โอกาสของไทย ร่วมกลุ่ม RCEP

18 ก.ย. 2565 | 06:40 น.

โอกาสของไทย ร่วมกลุ่ม RCEP : บทความ โดย.. พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3818

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับโอกาสของไทย จากการที่มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 15 ประเทศที่ร่วมลงนาม ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยจะผลักดันให้การส่งออกเพิ่มขึ้น 10.4% รวมทั้งการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น 2.6 % และ GDP ของประเทศสมาชิก RCEP จะเพิ่มขึ้นอีก 1.8%

 

ทั้งนี้ เนื่องจากการบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการที่ RCEP ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 จะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   

อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการปรับปรุงห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย จึงถือเป็นการกระตุ้นศักยภาพของความร่วมมือ รวมทั้งขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคนี้ให้เพิ่มมากขึ้น   

                     โอกาสของไทย ร่วมกลุ่ม RCEP

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วย BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ Bio-Circular-Green Economy Model เป็นวาระแห่งชาติ  อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยได้มากขึ้นจากความร่วมมือด้านการค้าภาคบริการอีกด้วย

นอกจากนี้ พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ยังได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของโครงการรถไฟความเร็วสูงตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ใน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย 

 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากการขนส่งทางทะเลเป็นเวลา 11 วัน ขบวนรถไฟความเร็วสูงจากจีนที่ส่งออกไปยังจาการ์ตา ได้เดินทางมาถึงท่าเรือจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกที่มาถึงอินโดนีเซียภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด  


ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง เป็นโครงการสำคัญในการก่อสร้างร่วมกันของโครงการตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง" และความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างจีนและอินโดนีเซีย โดยมีความยาวรวม 142 กิโลเมตร หลังจากสร้างเสร็จและเปิดให้สัญจรแล้ว จะใช้เวลาเดินทางจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปยังเมืองบันดุง ลดลงจาก 3 ชั่วโมงในปัจจุบัน เหลือเพียง 40 นาที
 

ในขณะที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะให้ประโยชน์ ดังนี้

 

1.ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนประเทศไทยทุกปีอาจเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน ในขณะเดียวกันรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

 

2. เหมาะสำหรับการขนส่งที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าไทยไปจีน และหากเปิดการสัญจรได้ทั้งสายจะทำให้สามารถส่งออกสินค้าของไทยไปยังยุโรปได้ภายใน 12 วัน

 

3. จีนและไทยจะยิ่งกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติขนาดใหญ่ และยังคงเสริมสร้างความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุน

 

4. ภายหลังการเปิดรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย จากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานไปกรุงเทพฯ จะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ อันสนับสนุนในการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างจีน-อาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ

 

5. โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยจะส่งผลในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทยทั้งในระหว่างและหลังการเปิดดำเนินการ

 

 ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.sohu.com/a/487699427_115239 

 

 ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.163.com/dy/article/HGH2LEQU05529MQ6.html และ  https://cn.tgcondo.com/.../246-china-thai-railway-eia... )