เศรษฐกิจข้างถนนหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

24 เม.ย. 2565 | 01:33 น.

เศรษฐกิจข้างถนนหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : คอลัมน์ เศรษฐกิจ...อีกนิดก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย...ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3776 หน้า 6

ห่างหายมานานพอสมควรกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น อย่างเช่นกรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และบรรดาสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่เรารู้จักกันดีในนาม ส.ก. ความรู้สึกตื่นเต้นคละเคล้าดีใจที่จะได้เลือกผู้บริหารของตัวเองแผ่ซ่านไปทั่วเมือง ดังจะเห็นได้จากบรรดาสื่อต่างๆ ทั้งจากสื่อออนไลน์และสื่อดั้งเดิม 


แต่ก็ไม่ยักกะมีความรู้สึกประหลาดใจ หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Surprise ก็เป็นเพราะผู้เสนอตัวเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นคนที่เราคุ้นเคยในเส้นทางการเมือง หรือประหนึ่งการเมือง

 

 

ไม่ว่าจะเป็นตัวเต็งตลอดกาลนับแต่เอ่ยปากว่าอยากเป็นผู้ว่าฯ อย่าง คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยี่ห้ออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่คราวนี้สวมเสื้ออิสระลงสนาม แถมมีแต้มต่ออย่างการนำเป็นที่หนึ่งในทุกโพลผู้ว่าฯ กทม. หรือ พี่เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผันตัวจากนักบริหารการศึกษาและนักวิชาการมาขึ้นสังเวียนการเมืองครั้งนี้ แต่ยังไม่ทันจะสมัครก็โดนพิษการเมืองเล่นงานเสียงอมพระรามไปไม่น้อย 

 


และครั้งนี้เจ้าเก่าหน้าเดิม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ประเภทแต่งตั้งก็กระโดดมาร่วมวงขอกลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ประเภทเลือกตั้ง เพื่อสานต่องานที่ริเริ่มไว้ให้เสร็จสิ้น

 

ขณะที่พรรคก้าวไกล พรรคในดวงใจของคนรุ่นใหม่ก็ส่งส.ส.ฝีปากกล้าดาวสภาครั้งนี้ หรือ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เข้ามาปะฉะดะท้าชิงเจ้าสำนักเสาชิงช้าครานี้ด้วย มิเพียงเท่านี้ สีสันเพิ่มเติมจาก คุณสกลธี ภัททิยกุล และ คุณรสนา โตสิตระกูล สองผู้สมัครอิสระก็ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดุเดือด และสนุกขึ้นอันเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

แม้ครั้งนี้จุดสนใจจะอยู่ที่ผู้สมัครเป็นหลัก แต่ก็มีการกล่าวถึงนโยบายของแต่ละคนบ้างพอเป็นกระษัยมิให้ขัดเขินว่า การเลือกตั้งของชาวกรุงมิได้มุ่งแค่ชื่อเสียงเรียงนามของผู้สมัครแต่เพียงโสดเดียว แต่ยังครุ่นคิดพิจารณาถึงนโยบายที่ออกมาเป็นกลุ่มเป็นก้อนให้ตื่นเต้นเป็นครั้งคราวบ้าง

 

บทความนี้คงมิได้กล่าวถึงหรือบังอาจวิจารณ์ชุดนโยบายของผู้ที่อาสามาบริหารเมืองกรุง แต่จะเล่าให้เห็นภาพของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภาพย่อยลงมาจากระดับประเทศ และชักจูงให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ หันมาสนใจเศรษฐกิจท้องถิ่นที่อยู่ในอำนาจของตนเอง ที่จะเข้าไปกระตุ้นให้เจริญเติบโตได้อย่างแท้จริง


ถ้าลองมองภาพเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ก็คงยากจะปฏิเสธว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยกับระบบเศรษฐกิจของเมืองหลวงมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ชนิดที่เรียกว่า แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ถ้าเราลองเอาแว่นทางด้านประชากรศาสตร์มาทับซ้อนกับแว่นทางเศรษฐกิจก็อาจจะเห็นว่า จริงๆ แล้ว มันมีมิติทางเศรษฐกิจที่เราเห็นกันจนชินตาแต่อาจจะนึกไม่ถึง ซึ่งก็คือ เศรษฐกิจข้างถนน 


เศรษฐกิจข้างถนนที่พูดถึงกันนั้น บางครั้งเราก็ไม่ได้นับอยู่ในระบบเศรษฐกิจ หรือหลายครั้งเราก็ไม่ได้จับมัดรวมไปไว้ในระบบภาษีของประเทศ แต่เศรษฐกิจข้างถนนกลับเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความกินดีอยู่ดีในแต่ละช่วงเวลาสำหรับประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงด้วยซ้ำไป

 

เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจข้างถนน จึงหมายถึง กิจกรรมการจับจ่ายใช้สอยหรือการลงทุนของบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่มิได้จดทะเบียนกับทางราชการ และทำมาหากินอยู่ตามทางเท้าหรือตลาดโดยทั่วไปนั่นเอง


กรุงเทพมหานครได้รับการยกย่องในเรื่องของอาหารริมทางเดินหรือ Street Food ที่โด่งดังไปทั่วโลก บรรดาฝรั่งมังค่า หรือ ชาวเอเชียต่างเดินทางมาพิสูจน์กันจนต้องต่อแถวรอคิวกันยาวไปถึงอีกฟากของถนน มิหนำซ้ำ ไกด์ผู้รับรองความอร่อยอย่างมิชลิน ยังให้ประกันความเจ๋งของรสชาติอีกต่างหาก

 

นี่คือ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนหรือ Intangible Assets ที่ผู้บริหารเมืองหลวงคนใหม่ควรจะใช้สินทรัพย์ตัวนี้ เป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร ให้มีแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมได้อย่างเป็นรูปธรรม (หากมือถึง)


ข้อเสนอห้าประการที่จะขัดสีฉวีวรรณเศรษฐกิจข้างถนนของกรุงเทพฯ ให้เฉิดฉายและได้รับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติเป็นเรื่องดังต่อไปนี้


ประการที่หนึ่ง การจัดพื้นที่สำหรับร้านค้าที่เป็นสัดส่วน อย่าลืมว่า ที่ผ่านมาคนกรุงเสียสละโดยไม่ค่อยยินยอมเท่าไหร่ ที่ให้ทางเท้าของเขาไปเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไว้สำหรับการประกอบอาหาร และการค้าขายของเหล่าพ่อค้าแม่ค้ามาอย่างยาวนาน ต้นทุนค่าเสียโอกาสส่วนนี้ถูกจ่ายโดยคนเดินริมถนนทั่วไป

 

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ควรจะหยุดเรื่องราวนี้เสียที และจัดการจัดพื้นที่เฉพาะหรือโซนนิ่งสำหรับร้านอาหารหรือร้านค้า หรืออาจจะตัดทางเท้าบางส่วนมาเรียกเก็บค่าเช่าและนำเอาเงินที่ได้รับนั้น ไปปรับปรุงหรือพัฒนาพื้นที่ทางเดินเท้าให้ดีขึ้นก็ได้ อันเข้าลักษณะที่ว่า วิน-วินทั้งสองฝ่าย การจัดพื้นที่เฉพาะส่วนก็จะทำให้เจริญหูเจริญตาแก่ผู้พบเห็นอีกด้วย


ประการที่สอง การจัดมาตรฐานความสะอาดและสุขอนามัยสำหรับร้านอาหาร ต้องกล่าวว่า ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของความสะอาดของร้านอาหารริมทางเท้ากว้างเสียเหลือเกิน บางร้านก็มีความสะอาดถึงระดับภัตตาคาร แต่บางร้านก็เล่นเวียนเทียนน้ำล้างจานอยู่หลังร้าน จนเป็นที่อนาถแก่ผู้พบเห็น

                                      

จะดีกว่าไหม หากเราจัดหาสาธารณูปโภคสำหรับร้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะส่วน ไม่ว่าจะเป็นประปา ไฟฟ้า การกำจัดแมลงตามรอบระยะเวลา เป็นต้น และสร้างมาตรการจูงใจทางบวกต่างๆ เช่น ป้ายรับรองความสะอาด เป็นอาทิ

                                           เศรษฐกิจข้างถนนหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ประการที่สาม การสร้างกลุ่มธุรกิจหรือคลัสเตอร์เพื่อสร้างการแข่งขันระหว่างกัน ธรรมชาติของมนุษย์ คือ การแข่งขัน หากรัฐสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการออกแบบให้จูงใจต่อการแข่งขันแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากการผลิตย่อมออกมาดีกว่าเหนือกว่าอย่างแน่นอน

 

เช่น การสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ตามพื้นที่ เช่น กลุ่มเยาวราช กลุ่มเจริญกรุง หรือกลุ่มสะพานควาย หรือจะจัดกลุ่มตามลักษณะเมนูอาหารก็เป็นไปได้ การสร้างแบบแผนของการแข่งขันก็เพื่อที่จะให้เขามีแรงจูงใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง 


ประการที่สี่ การพัฒนาการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ การประยุกต์ใช้แนวคิดทางการตลาดหรือ Marketing ในอันที่จะพัฒนามูลค่าของผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ การใช้กลยุทธ์ราคา การสรรหาช่องทางการจัดจำหน่าย และการปรับใช้การส่งเสริมการขาย จริงๆ แล้วโจทย์ก็ไม่ได้ยากเกินไปนัก เช่น จะทำอย่างไรให้ปาท่องโก๋สามารถขายได้ในราคาเดียวกันกับโดนัทจากต่างประเทศ เป็นต้น การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มพ่อค้าแม่ขายจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาอย่างแท้จริง


ประการที่ห้า การสร้างความเป็นนานาชาติ โดยการยกจุดเด่นเรื่อง Street Food อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผ่านการปรับใช้แนวคิดสี่ประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

ลองนึกถึงตลาดปลาซูกิจิของประเทศญี่ปุ่น หรือ Oxford Street แห่งมหานครลอนดอน ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลกที่คนที่มาเที่ยวจะต้องได้แวะไปชุ่มฉ่ำบรรยากาศให้จงได้ การยกเครื่องร้านอาหารริมถนนจะกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน


หากย้อนขึ้นไปอ่านข้อเสนอทั้งห้าข้ออย่างตั้งใจแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอข้างต้นมิได้เกินขอบเขตอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแม้แต่น้อยเลย เพียงแต่อาจจะต้องอาศัยฝีมือหรือความสามารถ ที่เราเรียกว่า “กึ๋น” กันสักหน่อย 

 

หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ก็จะรู้กันว่า ผู้สมัครท่านใดจะเข้าวิน และความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนที่ท่านจะผลักดัน หรือ ขับเคลื่อนโครงการ “เศรษฐกิจข้างถนน” ให้ขึ้นชั้นเทียบเท่าต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังกันเสียที