วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ...ปัญหาระดับโลก

07 ส.ค. 2565 | 05:40 น.

วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ...ปัญหาระดับโลก : คอลัมน์เศรษฐกิจอีกนิด...ก็หลักสี่(.ศูนย์) โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,807 หน้า 5 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม 2565

นับจากวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ที่ถาโถมประเดประดังเข้ามากระทบระบบเศรษฐกิจโลกแบบที่ไม่มีใครคาดคิดยาวนานกว่า 2 ปีแล้ว หลายคนก็คิดว่า ปัญหาเศรษฐกิจก็น่าจะบรรเทาเบาบางลงไปเป็นขั้นเป็นตอน หรือ ลดน้อยถอยลงจนก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจขาขึ้นที่เริ่มทะยาน ดังที่คาดหมายได้แล้ว

 

แต่การณ์กลับผกผัน เศรษฐกิจโลกกลับถูกผลกระทบเชิงลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน หรือภาวะอ่อนตัวของตลาดคริปโตเคอเรนซี่ แต่ที่เลวร้ายที่สุดที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัวคงหนีไม่พ้น
 

 

 

วิกฤตการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรงกว่าคาดที่เอาไว้อย่างมาก และกลายเป็นการเพิ่มระดับความเสี่ยงของการชะงักชันทางเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผล กระทบที่เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 2.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งลดลงไปร้อยละ 4.1 จากการประมาณการเมื่อเดือนมกราคม 2565 ซึ่งสะท้อนว่า ธนาคารโลกกำลังมองการเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมิตรนักจากปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำและเคยเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อใน ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากราคาอาหาร พลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น จนทำลายสถิติในรอบสี่ทศวรรษเลยทีเดียว

 

ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของประเทศสหรัฐอเมริกาเดือนมิถุนายน 2022 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.1 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เฉกเช่นเดียวกันกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ดัชนีราคาผู้บริโภคก็ทะยานสู่ระดับร้อยละ 9.6 ในเดือนมิถุนายน 2022 เช่นเดียวกัน

วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ...ปัญหาระดับโลก

 

การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงทรรศนะเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกาดูร้อนแรงกว่าปกติ แต่ก็มุ่งเน้นต่อปัญหาของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง หาได้เชื่อมโยงเหตุแห่งปัญหาไปสู่ระดับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

แต่เจาะประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายที่เรียกว่า “American Rescue Plan” ซึ่งเป็นกฎหมายบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งได้เพิ่มอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯด้วยการอัดฉีดเงินจำนวนดังกล่าวไปสู่ประชาชนหน่วยงานรัฐบาล และโครงการต่างๆ อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นข้างต้นก็ซํ้าเติมภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ อเมริกาได้เป็นอย่างดี

 

 

วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ...ปัญหาระดับโลก

 

แต่หากพิจารณาสาเหตุของการเกิดของวิกฤตการณ์เงินเฟ้อระดับโลกคราวนี้ สาเหตุประการสำคัญ เป็นผลสืบเนื่องมาจากห่วงโซ่อุปทานของสินค้าต่างๆ เกิดอุปสรรคในการผลิตและกระจายสินค้าอันเกิดจากภาวะโรคระบาดและสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน

 

กลไกการส่งผ่านเงินเฟ้อไปสู่ระบบเศรษฐกิจถูกขับ เคลื่อนจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือที่เรียกกันว่า Cost-pushinflation และก่อให้เกิดการลดลงของระดับอุปทานในระบบเศรษฐกิจและระดับการผลิตสินค้าและบริการของระบบเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ก็เป็นผลทำให้ภาวะเงินเฟ้อแพร่กระจายไปทั่วโลก จนหน่วยงานกำกับดูแลเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ได้พยายามจะที่หยุดยั้งหรือบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์เงินเฟ้อครั้งนี้อย่างทันท่วงที

 

แม้ว่าการแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจจะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายนโยบาย ทั้งจากรัฐบาล หรือ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ

 

ยกตัวอย่างเช่น การลดงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐลงเพื่อฉุดรั้งอำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจ หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชน เป็นต้น แต่ก็เป็นที่สังเกตได้ว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ แทบจะไม่กำหนดนโยบายเพื่อบรรเทาปัญหามากนัก บทบาทหลัก ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจกลับอยู่ในมือของธนาคารกลาง ซึ่งได้ชื่อว่ามีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายและการเลือกใช้เครื่องมือเพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจให้คงอยู่ต่อไป

 

การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินที่น่าสนใจเกิดขึ้นทุกมุมของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งติดต่อกัน โดยขึ้นถึงร้อยละ 0.75 ซึ่งถือเป็นนโยบายทางการเงินที่แข็งกร้าว หรือเป็นยาแรงที่สกัดปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นแบบไม่ให้ผิดพลาด

 

ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยปรับ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.50 เพื่อหวังจะสกัดความร้อนแรงของพิษเงินเฟ้อที่แผ่ซ่านไปทั่วสหภาพยุโรป 

 

ความน่าสนใจและความท้าทายของวิกฤตการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นการวัดฝีมือ และความสามารถของผู้บริหารเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของธนาคารกลาง ผู้ซึ่งได้ชื่อว่ามีความเป็นมืออาชีพในการกำหนดนโยบายมากกว่านักการเมืองที่มุ่งหวังคะแนนเสียงจากสาธารณชน

 

เพราะการตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อครั้งนี้แตกต่างไปจากภาวการณ์ในอดีตที่ผ่านมาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะการขึ้นราคาของสินค้าและบริการมิได้เกี่ยวข้อง หรือ พัวพันกับความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หรือฟองสบู่แต่อย่างใด ที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยจะช่วยรักษาโรคดังกล่าวได้ชะงัด แต่กลับเกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเป็นเครื่องมือที่จำกัดอย่างมากของธนาคารกลาง ณ เวลานี้

 

หันกลับมามองย้อนที่ประเทศไทย เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อหรือ Inflation Targeting ที่ใช้กันมาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล นำมาใช้เป็นเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังถูกท้าทายอย่างหนักและเป็นที่น่าจับตาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย จะวางกรอบนโยบายอย่างไร ที่จะช่วยบรรเทาพิษร้ายของเงินเฟ้อที่กำลังกัดกร่อนเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง