"เสรีภาพสร้างคน สร้างผลิตภาพ" จาก อดัม สมิธ ถึง อมาตยา เซน

03 เม.ย. 2567 | 06:16 น.

‘เสรีภาพ’ สร้าง‘คน’สร้าง‘ผลิตภาพ’ จาก อดัม สมิธ ถึง อมาตยา เซน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.สิร นุกูลกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,980 หน้า 5 วันที่ 4 - 6 เมษายน 2567

“เสรีภาพ” สร้าง “คน” สร้าง “ผลิตภาพ” นี้ แสดงหลักเหตุและผลหรือต้นเหตุ (causality) อย่างชัดเจนว่า เสรีภาพเป็นจุดกำเนิดที่สร้างคนและประสิทธิภาพการผลิต นักเศรษฐศาสตร์กล่าวในลักษณะนี้เพื่อที่จะนำมาใช้ในเชิงนโยบาย โดยอ้างอิงวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ในขณะที่บ้านเรากำลังถกเถียงถึงผลสำเร็จทางการศึกษา ความต้องการทักษะแรงงาน และผลิตภาพที่ถดถอย การกำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ ที่จะเพิ่มทักษะและผลิตภาพแรงงาน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่หลายๆ ท่านกลับไปเริ่มแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของการศึกษาและการสร้างทักษะ โดยลืมคำนึงไปถึงโครงสร้างพื้นฐานผลิตภาพของมนุษย์ ซึ่งคือ เสรีภาพ

 

การเพิ่มทักษะและผลิตภาพนั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีปัจจัยโครงสร้างเสรีภาพพื้นฐาน เสรีภาพเป็น ปัจจัยแรกที่พัฒนาคนก่อกำเนิดการผลิต บทความนี้จะอธิบายผู้อ่านให้เข้าใจ จากความคิดของ 4 นักเศรษฐศาสตร์ สมิธ มาร์กซ เคนส์ และ เซน

อดัม สมิธ (Adam Smith)  นั้นเรียกได้ว่า เป็นผู้กล่าวคนแรกๆ ที่โยงเอาเสรีภาพกับการผลิตเข้าด้วยกัน ปัจเจกแต่ละคนทำหน้าที่แตกต่างกันไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขามีเสรีภาพ ไม่ได้ถูกกดทับความสร้างสรรค์ ในตัวอย่างของลูกคนจน (poor man’s son) สมิธ กล่าวว่า ปัจเจกตามธรรมชาตินั้น เมื่อได้รับโอกาส จะพยายามดิ้นรนพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างการผลิต ไม่ว่าปัจเจกคนนั้น จะจน หรือ จะรวย

สมิธยังนิยมเสรีภาพในสังคมทั้งทางตลาด และ การเมือง ระบบที่มีเสรีภาพตามธรรมชาติ จะสร้างการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรม มีการโยกย้ายทุน (capital) ไปยังอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากมือที่มองไม่เห็น รัฐมีหน้าที่เพียงสามสิ่ง

1.) ดูแลความรุนแรงและปกป้องสังคมจากการรุกราน 2.) สร้างความยุติธรรมดูแลไม่ให้ประชาชนถูกกดขี่ 3.) อำนวยความสะดวกโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันและการศึกษา ทั้งหมดคือการสร้างระบบที่มีเสรีภาพตามธรรมชาติ (natural liberty)1

ส่วน คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) นั้น ก็พูดถึงเรื่องเสรีภาพในเชิงเดียวกันเน้นหนักที่ความเป็นมนุษย์ เขากล่าวถึงความแปลกแยก (alienation) 2 และ สัจสำนึก (realization) 3 ในธรรมชาติของมนุษย์ ในลักษณะที่ว่า สิ่งแวดล้อม รอบๆ ตัวเรา สามารถทำให้เราเกิดความแปลกแยก มนุษย์มีพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จะรัก ที่จะสร้าง ที่จะพัฒนาตัวเอง

พฤติกรรมเหล่านี้ เป็นวิธีที่เราใช้รับรู้สร้างความเข้าใจในวัตถุ ทั้งทางอัตวิสัย และ ปรวิสัย (subjective and objective) รอบๆ ตัวเรา หากสิ่งแวดล้อมนั้นบีบคั้นไม่ตรงเสรีภาพตามธรรมชาติ มนุษย์เราก็จะถูกกดทับ ทำให้แปลกแยกออกไป ไม่สามารถพัฒนาความเข้าใจเป็นมนุษย์ที่ครบถ้วนได้

บางคนทนไม่ได้ต้องออกจากสังคมนั้น หรือ เกิดสภาวะกดดันซึมเศร้า มีหลายคนทนอยู่ปรับตัวได้แต่ก็เกิดทุจริต มีสำนึกที่ผิดเพี้ยนออกไปจากความเป็นมนุษย์ ทำให้มีพฤติกรรมคอร์รัปชัน ทั้งหมดนั้นกดทับสัจสำนึกที่อยู่ภายใน ทำให้ไม่สามารถแสดง ออกมาสร้างผลิตภาพและพัฒนาทักษะการผลิต 

                   \"เสรีภาพสร้างคน สร้างผลิตภาพ\" จาก อดัม สมิธ ถึง อมาตยา เซน

 

ขณะที่ จอร์น เมร์นาด เคนส์ (John Maynard Keynes) แม้จะไม่ได้พูดเรื่องการสร้างคนเท่าไหร่ แต่เขาก็อธิบายปัญหาในเศรษฐศาสตร์ที่ชัดเจนว่า Demand เป็นบ่อเกิดของ Supply ในปัญหาโลกแตกประเภทเดียวกับที่ว่ าไก่ กับ ไข่ อะไรเกิดก่อนกันนั้น

เคนส์ บอกเราว่า อุปสงค์ก่อให้เกิดอุปทาน เพราะฉะนั้นการผลิตและการสร้างคน ต้องเริ่มที่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม ก่อน เพื่อการสร้างอุปสงค์ หากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมนั้นถูกจุดก่อเกิดเป็นอุปสงค์ในระบบ ผลิตภาพและประสิทธิภาพก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง เป็นธรรมชาติของการสร้างอุปทาน

ความคิดของเคนส์นั้นมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะทางนโยบาย เพราะสามารถทำให้เป็นจริงได้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมเพื่อการสร้างอุปสงค์

อมาตยา เซน (Amartya Sen) เป็นผลผลิตของธรรมเนียมทางปัญญานี้ ตัวเขาเองพูดและเขียนอยู่ตลอดในทางสาธารณะถึง สมิธ มาร์กซ และ เคนส์ ในฐานะต้นกำเนิดทางความคิด เซนนำแนวทางนี้มาปรับใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นไปที่เสรีภาพ (freedom) และ ศักยภาพ (capability)

โดยเซนนำเสรีภาพและศักยภาพนี้ มาเป็นจุดประสงค์หลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ ข้อถกเถียงของเขายังส่งผลไปถึงความเหลื่อมลํ้าและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ เพราะแนวคิดตลาดเสรีสุดโต่งในยุคหลัง 1980s นั้น มีบางส่วนที่ย้อนแย้งกับเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์

แม้แต่กับข้อถกเถียงเรื่องความยุติธรรมของรอลส์ (Justice as Fairness) ที่ไม่เพียงพอจะสร้างความชอบธรรมให้ความเหลื่อมลํ้า ในเศรษฐศาสตร์ตลาด เสรีภาพและศักยภาพของเซนนั้นกลายมาเป็นหน่วยวัดเชิงนโยบายของ Human Development Index ของ World Bank 

ในขณะที่สังคมไทยเรา กำลังพูดถึงทักษะแรงงานและประสิทธิภาพการผลิต ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นถึงเหตุและผล หรือ ต้นเหตุ (causality) ของการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวความคิดของ สมิธ มาร์กซ เคนส์ และเซน ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างคนจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่เริ่มที่เสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ 

อ่านฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ the101.world 

 

1 ดูบท Adam Smith ใน  Hunt, E.K. and Mark Lautzenheiser. History of Economic Thought: A Critical Perspective, 3rd ed.

 

2 https://en.m.wikipedia.org/wiki/Marx’s_theory_of_alienation

 

3 ดู human nature ของมาร์กซ https://www.marxists.org/archive/fromm/works/1961/man/ch04.htm