TAKUNI มีอะไร...ทำไมแรง

20 ก.ย. 2565 | 20:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** ดูเหมือนหุ้นเครื่องดื่มชูกำลังทั้ง CBG และ OSP นอกจากเส้นทางในการเลือกจัดการกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็มีปัญหาเรื่องราคาหุ้นที่ปรับลงมาต่ำที่สุดในรอบปีเช่นเดียวกัน โดยในส่วนของ CBG เลือกที่จะต่อสู้กับต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ทั้งแก้วและอลูมิเนียม รวมไปถึงภาษีสรรพสามิต ที่ปรับสูงมากขึ้นด้วยการไม่ปรับขึ้นราคาขายปลีกตามคู่แข่งเพื่อหวังแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในแนวราบจนสามารถดึงส่วนแบ่งมาจากคู่แข่งได้เพิ่มขึ้น 3-4% ขณะที่ในส่วนของ OSP กลับเลือกที่จะปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 12 บาท รวมไปถึงการวางตำแหน่ง (Position) ของสินค้าให้เป็นพรีเมี่ยม (Premium) ซึ่งก็ทำให้กำไรต่อหน่วยปรับเพิ่มมากขึ้น แม้จะมียอดขายที่ลดลงก็ตาม ซึ่งด้วยเหตุนี้เองทั้ง CBG และ OSP จึงมีฐานลูกค้าที่เริ่มแบ่งแยกกันชัดเจนมากขึ้น 
  

อย่างไรก็ตาม ทั้ง CBG และ OSP ต่างก็ประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ฉุดกำลังซื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของต้นทุนวัตถุดิบทำให้นักลงทุนเริ่มลังเลจะเข้า...หรือจะรอดูไปก่อน แต่ถ้าในมุมมองของเจ๊เมาธ์ทางด้านของ CBG ดูเหมือนจะมีภาษีที่ดีกว่าอยู่บ้าง แต่คงต้องแบ่งไม้เพื่อเก็บของไปก่อนนะคะ เพราะไม่แน่ว่าอาจจะเล่นอยู่ในกรอบราคานี้ไปอีกพักใหญ่เลยค่ะ

*** ช่วงเวลาเพียงเดือนกว่าๆ ราคาหุ้นของ TAKUNI ก็ปรับราคาขึ้นมาสูงกว่าเท่าตัว หลังจากที่มีข่าวการเข้ามาของผู้ถือหุ้นรายใหม่แทนที่กลุ่ม “ตรีวีรานุวัฒน์” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดิม ขณะเดียวกับที่ประชุมกรรมการบริษัทก็มีมติแต่งตั้งให้ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” อดีตผู้บริหารของธนาคารออมสินและธนาคารกสิกรไทย เข้ามารับหน้าที่เป็นประธานบอร์ดคนใหม่ ซึ่งนอกจากเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างผู้บริหาร ก็ยังมีเรื่องของธุรกิจใหม่ที่ TAKUNI กำลังจะเข้าไปทำ ซึ่งในตอนนี้ก็เปิดเผยออกมาให้รู้แค่ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and Technology) และการบริการและธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Social Enterprise) เพียงเท่านั้นเอง 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจ๊เมาธ์ได้ยินได้ฟังมาก็คือ การที่ทาง TAKUNI กำลังจะหันหัวเรือเข้าไปร่วมธุรกิจกับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ที่ตอนนี้ราคาหุ้นกำลังร้อนแรงอยู่ในตลาด ซึ่งในเร็ววันนี้ก็คงจะรู้เรื่องว่าไปกลุ่มใดกันแน่ เอาเป็นว่าหุ้นตัวนี้จับตาดูไว้ให้ดี...ไม่แน่อาจจะมีเซอร์ไพรส์ก็เป็นได้

*** ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ TLI สามารถก้าวข้ามราคาหุ้นไอพีโอขึ้นไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของแรงเชียร์ ที่บอกกันว่า หุ้นตัวนี้ดีหรือไม่แค่นั้น เพราะสำหรับหุ้นในกลุ่มประกันภัย นอกจากจะมีรายได้ที่มาจากการขายประกัน ก็ยังมีส่วนของรายได้ที่มาจากดอกเบี้ย เนื่องจากการบริหารเงินสดที่มีอยู่เป็นจำนวนมากด้วยการจัดสัดส่วนไปฝากในสถาบันการเงิน รวมถึงการซื้อพันธบัตรอีกด้วย 


อย่างไรก็ตาม เรื่องของดอกเบี้ยที่มาจากพันธบัตรสำหรับเจ๊เมาธ์แล้ว เจ๊กลับมองว่าเป็นเพียงแค่กิมมิก ที่ถูกใช้ประกอบในการดันราคาหุ้นของ TLI ขึ้นมาเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดหุ้นกลุ่มประกันภัย ก็ยังต้องรอดูยอดขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซั่นอยู่ดี ดังนั้นในมุมมองของเจ๊เมาธ์หุ้นประกันอย่าง TLI ยังเหมาะสมที่จะใช้เป็นหลุมหลบภัยเป็นหลัก มากกว่าที่จะใช้ลุ้นส่วนต่างของราคาหุ้น ส่วนถ้าใครที่เข้ามาแล้วได้กำไรก็ดีใจด้วย ประมาณว่าถึงกำไรจะไม่มาก...แต่ในระยะยาวก็ไม่น่าจะเจ็บตัวเจ้าค่ะ
 

*** แม้ว่า PTG และ OR ต่างก็เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมือนกัน ได้รับผลกระทบที่มาจากการที่ถูกทางภาครัฐเข้ามาแทรกแซงราคาขายน้ำมันดีเซลเหมือนกัน แต่ความแตกต่างของทั้ง PTG และ OR ก็มีอยู่มากพอสมควร อย่างแรกคือ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. มีสัดส่วนที่เป็นแฟรนไชส์ที่มากกว่าส่วนที่บริษัทแม่อย่าง OR เข้าไปลงทุนเอง ในขณะที่ปั๊มน้ำมันพีทีของ PTG มีสัดส่วนในการลงทุนจากบริษัทแม่ (PTG) มากกว่า 70% ทำให้ความคล่องตัวในการบริหารจัดการของ PTG ดูเหมือนจะมีมากกว่าแต่ขณะเดียวกัน PTG ก็จะได้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางธุรกิจโดยตรงที่มากกว่า 


อย่างที่สองคือธุรกิจ Non-Oil ที่ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีอยู่เหมือนกันแต่ในเรื่องของความหลากหลายกลับดูเหมือนว่าท่าง OR ดูเหมือนว่าจะได้เปรียบมากกว่าอยู่มาก และท้ายที่สุดก็เป็นเรื่องของฐานลูกค้า ซึ่งดูเหมือนว่าทางด้านของ PTG จะมีลูกค้าที่ใช้น้ำมันดีเซลในสัดส่วนที่มากกว่า OR ดังนั้นผลกระทบจากการถูกแทรกแซงราคาจึงดูเหมือนจะมีมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลทางด้านของ PTG ก็น่าจะพื้นตัวได้เร็วกว่าเช่นกัน ซึ่งที่เจ๊เมาธ์บอกมาทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าบริษัทไหนดีหรือไม่อย่างไรนะคะ แค่เก็บเอามาเล่าให้ฟังเท่านั้นค่ะ 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,820 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2565