สร้าง Soft Power ของไทยในประเทศเพื่อนบ้านผ่านกิจการ อววน.

10 ส.ค. 2565 | 06:01 น.

สร้าง Soft Power ของไทยในประเทศเพื่อนบ้านผ่านกิจการ อววน. : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3808

ภูมิภาค CLIV+T นั่นคือ กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย เวียดนามและ ประเทศไทย ซึ่งต่างก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันในประชาคมอาเซียน ซึ่งมีความร่วมมือกันในทุกมิติและในทุกระดับมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน (ประเทศไทยและอินโดนีเซีย เป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนในปี 1967 ในขณะที่ เวียดนาม สปป.ลาว และ กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1995, 1997 และ 1999 ตามลำดับ) การสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ในมิติการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) เพื่อเป็นสะพานสร้างการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและมิตรประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค 


หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การขยายอิทธิพลผ่านอำนาจอ่อน หรืออำนาจละมุน (Soft Power) เพื่อสร้างการทูตภาคประชาชน (Public Diplomacy) หรือเพื่อให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านมีค่านิยมที่ชื่นชอบ ชื่นชม และพร้อมที่จะพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันอย่างยั่งยืนในรูปแบบของ “เพื่อนของประเทศไทย (Friends of Thailand)” จึงเป็นสิ่งที่สำคัยอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศนั้นๆ เอง ที่จะมีระดับการพัฒนาการในมิติ อววน. ที่สูงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากประเทศไทยในหลากหลายมิติ 

เช่นเดียวกับที่ประเทศไทย ก็จะสามารถวางตำแหน่งของตนเป็นมหาอำนาจกลาง (Middle Power) เพื่อสร้างบทบาทนำและอำนาจต่อรองในเวทีการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แนวคิด อำนาจละมุน หรือ อำนาจอ่อน (Soft Power) ถูกพัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ Joseph Nye แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 โดย Joseph Nye เชื่อว่า รัฐหรือประเทศหนึ่งๆ สามารถใช้พลังอำนาจของชาติได้ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อขยายอิทธิพลให้ประเทศหรือรัฐอื่นๆ มีพฤติกรรมสอดคล้องไปในทิศทางที่รัฐแรกต้องการ 


โดยรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ ได้แก่ การใช้กองกำลังเข้าคุกคาม ซึ่งถือเป็น Hard Power การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ หรือ รัฐสามารถดึงดูดและสร้างความสัมพันธ์อันดีจนประเทศเป้าหมาย (ที่อยู่ใต้อิทธิพล) ต้องการทำในสิ่งที่ประเทศที่อยู่เหนืออิทธิพล ต้องการให้ดำเนินการได้โดยความยินยอมพร้อมใจ ดำเนินการอย่างเต็มใจเพราะเป็นความต้องการของประเทศเป้าหมายอยู่แล้ว กระบวนการใช้พลังอำนาจอันนุ่มนวลนี้ (Soft Power) จะทำให้ประเทศหนึ่งๆ ต้องการผลลัพธ์ตามที่อีกประเทศหนึ่งต้องการ โดยมิต้องใช้อำนาจบังคับ (Hard Power)  (Nye, 1990) 

ในภายหลังเมื่อมีการตีความและขยายความแนวคิดเรื่อง Soft Power ออกไปอย่างกว้างขวาง Nye จึงปรับปรุงแนวคิดของเขาอีกครั้ง โดยการอธิบายแหล่งทรัพยากรสำคัญของ soft power ซึ่งประกอบไปด้วย 3 แหล่งได้แก่  (Nye, 2012)


1.วัฒนธรรม (Culture) ถ้าวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่นๆ โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น soft power ของประเทศนั้น ก็จะมีมากขึ้น ช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆ นั้นมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยน และการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ 

                                         สร้าง Soft Power ของไทยในประเทศเพื่อนบ้านผ่านกิจการ อววน.
2.ค่านิยมทางการเมือง (Political Values) ถ้าประเทศดังกล่าวมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ soft power ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าค่านิยมของประเทศดังกล่าวขัดกับค่านิยมของประเทศอื่นๆ อย่างชัดเจน soft power ของประเทศนั้นก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950 ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิว (racial segregation) ทำให้ soft power ของสหรัฐอเมริกาในทวีปแอฟริกานั้นมีน้อย เป็นต้น


3.นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policies) ถ้าประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่ย้อนแย้งไม่มีความจริงใจ (hypocritical) ก้าวร้าว และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่นๆ โอกาสที่จะสร้าง soft power จะมีน้อย ดังเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา ที่บุกยึดอิรักใน ค.ศ. 2003 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่นๆ เป็นต้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวมีแนวนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้าง soft power ให้เกิดขึ้นจะมีมาก


จะเห็นได้ว่าในการสร้าง Soft Power สำหรับประเทศไทย มิติด้านวัฒนธรรม ซึ่งกินความรวมถึงความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) โดยมีนโยบายการต่างประเทศ  ที่จริงใจ ไม่เสแสร้ง ไม่ก้าวร้าว ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเลือกเฟ้นเฉพาะประเด็นความร่วมมือที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการทำงานร่วมกัน ปัจจัยเหล่านี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน และทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการใช้ Soft Power เพื่อสร้าง Friends of Thailand


โดยจากการศึกษาวิจัยในโครงการนี้ ผู้เขียน และคณะวิจัยจากประเทศเพื่อนบ้านร่วมกับคณะทำงานของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้สังเคราะห์มิติความร่วมมือที่สอดคล้องทั้งกับแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการ อววน. ของทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และเวียดนาม) อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ โดยมิติความร่วมมือด้าน อววน. ที่ต้องให้ความสำคัญพิเศษ ได้แก่


1.ชีววิทยาศาสตร์ และ ชีวเคมี (Bio-Science and Biochemistry)


2.พลังงานและวัสดุศาสตร์ (Energy and Material Science)


3.อุทยานวิทยาศาสตร์ และอุทยานดิจิตอล (Science Park and Digital Park)


4.ภาคการเกษตรและอาหาร (Food and Agricultural)


5.การสาธารณสุขและความร่วมมือในยุคหลังโควิด (Health Care and Post-COVID cooperation)


6.โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy/ Circular Economy/ Green Economy)


ซึ่งหากรัฐบาล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันอย่างจริงจัง กำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แนวทาง และจัดสรรทรัพยากร ทั้งคน งบประมาณ และองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง CLIV+T จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในภูมิภาคนี้ได้อย่างยั่งยืน