อันตราย!! การสำลักอาหารของผู้สูงวัย

01 ธ.ค. 2566 | 22:19 น.

อันตราย!! การสำลักอาหารของผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อเช้าวันพฤหัสที่ผ่านมา ผมได้มีน้องรักท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ส่งสินค้าให้ผมไปขายในประเทศเมียนมา ได้เข้ามาพบที่บริษัทผม หลังจากประชุมคุยงานจนเกือบเที่ยง ผมจึงได้ชวนกันออกไปหาข้าวทานกัน เราจึงไปร้านเจ้าประจำ ซึ่งเป็นร้านขายห่านพะโล้ชื่อดังในย่านคลองตัน นั่นคือร้าน “ฉั่วคิมเฮง” ซึ่งเป็นร้านที่ขายดีมาก ปัจจุบันนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่เลียบมอเตอร์เวย์ แม้จะไกลจากร้านเก่า แต่ก็มีลูกค้าประจำเกือบเต็มร้านทุกวัน 

ระหว่างที่ทานอาหารกันอยู่ไม่ถึงสิบนาที ก็มีเสียงลุกขึ้นยืนของลูกค้าที่นั่งทานอาหารอยู่เกือบทุกโต๊ะ และก็มีคนตะโกนว่า “ช่วยเรียกรถพยาบาลด่วนๆๆๆ” พอผมได้ยินก็จึงรีบวิ่งเข้าไปดู จึงพบว่ามีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อายุอานามประมาณ 60-70 ปี ภรรยามีอาการหายใจไม่ออก กำลังใช้มือกำอยู่ที่คอตนเอง สามีก็ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ยืนงงอยู่ตรงนั้น ผมจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น คุณผู้ชายสามีจึงบอกว่า ทานข้าวอยู่ดีๆ ภรรยาก็เกิดอาการเหมือนหายใจไม่ออก เสมือนว่ามีอาหารติดคอ ผมจึงถามไปว่า คุณผู้หญิงมีอาการโรคหัวใจหรือเปล่า? เขาจึงตอบว่าไม่มี ผมจึงรีบขออนุญาตสามีเขาไปว่า ผมอาจจะล่วงเกินบ้างเล็กน้อย แต่จะช่วยทำให้ดีที่สุด เขาจึงตอบว่า “เอาเลยครับๆๆ”
       

ผมจึงให้คุณผู้หญิงลุกขึ้นยืนกางขาออกเล็กน้อย ผมใช้เท้าผมสอดเข้าไประหว่างขาของคุณผู้หญิง ใช้แขนของผมสอดเข้าไปที่ใต้รักแร้ แล้วจึงกำมือขวาที่ผมถนัด วางลงกึ่งกลางระหว่างเหนือสะดือกับใต้ลิ้นปี่ จากนั้นจึงใช้มือซ้ายจับมือขวาผมให้แน่น แล้วบอกให้เธอก้มหน้าลง ผมจึงอุ้มเธอกระแทกขึ้นลงสี่-ห้าครั้ง ปรากฏว่าเธอได้สำลักเอาอาหารที่ติดอยู่ในลำคอของเธอและอาเจียนออกมา หายใจได้เป็นปกติทันที ทุกคนรวมทั้งอาเฮียเจ้าของร้าน ต่างตะโกนว่า “หายใจได้แล้วๆๆ” ดีใจปรบมือกันยกใหญ่เลยครับ เฮียเจ้าของร้านเข้ามาขอบคุณผม ที่ช่วยชีวิตลูกค้าไว้ และได้นำเอาพระเลี่ยมทององค์หนึ่งมามอบให้ผมเป็นการขอบคุณด้วย
         
ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงในครั้งนี้ เรียกว่าอาการสำลักหรือ “Choking” ซึ่งเป็นการสำลักสิ่งแปลกปลอม ที่ตกเข้าไปติดอยู่ในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอุดกั้นจนหายใจไม่ออก ซึ่งเป็นอันตรายมากสำหรับผู้สูงวัย เพราะหากขาดลมหายใจเพียง 3-7 นาที(แล้วแต่สภาพของร่างกายของผู้ประสบภัย) ก็อาจจะเสียชีวิตได้เลยทันที 

ในขณะที่หากเรียกรถพยาบาลมาถึง อาจจะไม่ทันการแล้วก็ได้ ทำให้ผมต้องรีบตัดสินใจช่วยดำเนินการปฐมพยาบาลขั้นต้นโดยทันที ซึ่งก็โชคดีมาก ที่สามารถช่วยชีวิตคุณผู้หญิงท่านนี้ได้ทันท่วงที แต่ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกัน หากเราไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไร เพราะอาจจะทำให้ผู้เกิดอาการได้รับบาดเจ็บได้เช่นกันครับ

การช่วยเหลืออาการ Choking แบบที่ผมทำให้นั้น เรียกว่า “การดันหน้าท้อง” (Heimlich maneuver) วิธีดำเนินการโดยผู้ช่วยเหลือต้องกอดท้องของผู้ประสบภัยจากด้านหลัง จากนั้นผู้ช่วยเหลือจะเอามือข้างที่ถนัดของตัวเองกำไว้  แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยจับ แล้วใช้แรงกดบริเวณที่อยู่ระหว่างหน้าอกและสะดือของผู้ประสบเหตุ ในทิศทางขึ้นลงหรือเข้าออก วิธีนี้จะพยายามสร้างแรงกดดันขึ้นไปข้างบน เพื่อขับเอาวัตถุที่กีดขวางทางเดินหายใจออก ซึ่งต้องไม่เน้นไปที่ซี่โครงโดยตรง เพราะหากผู้ประสบเหตุเป็นผู้สูงวัย ที่อาจจะมีอาการกระดูกเปราะ ก็จะทำให้เกิดการแตกหักของกระดูกซี่โครงได้ หากกระแทกครั้งแรกไม่ช่วยแก้อาการสำลักได้ ก็สามารถให้ทำซ้ำได้หลายครั้ง จนกระทั่งสิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดออกจากทางเดินหายใจไปครับ 
     
แต่ถ้าหากผู้ประสบเหตุไม่ได้มีอาการหนักอย่างผมพบเจอ อาจจะทดลองให้เขาไอแรงๆ ติดต่อกันหลายๆ ครั้งดู บางครั้งอาจจะช่วยให้สิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดออกมาได้เช่นกัน อีกวิธีหนึ่งที่ควรจะให้ทำดูก่อน คือการ “ตบหลัง” ที่ผมเคยเห็นมาหลายครั้ง มักจะพบเห็นผู้เข้าไปช่วยเหลือไม่เข้าใจวิธีการตบหลังที่ถูกวิธี ผู้ที่ปารถนาดีหลายครั้งอาจจะทำให้ผู้ประสบเหตุมีอาการหนักลงไปอีกได้ เลยกลายเป็น “ผู้ประสงค์ร้าย” ไปโดยไม่ตั้งใจได้เช่นกัน 

กล่าวคือ ควรให้ผู้ประสบเหตุก้มศีรษะให้ต่ำกว่าหลอดลม หรือทางเดินหายใจ ก่อนที่จะตบหลัง ด้วยการสลับตบครั้งละสี่-ห้าครั้ง ทดลองตบดูก่อน หากไม่สามารถช่วยได้ ค่อยใช้วิธีการดันหน้าท้อง เพราะบางครั้งผู้ประสบเหตุไม่ได้ก้มหน้าก่อนตบหลัง สิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในระดับต้นๆ ของหลอดลม อาจจะหลุดลึกลงไปจะทำให้เป็นอันตรายได้ ดังนั้นก่อนตบหลัง ควรให้ก้มหน้าลงก่อนเสมอ
       
ในส่วนของผู้สูงวัยที่มีอาการโรคอ้วน หรือสตรีมีครรภ์ การที่จะทำการช่วยเหลือโดยให้วิธีการดันหน้าท้อง(Heimlich maneuver) ก็คงไม่สะดวกหรือบางครั้งอาจจะเกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ของผู้ประสบเหตุได้ ก็ไม่ควรใช้วิธีดังกล่าว ถ้าเปลี่ยนมาใช้วิธีให้ใช้การกระทุ้งที่หน้าอกแทน โดยโอบหน้าอกของผู้ประสบเหตุจากด้านหลัง จากนั้นกดแรงๆ ที่ครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก เป็นการกระทุ้งเพื่อให้ผู้ประสบเหตุได้อาเจียนออกมา ซึ่งก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
      
อย่างไรก็ตาม การช่วยชีวิตคนในยามวิกฤติมากๆ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจ อีกทั้งต้องเข้าใจวิธีการช่วยด้วย เพราะหากไม่เข้าใจวิธีการ อาจจะทำให้ผู้ประสบภัยเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ครับ