โลกาภิวัตน์และการค้าเสรี กับความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประเทศเกิดใหม่

31 ม.ค. 2567 | 06:35 น.

โลกาภิวัตน์และการค้าเสรี กับความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรมาศ ลิมป์ธีระกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,962 หน้า 5 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ 2567

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายเรื่อง “Why globalization has failed to reduce inequality” โดย Professor Eric Maskin ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2007 ในงาน Chulalongkorn University BRIDGES Nobel Laureate Talk Series: A Global Gathering of Minds  จึงใคร่ขอนำทรรศนะของ Prof. Eric Maskin ที่อธิบายผลกระทบจากโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันค่ะ

การพัฒนาระบบสารสนเทศ และการพัฒนาด้านคมนาคมในปัจจุบัน ทำให้ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง หรือที่เราเรียกกันว่า “โลกาภิวัตน์” หรือ (Globalization)  ซึ่งมีข้อดีคือความรู้และเทคโนโลยีมีการแพร่จากประเทศที่เจริญแล้วมาสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้ประชากรในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น

 

 

แต่ก่อนกระแสโลกาภิวัตน์ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กันมากับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือ การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างรัฐและประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน ความเจริญทางเทคโนโลยีช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารและคมนาคมลงเป็นอย่างมาก

และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ได้เอื้อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทุกประเทศต่างทำการซื้อขายระหว่างกัน จนเราสามารถกล่าวได้ว่าในโลกของเรานั้นเป็นการค้าแบบไร้พรมแดนหรือ “Global Market”  

 

 

 

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นได้รับผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศทั้งเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความเจริญด้านเทคโนโลยีที่แพร่เข้ามาในประเทศ หลายๆ ประเทศได้เปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมและบริการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดีย แม้แต่ประเทศไทยก็เช่นกัน 

โลกาภิวัตน์และการค้าเสรี กับความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประเทศเกิดใหม่

 

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ใช้อธิบายเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ Comparative Advantage หรือทฤษฎีการค้าตามความได้เปรียบสัมพัทธ์ ซึ่งถูกนำเสนอโดย David Ricardo ในปี ค.ศ.1817 

โดยทฤษฎีกล่าวไว้ว่า แต่ละประเทศย่อมมีทรัพยากรแตกต่างกัน และมีค่าเสียโอกาสในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน หากแต่ละประเทศทำการค้าขายกันอย่างเสรี ก็มีแนวโน้มที่จะผลิตและส่งออกสินค้าที่ตนมีค่าเสียโอกาสในการผลิตน้อยกว่า และนำเข้าสินค้าอีกชนิดจากประเทศอื่นแทน 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย สมมติให้มีสินค้าที่สนใจ 2 ชนิดคือ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์(สินค้าที่ต้องการทักษะขั้นสูงในการผลิต)และข้าว (สินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงาน)  ซึ่งประชากรของทั้งสองประเทศ ต้องการสินค้าทั้งสองชนิด

โดยปกติแล้วประเทศที่มีความเจริญมากกว่า มักจะมีสัดส่วนของแรงงานที่มีทักษะสูง (High-skill labor) ต่อแรงงานที่มีทักษะต่ำ (Low-skill labor) สูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา จากทฤษฎี Comparative advantage ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะเป็นผู้ส่งออกซอฟต์แวร์ และนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยก็จะนำเข้าซอฟต์แวร์จากประเทศสหรัฐอเมริกาและส่งออกข้าวไปขาย

เมื่อปริมาณอุปสงค์ของข้าวภายในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ราคาของข้าวก็จะสูงขึ้น และมีการจ้างคนงานผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานที่ผลิตข้าวในประเทศไทยได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ในขณะที่แรงงานทักษะสูงที่ทำหน้าที่ผลิตซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ก็น่าจะได้ค่าตอบแทนลดลง 

ถ้าเป็นเช่นนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างแรงงานทักษะสูงและทักษะต่ำก็น่าจะลดลง แต่จากตัวเลขทางสถิติในหลายๆประเทศกลับพบว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจนเหมือนกับอัตราความยากจน

นอกจากนี้ผู้ที่มีระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้รับค่าตอบแทนมากกว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่า หรือที่เรียกว่า “Skill Premium” เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

Professor Eric อธิบายว่า ทฤษฎี Comparative advantage ไม่สามารถนำมาอธิบายผลกระทบด้านความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ในยุคนี้ได้ เนื่องจากในครั้งนี้มีสิ่งที่เรียกว่า International Production System เกิดขึ้น  ในสมัยก่อนสินค้าที่เรานำเข้ามักจะถูกผลิตในประเทศนั้นๆ เช่น เรานำเข้ากล้องถ่ายรูปจากประเทศญี่ปุ่น กล้องถ่ายรูปตัวนั้นก็จะถูกผลิตในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นจนจบ

แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สินค้าหนึ่งชิ้น จะผ่านการผลิตจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น โทรศัพท์มือถืออาจถูกออกแบบโดยวิศวก รและ ดีไซน์เนอร์ในประเทศอเมริกา แต่ชิ้นส่วนภายในเครื่องอาจผลิตในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป สุดท้ายชิ้นส่วนก็ถูกนำมาประกอบที่โรงงานในสาธารณรัฐประชาชนจีน

เศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะการเพิ่มผลผลิตสินค้าดั้งเดิมของจีนไปยังตลาดโลก แต่เป็นเพราะจีนทำการเปิดประเทศ และเข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตของบริษัทจากชาติตะวันตก

ถึงแม้ว่าจีนจะพยายามที่เข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แต่ศักยภาพด้านการคิดค้นนวัตกรรม ประสิทธิภาพการผลิต และ โครงสร้างอุตสาหกรรมนั้นยังค่อนข้างจำกัด

แม้แต่ประเทศไทยที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเกือบร้อยละ 10 ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 ก็ไม่ได้เกิดจากการส่งออกสินค้าเกษตร หากแต่เป็นผลมาจากการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ทำให้เศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตร ไปสู่ภาคการผลิตและการบริการดังเช่นในปัจจุบัน

สิ่งที่ Professor Eric Maskin และ Professor Michael Kremer นำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศยากจนเพิ่มสูงขึ้น ก็คือ ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อการจับคู่ระหว่างโอกาสในการจ้างงาน และทักษะของแรงงาน หรือ Skill Matching

ก่อนกระแสโลกาภิวัตน์แรงงานทักษะสูง (Managerial level) จะจับคู่กับแรงงานทักษะต่ำ (Subordinates)ในประเทศ ค่าตอบแทนของแรงงานทักษะสูง อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากอุปสรรคด้านการสื่อสารและการขนส่ง

ในขณะที่แรงงานทักษะต่ำได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีรอบล่าสุด ได้ก่อให้เกิดการ “จับคู่” ระหว่างแรงงานในประเทศที่พัฒนาแล้วกับแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา 

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าไม่เพียงแค่การซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้นที่กลายเป็น Global Market แต่ตลาดแรงงานก็ได้กลายเป็น Global labor market ไปด้วย 

การเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation: MNC) มักจะเอื้อต่อการจ้างแรงงานทักษะสูงมากกว่าแรงงานทักษะต่ำ แรงงานที่กลุ่มบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ต้องการ จะต้องมีทักษะที่จำเป็น เช่น ภาษาอังกฤษ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรม เป็นต้น

เมื่ออุปสงค์ของแรงงานในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ค่าตอบแทนก็สูงขึ้นตามไปด้วย แรงงานที่มีทักษะสูงในประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าไปทำงานในบรรษัทข้ามชาติ อาจมีโอกาสได้ติดตามผู้บริหาร มีโอกาสในการอบรม และทำงานในประเทศอื่นๆ ทำให้ได้รับการพัฒนาทักษะและความรู้

ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ ในขณะที่แรงงานทักษะต่ำหรือแรงงานในชนบทไม่ได้รับโอกาสเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานของ OECD พบว่ากลุ่มบรรษัทข้ามชาติจ่ายค่าแรงสูงกว่าบริษัทท้องถิ่นถึง 17-60%

แนวทางแก้ไข คือ การอบรมเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานในประเทศ แต่หากปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของภาคเอกชนน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะขาดแรงจูงใจ เนื่องจากเมื่อแรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น ค่าตอบแทนก็จะต้องเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงรายจ่ายของบริษัทที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อผลกำไร นอกจากนี้แรงงานที่ได้รับการฝึกอบรม ก็อาจย้ายไปทำงานในองค์กรอื่น 

ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในระบบการศึกษา และการพัฒนาทักษะแรงงานให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส การให้เงินอุดหนุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่เยาวชนในครัวเรือนยากจน และการช่วยเหลือดูแลค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะช่วยพัฒนาทุนมนุษย์อันเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการริเริ่มกระบวนการดังกล่าวเช่นระบบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ และการพัฒนาทักษะบุคคลากรแบบ Demand driven  (EEC Model)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรที่สูงขึ้น อาจไม่ใช่ตัวแปรที่จะบ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ เราควรต้องพิจารณาด้วยว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจที่ได้รับมานั้นได้ถูกแจกจ่ายให้กับประชาชนในประเทศอย่างไร 

สุดท้ายนี้ หากถามว่า ทำไมเราจึงต้องให้ความสนใจกับความเหลื่อมล้ำ Professor Eric Maskin ได้ให้เหตุผลไว้ 3 ประการ

ประการแรก คือ เหตุผลด้านความเท่าเทียม (Egalitarian)  มนุษย์ทุกคนควรได้รับความเท่าเทียมกันทั้งในแง่ของโอกาสและชีวิตความเป็นอยู่

ประการที่สอง หากไม่เห็นแก่ความเท่าเทียม ถ้าชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสดีขึ้น ก็เท่ากับเป็นการลดปัญหาความยากจน ซึ่งก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ประการสุดท้าย หากไม่เห็นแก่ผู้ด้อยโอกาส ก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีความสัมพันธ์เชิงลบต่อความมั่นคงทางสังคมและการเมือง รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

ดังนั้น หากเราต้องการที่จะเห็นประเทศไทยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และก้าวขึ้นไปอย่างงามสง่าในเวทีโลก เราควรจะต้องหันกลับมามองว่า เราจะจูงมือคนไทยที่ยังอาจจะยังยืนได้ไม่มั่นคงนัก ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกันได้อย่างไร

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1. Cui, Fengru, and Guitang Liu. Global value chains and production networks: case studies of Siemens and Huawei. Academic Press, 2018.

 

Maskin, Eric. "Why haven't global markets reduced inequality in emerging economies?." The world bank economic review 29.suppl_1 (2015): S48-S52.

The Economist. (2014). Why globalisation may not reduce inequality in poor country. The Economists. https://www.economist.com/the-economist-explains/2014/09/02/why-globalisation-may-not-reduce-inequality-in-poor-countries

The Economist. (2014). Revisiting Ricardo. The Economist. https://www.economist.com/finance-and-economics/2014/08/23/revisiting-ricardo