‘สะเก็ดเงิน’ โรคเรื้อรัง รักษาได้ ไม่ต้องรังเกียจ

08 พ.ย. 2565 | 22:33 น.

Tricks for Life

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินราว 2% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ต่อเนื่อง ทำให้ความชุกของโรคค่อนข้างสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก มีประมาณ 20-25% ที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม หรือยาฉีดชีวโมเลกุล โดยพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

“ผื่นโรคสะเก็ดเงิน” มักเป็นในบริเวณที่คนทั่วไปสังเกตได้ชัด มีผลต่อภาพลักษณ์ ทำให้คนรอบตัว เพื่อนร่วมงานอาจรังเกียจผู้ป่วยได้

‘สะเก็ดเงิน’  โรคเรื้อรัง รักษาได้ ไม่ต้องรังเกียจ               

สำหรับโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง มีอาการผื่นที่ผิวหนัง หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ และเล็บ หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะข้ออักเสบผิดรูป ภาวะอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

 

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน พบได้ทั้ง วัยเด็ก วัยทำงาน และผู้ป่วยสูงอายุ โดยในจำนวนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก การรักษาที่เหมาะสม คือการทายาเฉพาะที่ที่ผิวหนัง หรือการฉายแสงเฉพาะรอยโรค

‘สะเก็ดเงิน’  โรคเรื้อรัง รักษาได้ ไม่ต้องรังเกียจ               

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า สิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการได้ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นจำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดชีวโมเลกุลซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย แต่มีราคาแพง ไม่สามารถเบิกได้ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง

ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงยา ถึงแม้ว่าโรคสะเก็ดเงินยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาในปัจจุบันนี้สามารถทำให้ผื่นยุบและอาการของโรคสงบลงได้ ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป โดยผู้ป่วยยังต้องทายาเป็นครั้งคราว หรือรับประทานยา ภายใต้การดูแลของแพทย์ เหมือนการรักษาโรคทั่วไป

              

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลตัวเอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ขจัดความเครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองอ้วนเพราะจะส่งผลต่อการรักษา อีกทั้งผู้ป่วยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผื่นเห่อ เช่น การแกะเกา การดื่มสุรา และที่สำคัญควรรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,833 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565