ZIGA หรือจะตามรอย IEC

05 ธ.ค. 2566 | 21:25 น.

ZIGA หรือจะตามรอย IEC คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย…เจ๊เมาธ์

*** นับตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 66 ซึ่งเป็นวันที่บอร์ดของ ZIGA มีมติอนุมัติเงินกู้ให้บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ของ “เสี่ยหนุ่ย” ศุภกิจ งามจิตรเจริญ ได้ปล่อยเงินกู้มูลค่ากว่า 104 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ให้กับ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ “เฮียฮ้อ” ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS รวมไปถึง บริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT 

โดยที่เฮียฮ้อได้นำเอาหุ้นของ GIFT จำนวน 16 ล้านหุ้นมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมสัญญาว่าจะชำระเงินและดอกเบี้ย ซึ่งมีมูลค่ารวม 119.60 ล้านบาท คืนให้ในวันที่ 2 มี.ค. 67 ซึ่งหากคำนวณแล้วก็จะพบว่า มีการตีมูลค่าหุ้นของ GIFT เอาไว้สูงถึง 7.31 บาทต่อหุ้น 

ทั้งที่ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 66 ซึ่งเป็นวันที่บอร์ดตัดสินใจอนุมัติเงินกู้ราคาหุ้นของ GIFT ก็มีมูลค่าเพียง 3 บาทต่อหุ้น มีมูลค่ารวมอยู่ไม่ถึง 50 ล้านบาท น้อยกว่ามูลหนี้อยู่เกือบ 60 ล้านบาท

แม้ว่าในวันที่ 5 ก.ย. 66 ซึ่งเป็นเวลาดีที่สุดที่ ZIGA เลือกในการแจ้งตลาดฯ ว่าได้ปล่อยเงินกู้ให้เฮียฮ้อ เพราะในวันนั้นราคาหุ้นของ GIFT มีราคาสูงถึง 6.45 บาทต่อหุ้น แต่กลับพบว่า ในวันนี้มูลค่าหุ้นที่ถูกใช้วางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกลับมีราคาเหลืออยู่เพียง 3 บาทกว่าๆ เช่นเดียวกับราคาหุ้นในตอนที่อนุมัติปล่อยกู้ไม่มีผิด

ดังนั้นกรณี “เลวร้ายที่สุด” หากในวันที่ 2 มี.ค. 67 ซึ่งถึงกำหนดวันชำระเงินกู้ แต่ “เฮียฮ้อ” ไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ สิ่งที่ ZIGA อาจทำได้ดีที่สุดก็คงจะเป็นเพียงการริบเอาหุ้นของ GIFT จำนวน 16 ล้านหุ้นที่ถูกนำมาวางค้ำไปขาย… ซึ่งคงไม่มีใครจะมารับประกันได้ว่าราคาหุ้นจะขายได้ที่ราคาเท่าไหร่ 

ถ้าได้ราคาดีก็ดีไป แต่ถ้าขายไม่ได้ราคาสิ่งที่ ZIGA จะต้องทำก็คือ จะต้องตีหนี้สินจำนวนนี้เป็น “หนี้เผื่อสูญ” ซึ่งเรื่องนี้คล้ายกับกรณีของหุ้น IEC ที่เกิดความผิดขึ้นระหว่างปี 2557-2559 ซึ่งทำกันเป็นขบวนการใหญ่ โดยมีความร่วมมือกันทั้งคนใน และคนนอก 
 

รวมไปถึงนิติบุคคลในการทำธุรกรรมอำพรางเพื่อผ่องถ่ายเงินออกจนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ก่อนที่บริษัทจะไปไม่ไหวจนล้มและทิ้งให้นักลงทุนเกือบ 25,000 ราย ต้องจดจำความเสียหายที่เกิดขึ้นไปชั่วชีวิต

ปัญหาที่น่าสนใจของ ZIGA อย่างแรกก็คือ เรื่องของการอนุมัติเงินกู้ของบอร์ด ZIGA ซึ่งมีมติตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 66 แต่กลับมีการแจ้งตลาดฯ ในวันที่ 5 ก.ย. 66 หลังจากที่เวลาล่วงเลยมานานกว่า 4 เดือน ทั้งที่มีข้อกำหนดเอาไว้ว่า “การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสารสนเทศ ที่ต้องเปิดเผยทันที” ถือว่าเป็นความผิดหรือไม่

ปัญหาอย่างที่สองคือ การปล่อยเงินกู้ให้กับบุคคลธรรมดาเช่นนี้มีข้อกำหนด หรือ บทบัญญัติใดที่อนุญาตให้ทำได้หรือไม่ หรือจะต้องมีการไปจดทะเบียนให้เป็นธุรกิจลีสซิ่งหรือไม่

ส่วนประเด็นท้ายที่สุดก็คือเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับ ZIGA เริ่มมีเค้าลางว่ากำลังเดินไปในทิศทางเดียวกับ IEC และทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าหุ้นแบบนี้ในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาเพราะมีคนทักกันเต็มไปหมดแต่ทำไมผู้คุมกฎทั้งหลายถึงไม่ออกมาทำอะไรกันบ้าง หรือว่า ตลาดหุ้นไทยชอบเดินเกมอยู่ในแนวรับด้วยการรอให้เกิดปัญหาแล้วถึงออกมาเต้นตามกันแต่เพียงอย่างเดียว 

ว่าแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ เฮ้อ...เมื่อไหร่ตลาดหุ้นไทยถึงจะพัฒนาซะที

*** ถึงแม้หุ้น TTA PSL และ RCL ซึ่งเป็นหุ้นเดินเรือแบบเทกองจะได้รับอานิสงส์จากค่าระวางเรือ BDI ที่ทำระดับสูงสุดรอบ 18 เดือน แต่ปัญหาที่น่าสนใจของหุ้นกลุ่มนี้ก็คือ การที่ราคาหุ้นมักจะ “ล้ำหน้า” มากเกินไป ที่เจ๊เมาธ์ระบุเช่นนี้ ก็เป็นเพราะในเวลาที่หุ้นกลุ่มนี้ปรับขึ้นก็มักจะขึ้นเร็วและแรงจนในบางครั้งดูจะแรงมากกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น 

ขณะเดียวกัน...สิ่งที่หุ้นกลุ่มนี้เคยทำให้นักลงทุนหลายคนต้องเจ็บตัวมาแล้ว ก็คือ การที่ราคาหุ้นปรับร่วงลงแรงไปจนถึงแรงมากนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ TTA และ PSL ซึ่งมักจะสร้างปรากฏการณ์ขึ้นเร็วลงแรงให้เห็นมาแล้วหลายรอบ ถือว่าเป็นหุ้นที่ควรระวังเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง   

ดังนั้น ถ้าหากชอบก็ควรจะเน้นไปที่การเล่นสั้นเป็นหลักนะคะ เพราะหุ้นแบบนี้ถ้าถือยาวอาจจะไม่ได้อะไร รวมไปถึงอาจจะติดดอยแบบยาวไปจนถึงยาวมากก็เป็นไปได้เช่นกันค่ะ

*** ราคาหุ้นของ CBG กลับมาในรอบนี้ดูเหมือนจะมีการจับจังหวะในการเล่นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แน่นอนว่าประเด็นแรกเป็นเรื่องของธุรกิจเหล้าเบียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัวบุกตลาดเบียร์พร้อมกันถึงสองแบรนด์ในเวลาเดียวกัน ทำให้ดูเหมือนว่า CBG จะมีน่านน้ำใหม่ให้ราคาหุ้นได้เล่นและได้ขยับขึ้นอีกพอสมควร 

ขณะเดียวกัน ด้วยผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 ซึ่งออกมาค่อนข้างดี ก็อาจช่วยหนุนไตรมาส 4/66 โตต่อเนื่องจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ รวมไปถึงต้นทุนการผลิตทั้งค่าอะลูมิเนียมและต้นทุนพลังงานที่ปรับลดลงก็เป็นไปได้ว่า CBG อาจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีนี้ 

เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจก็ลองหาจังหวะตอนย่อดีๆ เอาไว้บ้างก็ดีเหมือนกัน เพราะหุ้นดีถ้ายิ่งได้ราคาที่ต่ำมากแค่ไหนก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้นค่ะ