ลดโลกร้อน ทางรอดไม่ใช่ทางเลือก

30 ก.ค. 2565 | 01:30 น.

บทบรรณาธิการ

โลกเผชิญภัยคุกคามและลุกลามกลายเป็นวิกฤติซ้ำซ้อน ในห้วงระยะเวลาใกล้ๆ กัน ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน นำไปสู่ความปั่นป่วนและการเพิ่มขึ้นสูงของราคาน้ำมัน นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งโลกยังเผชิญโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 และกำลังมาใหม่เป็นโรคฝีดาษลิง ที่องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลกไปแล้ว แต่วิกฤติเดิมอย่างโลกร้อน ภาวะก๊าซเรือนกระจกยังคงดำรงอยู่อย่างไม่ลดน้อยถอยลง
 

วิกฤติโลกร้อนเป็นปัญหาร่วมกันที่ทุกมือในโลก ในทุกประเทศ ต้องยื่นมือออกมาช่วยประคับประคอง ต้องระดมพลังในทุกภาคส่วนให้มาสรรค์สร้างและมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน ลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 ให้ได้มากที่สุด เริ่มจากการสร้างสำนึกร่วมของตนเองในแต่ละวัน กิจกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต้องคำนึงภาวะโลกร้อนให้มากที่สุด

ประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปประกาศในเวที COP 26 เดือนพ.ย.ปีก่อน วางเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 ( Carbon neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 (Net Zero GH Emissions) ก่อนมากำหนดเป้าหมายระยะ3 ปีข้างหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 368 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เหลือ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.Climate Change เป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคสมัครใจ มาสู่ภาคบังคับ พร้อมบทบัญญัติการจัดการคาร์บอนเครดิต การกำหนดเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ขณะที่กระทรวงพลังงานมุ่งเป้าหมายพลังงานสะอาดแทนพลังงานฟอสซิล

การลดโลกร้อน จะก่อให้เกิดการลงทุนและนวัตกรรมใหม่ แนวทางใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตและใช้พลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น การจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน การปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน และการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ รวมถึงเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนและใช้ประโยชน์จากคาร์บอนและมีสิ่งใหม่ๆอีกมากมายที่จะต้องรังสรรค์ขึ้นเพื่อลดโลกร้อน
 

ตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นแล้วในไทย และรัฐบาลได้ตกลงกับคู่ค้าในประเทศยุโรป อย่างสวิตเซอร์แลนด์และอีกหลายประเทศในอนาคต ในความร่วมมือ ซื้อขายถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ ซึ่งต้องมีผู้พัฒนาโครงการเพื่อได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต ผู้ประสงค์ซื้อ-ขาย การพัฒนา การวิจัย การผลิต การดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจในมูลค่าตลาดโลก 3.2 แสนล้านบาท การแสวงหาช่องทางใหม่ทางธุรกิจเครดิตคาร์บอน จะเป็นทางรอดใหม่ทางเศรษฐกิจมากกว่าจะเป็นทางเลือก หรือบังคับเลือก แนวโน้มนี้ทุกภาคส่วนไม่อาจละเลยความสำคัญลงได้