะอดกลั้นต่อความต้องการที่จะเคลื่อนไหวผิดปกติได้ในระยะเวลาสั้นๆ (temporary suppression) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคติกส์ โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเสียบุคลิก ขาดความมั่นใจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเกิดความผิดปกติอื่นตามมา ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง 

 

“ในผู้ป่วยบางรายอาจมาในรูปแบบการส่งเสียงที่ผิดปกติ เช่น กระแอม เสียงกลืนน้ำลาย หรือกรณีที่มีอาการมากอาจเป็นลักษณะการพูดซ้ำ พูดเลียนแบบ หรือพูดคำหยาบคาย เป็นต้น” นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเสริมว่า

              

หากผู้ป่วยมีอาการแสดงทั้งการเคลื่อนไหว และการส่งสียงผิดปกติ จะเรียกว่าโรคทูเร็ตต์  ในโรคกลุ่มนี้อาจมีอาการของกลุ่มโรคจิตเวชนำมาก่อน เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น เป็นต้น ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคติกส์ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากโรคเฉพาะตัวบุคคลที่เกิดภายหลัง เช่น เกิดจากการติดเชื้อในสมองตอนเด็กหรือเป็นโรคออทิสติก เป็นต้น

ส่วนโรคติกส์ที่เกิดในผู้ใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคติกส์ตอนเด็ก หรือผู้ป่วยบางคนมีรายงานว่าเกิดจากรอยโรค หรือเนื้องอกบางตำแหน่งในสมองได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลังได้

              

ทั้งนี้การรักษาที่ดีที่สุดคือการปรับพฤติกรรม เพื่อลดอาการที่นำมาก่อนการเคลื่อนไหว และเพิ่มระยะเวลาที่สามารถยับยั้ง การเคลื่อนไหวหากยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ การใช้ยากลุ่มจิตเวช (anti-psychotics) เพื่อช่วยระงับการเคลื่อนไหวผิดปกติ เป็นทางเลือกที่มีประโยชน์ แต่ต้องติดตามผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้ด้วย เช่น กลุ่มอาการพาร์กินสันเทียม กลุ่มอาการบิดเกร็ง เป็นต้น และควรรักษากลุ่มโรคจิตเวช (OCD,ADHA) ที่มาพร้อมโรคติกส์ด้วย

 

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,831 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565