มีอะไรใหม่ หลังเลือกตั้ง

14 เม.ย. 2566 | 00:23 น.

ผมรอให้ทุกอย่างจบเพื่อจะได้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยหลังจากเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากที่เห็นนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ รายชื่อของทีมเศรษฐกิจ รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาสักระยะแล้ว

และเมื่อรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ประกาศออกมา น่าจะพอมองเห็นว่า ประเทศไทย คนไทย หวังอะไรใหม่ ๆ ซู่ ๆ ซ่า ๆ ได้บ้างจากรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ผมขอวิเคราะห์เป็นประเด็น ๆ โดยดูจากโอกาสของการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคสำคัญ ๆ 

1.ด้านการเมือง: การเข้ามาของนักการเมืองตัวเก๋า ๆ จากพรรคใหญ่ ๆ ไม่ว่าจากปาร์ตี้ลิสต์และระบบเขต ไม่มีอะไรใหม่ แถมยังจะกลับไปสู่สภาพที่เราเห็นเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว วาทกรรมทางการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการเมือง การสร้างวลีเด็ด ๆ ประเด็นร้อน ๆ ที่กล่าวหาคู่ต่อสู้แบบชกฟรี ๆ เตะปากฟรี ๆ จะมีให้เห็นมากขึ้น 

โอกาสความเป็นอิสระทางความคิดของ สส. แต่ละคนจำกัดมากขึ้น มติพรรคหรือความคิดเห็น นโยบายของผู้ยิ่งใหญ่ของพรรคจะเป็นกฎ กติกา ที่ทุกคนต้องทำตาม การเสนอนโยบายจะเต็มไปด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มในระยะสั้น 

และที่สำคัญนโยบายการตลาดแบบ Polarization Marketing จะเข้มข้นมากกว่าเดิม โดยการสร้างขั้วให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่เพียงแค่ “ศรัทธา” และรักพรรคหรือคนของเราอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเท่านั้น แต่ต้อง “เกลียด” ขยะแขยง อีกฝ่ายอย่างไร้เหตุผล มากกว่าแต่ก่อน เพื่อสามารถควบคุมคะแนนนิยมในการเลือกตั้งในระยะยาวได้ 

ซึ่งความยากและง่ายในเวลาเดียวกันในวันนี้ก็คือโซเซียลมีเดีย การคุม “สาวก” ไม่ให้เสพข้อมูลของอีกฝ่ายคงจะไม่ง่ายเหมือนเดิม ทั้งหมดจะทำให้ความอ่อนไหวทางการเมืองหลังเลือกตั้งสูงมากและพร้อมระเบิดได้ตลอดเวลา อาจทำให้รัฐบาลใหม่มองผลประโยชน์ของตนเองในด้านนี้มากขึ้นก่อนจะทุ่มทรัพยากรใด ๆ 

2.ด้านเศรษฐกิจ: ผมดูจากนโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคแล้ว ไม่มีความแตกต่างกันมาก หากไม่นับวาทกรรมงาม ๆ แต่มองไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เช่น นโยบายพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม หรือการการเติบโตแบบแบ่งปันหรือมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ที่ UN พร่ำมานานแต่ไม่ได้สักที และยิ่งกว่านั้น ทุกพรรคตอนนี้เสนอนโยบาย “ประชานิยม” 

ไม่ว่าพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อน ก็เล่นมุขเดิม แต่เพิ่มให้มากขึ้น หรือพรรคที่ดูทันสมัยก็ต้องโดดมาเล่นด้วย ไม่ว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท แบบเนียน ๆ หรือพรรคเก๋า โดดไปเป็น 600 บาท หรือเอาเงินยัดใส่มือคนเลือกตั้งแบบดื้อ ๆ โดยอ้างข้าง ๆ คู ๆ ว่าเพื่อเพิ่มกำลังซื้อประชาชนหรือตอนหลังมาเป็นการสร้างอาชีพ 

โดยปรับวิธีการให้ดูทันสมัยหน่อยแบบเงินดิจิทัล ซึ่งตอนนี้ผมไม่รู้จะทำแบบไหน เพราะระบบนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังทดลองระบบกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อยู่ ทำมา 5 ปีแล้ว ยังไม่สรุป หรือจะใช้แบบ “ดิจิทัลหยวน” ของประเทศจีน ไม่นับการพักหนี้ และตั้งกองทุนสารพัดสารพันเพื่อประชาชนและ SME 

ซึ่งผมมองว่าก็เป็นการเอาใจผู้ลงคะแนนของตนเองโดยใช้เงินคนอื่น เช่น งบประมาณหลวง หรือเงินในกระเป๋านายจ้าง ดีไม่ดีลามไปเป็นเงินกู้ ที่ล้วงกระเป๋าลูกหลานให้คนปัจจุบันแลกคะแนนเสียง 

สิ่งที่เสียดายและอยากเห็นนโยบายที่เราจะวางรากฐานของความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันธุรกิจของเราในเวทีโลก ระบบสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ หรือ Eco system เพื่อพัฒนาและสนับสนุน SME ที่ยั่งยืน แต่เน้นทางการเงินเท่านั้น 

ทั้ง ๆ ที่การศึกษาก็บอกแล้วว่าเรามีปัญหาระบบสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันและเติบโต แต่พรรคการเมืองทุกพรรคมองไปที่เรื่องเฉพาะหน้า ซึ่งก็ไม่ผิดครับ แต่ผมมองว่าอย่างน้อยต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่ให้โอกาสธุรกิจเข้มแข็งบ้าง ไม่ใช่เกาะนโยบายรัฐอย่างเดียว 

3.ระบบสังคม: ผมคิดว่าการแก้กฎหมายเพื่อปรับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น อาจมีคนพูดมากขึ้น แต่การแก้ไขคงไม่รวดเร็วและเอาจริงเอาจังเหมือนที่ตนเองไม่ได้เข้าไปอยู่ในศูนย์กลางของอำนาจ ซึ่งอาจต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากภาคเอกชนมากขึ้นในการทำ Regulatory Guillotine เพราะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการติดกับดักสารพัดของการพัฒนาประเทศในทุกมิติ 

รวมทั้งการกระจายอำนาจการปกครองลงไปในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เพราะพูดไว้เยอะและรับปากไว้แล้ว ซึ่งการทำเรื่องนี้พรรคการเมืองก็จะทำการปฏิรูประบบพรรคการเมืองของตนเองเพื่อคุมอำนาจและคะแนนเสียงในระดับท้องถิ่นให้กระชับมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะผลประโยชน์จะลงไปอยู่ที่ท้องถิ่นมากกว่าแต่ก่อนรวมทั้งการคุมคะแนนเสียงของพรรค ทำให้พรรคส่วนกลางจะลงไปกลืนรูปแบบพรรคประจำถิ่นหรือจังหวัดหรือแม้แต่ประจำภาคเหมือนที่เราเคยเห็นมาก่อน

ความแตกแยกทางความคิดทางการเมือง รูปแบบการแสดงออกทางความคิด และมุมมองในประเด็นต่าง ๆ ในการพัฒนาและทุกอย่างจะแตกต่างกันมากขึ้น การรับฟังเหตุผลของผู้มีความเห็นต่างก็จะลดลง

อาจเป็นเพราะความมั่นใจในตัวเองหรืออาจเป็นเพราะการถูกหล่อหลอมความคิดจนกลายเป็นความเชื่อที่ฝังลึกจนยากที่จะรับฟังคนอื่น รวมทั้งการโต้ตอบและยั่วยุที่ทำได้ง่ายผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกัน และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งพรรคการเมืองจะใช้ประโยชน์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการสร้าง “สาวก” ของตนเอง

4.ประชาชน: มีความคาดหวังจากรัฐบาลและ สส. มากกว่าแต่ก่อนในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง หากไม่สามารถตอบสนองได้ดั่งใจก็จะมีต้นทุนต่อชื่อเสียงสูง เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อโซเซียลทำได้ง่ายและกว้างขวาง ที่สำคัญผมคิดว่าประชาชนจะมอง “นโยบายประชานิยม” เป็นหัวใจสำคัญของพรรคต่าง ๆ ที่ต้องทำเพราะประชาชนได้จริง ๆ 

ยิ่งเงินหรือผลประโยชน์ลงไปในกระเป๋าแบบเห็น ๆ หรือยิ่งง่ายยิ่งดี ยิ่งชอบ การเสพติดนโยบายประชานิยมทำให้นโยบายเหล่านี้จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของประเทศในภาพรวมที่พรรคการเมืองทุกพรรครู้ แต่เลือกที่จะไม่สนใจ เพราะลูกค้าให้ความสำคัญมาก ทำให้นโยบายประชานิยมในรูปแบบเดิมแต่ดุเดือดขึ้น หรือรูปแบบคล้าย ๆ เดิมจะกระจายออกไปในทุกส่วน 

5.การเมือง: เปลี่ยนแปลงถอยหลังไปสู่รูปแบบเดิมมากขึ้น นักวาทกรรมจะเข้ามาในสภาฯ มากขึ้น การก่นด่า วาทกรรมและวลีมันส์ ๆ สะใจ จะเป็นการสร้างคะแนนนิยมและคุณค่าต่อพรรคให้กับนักการเมืองนั้น ๆ ความสนใจในการแก้กฎหมาย ระเบียบ นโยบายใหม่ ๆ เพื่อสร้างระบบใหม่ หลายกลุ่มจะกระโดดเข้าสู่การเมืองมากขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ตนเอง 

ส่วนบางกลุ่มอาจปรับตัวและหันไปมองความจริงมากขึ้น ซึ่งอาจขยายฐานแฟน ๆ ได้มากขึ้นจากกลุ่มคนที่เบื่อความซ้ำซากและไร้สาระของรูปแบบการเมืองเดิมที่ไม่ทำให้ปัญหาความซ้ำซากลดลงได้เลย ไม่ว่าเรื่อง คอร์รัปชั่น ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ การผูกขาด ฯลฯ ทำให้ประชาชนมองหากลุ่มการเมืองที่เสนอการแก้ปัญหาซ้ำซากเหล่านี้ 

และเสนอแนวทางใหม่ ๆ ที่ประโยชน์ต่อผู้คนส่วนมากจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อความสะใจหรือตอบสนองความอยากของคนบางคนที่ถือหางพรรคอยู่ เราจะเริ่มเห็นการปรับตัวของพรรคเพื่อรักษาและเพิ่มฐานกลุ่มผู้นิยมตนเองมากขึ้นเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่อาจไม่ช้าไม่นานจนเกินรอ 

ทั้งหมดเป็นมุมมองส่วนตัวที่ผมมองผ่านนโยบาย ตัวผู้สมัครทั้งระบบเขต ระบบปาร์ตี้ลิสต์ นายทุน รวมทั้งคนที่เป็น master mind อยู่เบื้องหลังพรรค แม้เขาอาจปฏิเสธ แต่คนทั้งโลกรู้ 

สำหรับผมแล้ว ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลต่อไป แม้จะรู้แก่ใจว่าเขาจะมองผลประโยชน์ของพรรคตนเอง แต่ก็ยังอยากให้เขามองเห็นผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนในมุมกว้างและที่สำคัญต้องวางศักยภาพของประเทศ สังคม และประชาชนในระยะยาวไว้บ้าง ซึ่งหลายคนบอกว่ายาก เพราะทุกอย่างฝังอยู่ในหัวของนักการเมืองและคนลงคะแนนเลือกตั้งมานานแล้ว …. 

คราวนี้ลองดูอีกทีในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ถ้าอะไรไม่ไปไหนหรือแย่กว่าเดิม ก็อย่าไปโทษใครเลยครับ