รู้จักบัตรเลือกตั้ง 2566 บัตรบัญชีรายชื่อ-แบ่งเขตต่างกันอย่างไรเช็คเลย

04 เม.ย. 2566 | 01:53 น.

รู้จักบัตรเลือกตั้ง 2566 บัตรบัญชีรายชื่อ-แบ่งเขตต่างกันอย่างไรเช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว เตรียมตัวก่อนถึงวันจริงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

เลือกตั้ง 2566 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ล่าสุดได้มีการจับเบอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบเขต กทม. เป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญก็คือวิธีการกาบัตรเลือกตั้งของประชาชนจะต้องทำอย่างไร เพราะเบอร์ของพรรค และผู้สมัครจะไม่ตรงกัน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เพื่อไขคำตอบเรื่องดังกล่าวพบว่า 


ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แบ่ง "บัตรเลือกตั้ง" ออกเป็น 2 ใบ ประกอบด้วย 

  • ใบที่ 1 เป็นบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งมีเพียงมีหมายเลขผู้สมัคร(เบอร์) และช่องสำหรับกากบาท โดยไม่มีชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรค
  • ใบที่ 2 เป็นบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีหมายเลขผู้สมัคร(เบอร์) มีสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง
     

ข้อแตกต่างบัตรเลือกตั้งแบ่งเขต-บัญชีรายชื่อ 

  • บัตรเลือก ส.ส. แบ่งเขต มีแต่เบอร์หมายเลข  
  • บัตรเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) มีสัญลักษณ์พรรค และ ชื่อพรรคด้วย  
  • 3. สีของบัตรทั้ง 2 ประเภทจะมีความแตกต่างกัน  โดยตอนนี้ กกต. ยังไม่มีการเปิดเผยบัตรที่จะใช้ในการเลือกตั้ง 2566 อย่างเป็นทางการออกมา 

และประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 2566 จะต้องกาเลือกส.ส. 2 ใบ ทั้งบัตรแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566  

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงเรื่องบัตรเลือกตั้ง ว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ. 2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้จะเป็นพรรคเดียวกันแต่เป็นคนละหมายเลข (เบอร์ ) โดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กกต.เป็นเพียงผู้กำหนดรูปแบบบัตรให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 84 กำหนดรูปแบบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทไว้คือ 

1. ต้องเป็นแบบละ 1 ใบ

2. ต้องมีลักษณะ "แตกต่างกันที่สามารถจำแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน" เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความสับสน ดังนั้น การกำหนดให้บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีชื่อพรรคการเมืองและเครื่องหมายพรรคการเมือง จึงเป็นบัตรที่มีลักษณะเดียวกันกับบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จึงอาจต้องห้ามตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง
 

3.บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง(มาตรา 84 วรรคสอง) "ต้องมี"

  • ช่องทำเครื่องหมาย และ
  • หมายเลขไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น

4. บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ(มาตรา 84 วรรคสาม) "ต้องมี"

  • ช่องทำเครื่องหมาย และ
  • หมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และ
  • ชื่อพรรคการเมืองพร้อมเครื่องหมายพรรคการเมือง

การกำหนดรูปแบบบัตรเลือกตั้งของ กกต. จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายทุกประการ

อย่างไรก็ดี หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทย พบว่ารูปแบบบัตรเลือกตั้ง นับแต่มีการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา ในไทยมาจนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบบัตรที่ใช้เลือกตั้ง อยู่ 3 ประเภท คือ

  • บัตรมาตราฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ บัตรที่มีเฉพาะหมายเลข(เบอร์)ผู้สมัคร หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบัตรโหล จะไม่มีรายชื่อผู้สมัครแต่อย่างใด ทุกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในประเทศไทยใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือมีการเลือกตั้งแบบบัญชีราบชื่อ หลังปี 2540 ก็ตาม หมายความว่า ไม่เคยมีชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งแต่อย่างใด
  • ส่วนรูปแบบบัตรมาตราฐานแบบบัญชีรายชื่อคือ บัตรที่มีหมายเลขผู้สมัคร(เบอร์) มีสัญญลักษณ์หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง เริ่มใช้บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้นับแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ทุกการเลือกตั้งก็จะใช้บัตรเลือกตั้งนี้มาตลอด
  • บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ เกิดขึ้นใน ปี 2562 เพื่อรองรับระบบเลือกตั้งแบบคะแนนไม่ตกน้ำตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ทุกคะแนนมีความหมาย บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้ จึงผสมกันระหว่างบัตรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ใว้ด้วยกันในใบเดียว และมี 350 แบบ ตามจำนวนเขตเลือกตั้ง ในบัตรจะประกอบด้วยข้อมูล 1) หมายเลขผู้สมัคร(เบอร์)ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 2)สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายพรรคการเมือง 3)ชื่อพรรคการเมือง แต่ก็ไม่มีชื่อของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในบัตรแต่อย่างใด