เงินเฟ้ออยู่อีกนาน: มองหาร่มชูชีพ

18 ก.ย. 2565 | 01:39 น.

วันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่จากเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบครึ่งศตวรรษและที่สำคัญต้นเหตุของเงินเฟ้อมาจากต้นเหตุที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศที่ยากที่จะคาดการณ์ว่ารุนแรงมากขึ้น หรือยาวนานเพียงใด

จนทำให้ระดับเงินเฟ้อไม่ว่าจะวัดเป็นแบบทั่วไปหรือจะเป็นแบบพื้นฐานของธนาคารชาติทุกประเทศเกินระดับเป้าหมายที่ตนเองวางไว้เพื่อกำหนดนโยบายทางการเงินของตัวเองไปแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดหรือลดลงมาในระดับเป้าหมายได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งปัญหานี้ส่งผลทำให้การครองชีพของผู้คนลำบากยิ่งขึ้น 

 

แต่สิ่งที่น่าสนุกมากไปกว่านั้นก็คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้นมาจากปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ ของกลุ่มตะวันตกก็ยังมีวิธีคิดของผู้ที่ยึดติดกับอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจโลก กับกลุ่มเศรษฐกิจโลกใหม่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาท้าทายอำนาจเก่าของกลุ่มตะวันตก 

 

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกอยู่ในอิทธิพลของกลุ่มประเทศตะวันตกผ่านองค์กรที่ตนเองตั้งขึ้นมาหลัง Bretton Wood Agreement ไม่ว่าจะเป็น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การทางการค้าระหว่างประเทศที่ต่อมาก็กลายร่างมาเป็น องค์การค้าระหว่างประเทศ (WTO) ซึ่งที่ผ่ามากว่า 70 ปี 

ที่กลุ่มอำนาจตะวันตกได้ใช้องค์กรเหล่านี้ในการกำหนดกติกาการเงินรูป แบบทางการค้า และโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับตัวเองมาตลอดโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่กำหนดการซื้อขายน้ำมันที่ใช้ดอลลาร์ของตนเองเป็นสื่อกลาง ที่เรารู้จักกันในนาม Petro dollar 

 

แต่ในทศวรรษที่ผ่านมานั้น โลกตะวันตกวุ่นวายอยู่กับการรักษาฐานอำนาจและโครงสร้างอำนาจของตัวเองแต่เดิมไว้นั้น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็ก้มหน้าก้มตาสร้างศักยภาพของตนเองขึ้นมาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน งานพัฒนาวิจัย และแสนยานุภาพทางทหาร 

 

จนวันนี้บางประเทศมีศักยภาพในทุกมิติไม่ได้ด้อยไปกว่าเจ้าอาณานิคมเดิมของตนเองในอดีต และกำลังเป็นผู้ที่ท้าทายอำนาจเก่าที่ครองโลกมาตลอดแบบไม่มีถอย และโต้ตอบทางการค้าแบบฟันต่อฟัน ตาต่อตา ในทุกด้าน

 

ดังนั้นเราจึงเห็นมาตรการในการสกัดกั้นคู่อำนาจใหม่ผ่านการรวมกลุ่มพันธมิตรของตนเองในด้านต่างๆ อาทิ G7 NATO หรือ AUKUS  รวมทั้งมาตรการแซงชั่นทางการค้าต่าง ๆ กับผู้ที่ท้าทายเช่น จีน รัสเซีย ฯลฯ ในขณะเดียวกันอีกกลุ่มก็โต้ตอบมาตรการทางการค้าเศรษฐกิจแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน 

ไม่ว่าจะเป็นการบอยคอร์ดสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่ง การขึ้นภาษี การห้ามนักลงทุนของตนเองไปลงทุนในประเทศอีกฝ่าย รวมถึงการงดการส่งออกสินค้าที่จำเป็น อาทิ พลังงาน ก๊าซ ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง และการเผชิญหน้าในเรื่องเหล่านี้ไม่มีใครถอยก่อนแน่ และวันนี้โลกกำลังรอดูว่าใครจะทนเจ็บได้นานกว่ากัน

 

แต่มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลกไม่ใช่เฉพาะสมาชิกของแต่ละฝ่ายเท่านั้น ผ่านความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในการลงทุน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นผ่าระบบ supply chain และที่สำคัญที่กระทบกับประชาชนคนธรรมดาที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย ก็คือระดับราคาสินค้าทั่วไปที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

และที่สำคัญดูเหมือนว่าทุกประเทศในโลกกำลังจะใช้มาตรการที่เยียวยาเรื่องนี้คล้าย ๆ กัน และพร้อมยอมเสียสละการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความเจ็บปวดของนักลงทุนและผู้ประกอบการ รวมถึงการจ้างงานที่ลดลง ผ่านมาตรการทางการเงินที่สำคัญ คือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 

 

ในการประชุมกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ของวุฒิสภา ที่ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายถึงภาพของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนั้นว่าอัตราดอกเบี้ยก็คงจะขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นที่ประหลาดใจ และยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อก็คงจะเริ่มลดลงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลง 

 

ซึ่งก็ดูชิว ๆ และมาตรการอื่น ๆ เรื่องจัดการเงินเฟ้อก็ยังไม่มีมาตรการใหม่ใด ๆ ส่วนมาตรการเพื่อจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังคงเป็นมาตรการเดิม ๆ ที่ออกมาในช่วงโควิด แต่จะมีการขยายเวลาต่อออกไปเท่านั้นเอง ซึ่งตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าราคาน้ำมันที่ลดลง จะช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อในบ้านเราได้มากน้อยเท่าใด 

 

เพราะผมยังมองเห็นว่าอัตราราคาสินค้าผู้ผลิต (Producer Price Index) ที่กระทรวงพาณิชย์ของเราประกาศในแต่ละเดือนนั้นยังคงสูงกว่าอัตราราคาสินค้าผู้บริโภค (Consumer Price Index) ที่เราใช้วัด “เงินเฟ้อ” ซึ่งบอกเป็นนัย ๆ ว่าผู้ผลิตยังคงซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบในอัตราเพิ่มที่สูงกว่าราคาสินค้าที่ตนเองขาย 

 

แต่ที่ผ่านมา ราคาสินค้าขายปลีกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าราคาซื้อวัตถุดิบของผู้ผลิต อาจเป็นผลมาจากที่สินค้าหลายประเภทเป็นสินค้าควบคุมราคาโดยกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ขึ้นราคาได้ยาก (อย่างเช่นกรณีบะหมี่สำเร็จรูป) หรือการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง 

 

ทำให้การขึ้นราคาของผู้ผลิตตามต้นทุนไม่สามารถทำได้ง่าย ทำให้ผู้ผลิตหลายรายจำต้องกลืนเลือดในช่วงที่ผ่านมา แต่พอราคาต้นทุน เช่น น้ำมันราคาลดลง ฯลฯ จะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงตามมาทันทีหรือไม่ ก็ยังสงสัย 

 

นอกจากนี้ ในช่วงต่อไปนี้การเมืองไทยกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต่างฝ่ายต่างกำลังแสวงหาความนิยมจากประชาชน โดยฟากรัฐบาลนั้นก็พยายามออกมาตรการหรือสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อเอาใจประชาชน 

 

แม้ว่ากิจกรรมหลายกิจกรรมนั้นไม่ได้แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แต่ได้ “ใจ” เช่น เพิ่มเงินช่วยเหลือสารพัดรูปแบบ ฯลฯ และอีกฟากหนึ่งก็พยายามที่จะดิสเครดิตรัฐบาล ทำทุกอย่างเพื่อฉุดกระชาก ลากถู เพื่อไม่ให้งานต่าง ๆ ของรัฐบาลได้ผล ซึ่งก็เป็นรูปแบบการเมืองไทยที่นักการเมืองไทยพอคิดได้ ล่ะครับ

 

วันนี้ ผมไม่หวังมากว่าเราจะมีอะไรในการป้องกันอัตราเงินเฟ้อสูง เพราะเงินเฟ้ออยู่กับเรานานแน่ ๆ สักระยะ และส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่หวังก็ คือ อยากเห็นรัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูเศรษฐกิจมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยถลาลงดินแบบไม่มีร่มชูชีพใด ๆ ทั้งสิ้น